สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบผลิตไก่พื้นเมือง

จาก คมชัดลึกออนไลน์
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

คมชัดลึก :ไก่พื้นเมืองของไทยเรามีความหลากหลาย ซึ่งแยกได้ถึง 12-17 สายพันธุ์ และความที่มีการเลี้ยงปล่อยแบบธรรมชาติ จึงมีการผสมปนเปกันจนกลายไปจากพันธุ์แท้ดั้งเดิม ในที่สุดจึงขาดความสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นสี รูปร่างลักษณะต่างๆ
ดังนั้นตั้งแต่ปี 2545 ทาง สกว. จึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยโดยจัดตั้งเป็นชุดโครงการการพัฒนาไก่พื้นเมืองขึ้นมา เป้าหมายก็คือพัฒนาไก่พื้นเมืองให้มีความสม่ำเสมอ หรือพูดง่ายๆ ก็คือพยายามพัฒนาให้เข้าใกล้ความเป็นสายพันธุ์แท้ให้มากขึ้น ดังนั้น ไก่ที่ได้จากการคัดเลือกเหล่านี้ จึงมีความสม่ำเสมอกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีสัน รูปลักษณ์ต่างๆ โดยในช่วงแรกนี้ได้ศึกษาไก่ 4 สายพันธุ์คือ ประดู่หางดำ เหลืองหางขาว ชี และแดง ดูจากชื่อก็คงจะพอคาดเดาสีสันของไก่เหล่านี้ได้แล้ว

เมื่อได้ฝูงพันธุ์ที่ค่อนข้างนิ่งแล้วในช่วง 5 ปีแรก ก็ได้มีการทำงานในระยะที่สองต่อมาก็คือการสร้างเครือข่ายนักวิจัย สร้างองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง รวมทั้งสร้างโอกาสอาชีพให้เกษตรกรโดยเริ่มที่ภาคเหนือ ซึ่งมุ่งที่ไก่ประดู่หางดำ ซึ่งตอนนี้ได้สายพันธุ์ที่เรียกว่า ประดู่หางดำเชียงใหม่ รวมทั้งมีการทดสอบระบบการผลิตและพัฒนาพ่อพันธุ์ไก่เหลืองโคราช จากพันธุ์ไก่เหลืองหางขาวและแม่พันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตเพื่อการค้า

เริ่มตั้งแต่การสร้างพันธุ์ก่อน ขั้นตอนก็มีอยู่หลายขั้นตอนและใช้เวลายาวนานต่อเนื่องมาพอสมควร ในที่สุดก็ได้ฝูงไก่พื้นเมืองประดูหางดำพันธุ์แท้ ที่มีการสร้างขึ้นมาโดยใช้ความรู้ทางวิชาการ มีขึ้นตอนและวิธีการเหมือนกับการคัดพันธุ์แท้ของนานาชาติ เรียกได้ว่าขั้นตอนเชื่อถือได้เพราะเป็นสากล ฝูงไก่ที่ได้นี้ปรากฏว่ามีศักยภาพที่จะนำมาเลี้ยงในเชิงการค้าได้เมื่อเทียบกับไก่พื้นเมืองทั่วไป โดยน้ำหนักตัวเฉลี่ยสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 30% และไข่ดกกว่าถึง 40% ซึ่งไก่เหล่านี้ก็มีความทนทานและสามารถเลี้ยงได้ในสภาพชนบทเหมือนกับไก่พื้นเมืองทั่วไป และสามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกได้ตามธรรมชาติ แต่ข้อดีคือให้ลูกมากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 32%

สำหรับเรื่องระบบการผลิต ก็ได้มีการทดสอบกับไก่ประดู่หางดำที่เชียงใหม่ โดยเน้นที่การสร้างโอกาสอาชีพให้เกษตรกรภาคเหนือ ตอนแรกที่เริ่มโครงการ มีฟาร์มที่สนใจเข้ามาร่วมเพียงแค่ 2 ราย มีแม่พันธุ์แท้อยู่ 600 ตัว สามารถผลิตลูกไก่ได้ประมาณ 5.4 หมื่นตัวต่อปี แต่ปัจจุบันหลังจากที่หลายคนเห็นศักยภาพแล้ว ก็ได้มีฟาร์มเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย มีแม่พันธุ์แท้อยู่ 2,000 ตัว และสามารถผลิตลูกไก่ได้ 1.8 แสนตัวต่อปี จากฟาร์มพันธุ์แท้นี้ ก็นำไปสู่การสร้างพันธุ์ลูกผสม ซึ่งมีอีก 6 ฟาร์มทำหน้าที่นี้ และสามารถผลิตลูกไก่ได้ถึง 6 แสนตัวต่อปี มีเกษตรกรที่เข้าร่วมเครือข่ายมากกว่า 100 รายต่อปี จากเดิมที่ตอนเริ่มต้นโครงการซึ่งมีเพียง 30 รายเท่านั้น

 ตอนนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการผลิตไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้แบบอุตสาหกรรมและส่งตลาดได้ต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาชีพต่อเนื่องไปอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ ไก่ขุน ผู้ชำแหละไก่ ผู้จำหน่ายไก่สด ไปจนถึงร้านอาหาร เรียกได้ว่าเกิดอาชีพที่ครบวงจรตามเส้นทางที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรเครือข่ายสามารถทำรายได้ประมาณ 1,300-1,500 บาทต่อปีสำหรับแม่ไก่แต่ละตัว เพราะเป็นการจำหน่ายเป็นไก่พันธุ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างหนึ่ง ส่วนไก่ที่ลักษณะไม่ดีก็ยังขายให้พ่อค้าเพื่อเข้าสู่ตลาดได้เช่นกัน คราวหน้าจะมาเล่าต่อว่ามีกระบวนการผลักดันกันอย่างไรบ้างจึงสำเร็จได้เช่นนี้ครับ!

Tags :

view