สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โครงสร้างค่าแรงใหม่ ส.อ.ท. โวยอัตราสูงเกินไป

หลังบอร์ดค่าจ้างไฟเขียวปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 8-17 บาท สภาอุตฯ ออกมาโวยทันที่"สูงเกินไป"ระบุขึ้นค่าแรงไม่มีเหตุผล
  นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 18 เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2554 ภายหลังการประชุม 2 ชั่วโมง เมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2554 ทั่วประเทศในอัตรา 8-17 บาท ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากตัวเลขค่าจ้างที่แต่ละจังหวัดเสนอมาเป็นหลัก ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง รวมทั้งพิจารณาถึงการจ่ายชดเชยอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าขั้นต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
 นายสมเกียรติ กล่าวว่า บางจังหวัดส่วนต่างของค่าจ้างบางจังหวัดสูงถึง 70-80 บาท ดังนั้น การพิจารณาปรับครั้งนี้ จึงได้ดูเป็นรายภาคเรียงกัน อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าชดเชยในส่วนของค่าจ้างที่มีส่วนต่างไม่สามารถปรับในครั้งเดียวได้ เพราะจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและนายจ้าง จึงต้องดำเนินการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 5 ปี
ชี้ปรับค่าจ้างต่ำสุด 8 บาท
   นายสมเกียรติ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ เพื่อต้องการรักษาอำนาจการซื้อของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นต่ำสุด 8 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี  และประจวบคีรีขันธ์
ปรับขึ้น 9 บาท 24 จังหวัด
         ปรับขึ้นในอัตรา 9 บาท 24 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม ชัยภูมิ ลำปาง หนองบัวลำภู เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร ชัยนาท สุพรรณบุรี ตราด ลำพูน สมุทรสงคราม อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
 ปรับขึ้น 10 บาท 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น กำแพงเพชร หนองคาย นครนายก เลย สระแก้ว นครราชสีมา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร


ภูเก็ตปรับขึ้นสูงสุด 17 บาท
 ส่วนปรับขึ้น 11 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส อุบลราชธานี สิงห์บุรี เพชรบุรี ระยอง และปรับขึ้น 12 บาท 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิจิตร สุโขทัย อุดรธานี  ยะลา จันทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ระนอง  ชลบุรี
  นอกจากนี้ ปรับขึ้น 13 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ราชบุรี พังงา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี  ส่วนปรับขึ้น 14 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล  กระบี่ และปรับขึ้น 15 บาท มี 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช  สงขลาและปรับขึ้น 17 บาท มี 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต 204 บาท เป็น 221 บาท
  "สาเหตุที่จังหวัดภูเก็ตได้รับการปรับขึ้นสูงสุด เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ที่มีค่าครองชีพสูง ซึ่งเดิมอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอปรับขึ้น 11 บาท แต่บอร์ดค่าจ้างกลางได้บวกค่าคุณภาพชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจอีก 6 บาท รวมเป็น 17 บาท" นายสมเกียรติกล่าว

ส.อ.ท.โวยปรับค่าจ้างสูงเกินไป
 นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8-17 บาท ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับการปรับขึ้นในปีที่ผ่านมาที่ปรับขึ้น 3-5 บาท ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางหรือไตรภาคีไม่ได้ปรับขึ้นตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่เสนอมา โดยภาคเอกชนเห็นว่ามีการปรับขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งถ้ารัฐบาลต้องการบริหารประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการไม่ควรผลักภาระการเพิ่มรายได้ของประชาชนมาให้ภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว
 นายทวีกิจ กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากเกินไป จะกระทบกับความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการประเภทเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมาก และอาจทำให้เอสเอ็มอีที่รับภาระต้นทุนค่าแรงเพิ่มไม่ไหวต้องปลดแรงงาน ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 8 บาท โดย ส.อ.ท.จะมีการหารือกันเพื่อแสดงความเห็นไปให้ภาครัฐรับทราบก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในเดือน ม.ค. 2554 ซึ่งจะยืนยันว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่เป็นไปตามกลไกของไตรภาคี เพราะมีแรงกดดันทางการเมืองให้ปรับขึ้นในอัตราสูง


 ทั้งนี้ เท่าที่หารือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตที่มีการปรับค่าจ้างขึ้นสูงสุด 17 บาท ถือเป็นระดับที่สูงมาก โดยจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยวในภูเก็ตมาก เพราะจังหวัดภูเก็ตมีฤดูกาลท่องเที่ยวเพียง 3-4 เดือน แต่ต้องดูแลลูกจ้างตลอดทั้ง 12 เดือน ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างของจังหวัดภูเก็ตเสนอให้ปรับไม่ถึง 10 บาท แต่ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในระดับ 17 บาท ต่อไปอีก 3 ปี เชื่อว่าจะทำให้เอสเอ็มอีแบกภาระต้นทุนค่าแรงไม่ไหว
 นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งเท่าที่หารือกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นแบบไม่มีเหตุผล เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างและอาจทำให้ต้องเลิกจ้างได้ โดยผู้ประกอบการอาจรับภาระค่าจ้างที่ปรับขึ้นได้ชั่วคราว รวมทั้งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงมากอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และภาครัฐก็จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งจะสร้างภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชนอีก

Tags :

view