สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผย อียู สั่งระงับพืชไทย5ชนิด กะเพรา-โหระพา-ผักชีฝรั่ง-มะระ-มะเขือเปราะ-พริกหยวก ตั้งแต่ปี 53

จากประชาชาติธุรกิจ

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" เมื่อวันที่ 10 มกราคม ถึงปัญหาการระงับส่งออกสินค้าพืชผัก 16 ชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา พริกขี้หนู ไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป ว่า ได้เชิญนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาชี้แจงข้อเท็จจริง และได้รับการยืนยันข้อมูลว่า อียูได้มีมติสั่งระงับการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการออกประกาศออกมาและแจ้งเวียนไปให้ทั่วโลกรับทราบอย่างเป็น ทางการตามขั้นตอนเท่านั้น
  
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผย "มติชน" ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้กรมวิชาการเกษตรตัดสินใจประกาศระงับการส่งออกสินค้าพืช ผักไปอียูดังกล่าว นอกจากจะเป็นการซื้อใจทางอียูแล้ว อาจมาจากสาเหตุความกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการตรวจพบปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ประกอบการ ที่มีประวัติไม่ดีเท่านั้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีประวัติดีก็ถูกตรวจพบปัญหาเรื่องศัตรูพืชเช่นกัน   ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารพบว่า ก่อนหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะเปิดแถลงข่าวระงับการส่งออกพืชและผัก 16 ชนิดไปอียูในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ไปเจรจากับนายอีริค พูเดเลต ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค หรือดีจี-แซนโก้ (DG-SANCO) ในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำอียูว่า อียูเตรียมที่จะออกมาตรการระงับการนำเข้าพืชผักไทย สืบเนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารตกค้าง และศัตรูพืชปนเปื้อน
 
"นายพู เดเลตได้กล่าวชัดเจนว่า การร้องของฝ่ายไทยครั้งนี้ค่อนข้างจะสายไปที่จะมีการรอไปอีก 3 เดือน เนื่องจากอียูมีมาตรการที่จะยุติการส่งออกพืชที่มีปัญหามากที่สุดทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง มะระ มะเขือเปราะ และพริกหยวก ซึ่งผักทั้ง 5 ชนิดนี้คิดเป็น 70% ของปัญหาด้านศัตรูพืช และนอกจากปัญหานี้แล้ว ไทยยังมีปัญหาด้านฟู้ดเซฟตี้ คือมียาฆ่าแมลงและเชื้อจุลินทรีย์ตกค้าง ซึ่งขณะนี้อียูยังตรวจเข้ม ผักไทยอยู่ในระดับ 50% 20% และ 10% ถ้าหากไทยไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทางอียูจะแบนผักไทยในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน" รายงานในเอกสารระบุ

Tags :

view