สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาชีพทำนากับปัญหาดินเค็ม

จาก คมชัดลึกออนไลน์

สุรัตน์ อัตตะ

คมชัดลึก : แม้ภาคอีสานจะเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเยี่ยมมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แถบทุ่งกุลาฯ แต่กลับมีปัญหาความเค็มของดินส่งผลให้ผลผลิตที่ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น บางพื้นที่ที่มีความเค็มจัดก็ไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย ถึงแม้ภาครัฐโดยกรมพัฒนาที่ดินพยายามเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการนำไม้ต่างถิ่นอย่างกระถินออสเตรเลียและหญ้าดิกซี่มาปลูกเพื่อลดการแพร่กระจายของดินเค็ม แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญข้าว พืชเศรษฐกิจหลักของภาคอีสานก็ปลูกไม่ได้อยู่ดี
 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ "รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี" ผู้เชี่ยวชาญด้านดินเค็มจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ระบุว่า สาเหตุความยากจนของเกษตรกรภาคอีสานจากอดีตจนปัจจุบันมาจากการแพร่กระจายของดินเค็ม ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่ไม่สามารถสร้างระบบการจัดการน้ำชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่น้ำท่วมและน้ำแล้งได้

 จากข้อมูลพบว่ามีเกษตรกรบนพื้นที่ดินเค็มมากกว่าร้อยละ 70 เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยมีผลผลิตเฉลี่ยตั้งแต่ 0-300 กิโลกรัมต่อไร่ ตามระดับความเค็มของดิน ทำให้ผู้ปลูกข้าวบนพื้นที่ดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน โดยเฉลี่ยไร่ละประมาณ 2-3 พันบาท จึงไม่แปลกใจว่าทำไมแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่ของประเทศและของโลก ขายได้ราคาสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ผู้ปลูกกลับต้องเป็นหนี้ เพราะได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน อันเนื่องมาจากปัญหาดินเค็ม

 ถามว่าแก้ได้ไหม แก้ได้แต่ต้องใช้เวลา ส่วนวิธีแก้ อาจารย์เฉลิมพล บอกว่ามีสองทางคือปลูกไม้ยืนต้นที่มีรากลึกเพื่อซับความเค็มลดการแพร่กระจายของดินเค็มไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง ถ้าให้ดีต้องเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ไผ่ตง ไผ่หวาน นนทรี ยูคาลิปตัส มะขามเปรี้ยว มะขามเทศ เหล่านี้จะทนเค็มได้ดี ทางที่สองปลูกพืชที่เพิ่มสารอินทรีย์วัตถุในดิน อาทิ ปลูกพืชตระกูลถั่ว สะเดา ปอเทือง แกลบหรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ ที่ย่อยสลายง่าย

 น่าดีใจที่วันนี้เรามีเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมผนึกกำลังร่วมกันแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ และบริษัทเกลือพิมาย จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิซิเมนต์ไทย

  โดยเปิดเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรพื้นที่ดินเค็ม อบรมให้ความรู้วิธีแก้ปัญหาดินเค็มแก่เกษตรกรในภาคอีสานเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง คือ ที่บ้านโพนสูง ต.บ้านดุง จ.อุดรธานีและทุ่งเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ดินเค็มแบบครบวงจร วันก่อนมีโอกาสพูดคุยกับคุณตู่ "วีนัส อัศวสิทธิถาวร" ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กรเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ถึงแนวทางการสนับสนุนของเอสซีจี ถึงการแก้ไขปัญหาดินเค็มว่าจะทำแบบครบวงจรอยู่บนพื้นที่ฐานชาวบ้านช่วยเหลือตัวเอง

 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต อีกไม่นานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็มภาคอีสานจะมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมบรรจุถุงของตัวเอง ออกวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของเครือซิเมนต์ไทย โดยมีข้อความระบุข้างถุงด้วยว่าเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ดินเค็ม


Tags :

view