สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร้านกาแฟยุโรปในอดีต

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปัจจุบันนี้ ถ้าใครต้องการจะรู้ข่าวธุรกิจล่าสุด ข่าวการเมือง ข่าวซุบซิบไฮโซ ข่าวดารา ข่าววิทยาศาสตร์ ข่าวภัยพิบัติ ฯลฯ เขาก็รู้ว่าต้องไปที่ใด คำตอบคือ เข้า internet เปิด website, weblog, facebook ฯลฯ แต่ถ้าคุณเป็นชาวยุโรปเมื่อ 300 ปีก่อน คุณต้องไปที่ร้านกาแฟ
       
       เพราะที่นั่น เวลาซื้อกาแฟหนึ่งถ้วย ลูกค้าในร้านจะได้ยินข่าวซุบซิบ ข่าววรรณกรรม ข่าวสงคราม ข่าวการเมือง ทัศนะความคิดเห็นของคนสำคัญ ฯลฯ เป็นอาหารหูให้เสพจากบรรดาผู้ที่แวะไปเยือนร้านกาแฟ
       
       ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ร้านกาแฟในยุโรป เริ่มเปิดให้บริการเมื่อประมาณปี ค.ศ.1650 ให้บรรดานักเขียน นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ ทหาร ฯลฯ มาพบปะพูดคุยกันในบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา แม้เรื่องที่นำมาสนทนากันนั้นอาจไม่จริง 100% หรือเป็นความเห็นด้านเดียวก็ตาม แต่ลูกค้าทุกคนในร้านก็รู้ว่าร้านกาแฟเป็นสถานที่ให้ผู้คนได้มาระบายความอัด อั้น คับข้องใจ อีกทั้งเป็นที่โฆษณาสินค้าหรือขายความคิดและความเชื่อต่างๆ และเมื่อลูกค้าตามปรกติไม่ได้เป็นขาประจำของร้านหนึ่งร้านใดโดยเฉพาะ ดังนั้นข่าวต่างๆ ที่ลูกค้านำไปเผยแพร่จึงกระจัดกระจายแพร่สะพัดไปทั่วเมืองภายในเวลาไม่นาน
       
       ด้วยเหตุนี้ร้านกาแฟจึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ของข่าวสารข้อมูล ของการคาดคะเน และพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ จนเราอาจกล่าวได้ว่าร้านกาแฟทุกร้านในเมือง เป็นเสมือนเครือข่าย internet ในสมัยก่อน
       
       กาแฟเป็นพืชที่ถือกำเนิดใน Ethiopia เมื่อชนเผ่า Oromos แห่งอาณาจักร Kefa เมื่อประมาณ ค.ศ.500 ได้นำเม็ดกาแฟมาบดกับไขมันเพื่อปั้นเป็นก้อนกลมๆ สำหรับเคี้ยวกิน เวลาต้องการกระตุ้นจิตใจให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และให้สมองมีสมาธิในการทำงาน จากที่นั่นกาแฟได้เดินทางข้ามทะเลแดงสู่ Yemen และ Arabia เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 กาแฟได้แพร่เข้าสู่ Egypt และTurkey โดยชาวมุสลิม จนเป็นที่ชื่นชมของผู้คนทั่วไป ชาวมุสลิมจึงเสนอแนะให้สถาบันศาสนายอมรับว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มทางเลือกที่ สามารถใช้ดื่มแทนแอลกอฮอล์ได้ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้คนดื่มมีอาการมึนเมา แต่กาแฟไม่ได้ทำให้คนดื่มเสียสติ สัมปชัญญะแต่อย่างใดเลย กลับทำให้มีอาการกระชุ่มกระชวย อีกทั้งมีจิตใจแจ่มใส และประสาทรับรู้มีอาการระแวดระวัง ดังนั้นสถาบันศาสนาอิสลามจึงมีบทบัญญัติห้ามคนมุสลิมดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้ดื่มกาแฟแทนได้
       
       เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กาแฟได้แพร่จาก Constantinople สู่ Venice แต่ได้ถูกชาวคริสต์ต่อต้าน โดยการเข้าทูลสันตะปาปา Clement ที่ 8 ให้บัญชาห้ามคริสต์ศาสนิกชนดื่มกาแฟ ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นเครื่องดื่มของพวกนอกรีต แต่เมื่อองค์สันตะปาปาทรงลิ้มรสกาแฟ พระองค์ทรงชื่นชมและยอมรับ กาแฟจึงได้เผยแพร่ต่อจากยุโรปตะวันออกสู่ยุโรปตะวันตก ในเวลาต่อมาความนิยมได้ชักนำให้ผู้คนเชื่อว่ากาแฟรักษาโรคได้ นอกจากจะใช้ในการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมแล้ว ความนิยมดื่มกาแฟได้เกิดขึ้นทั่วไปที่ Amsterdam, London และParis โดยเฉพาะที่ London นั้นในปี ค.ศ.1683 ได้มีการเปิดร้านขายกาแฟเป็นร้านแรก และได้จัดให้ภายในร้านมีหิ้งหนังสือให้ลูกค้าได้หยิบอ่าน อีก 40 ปีต่อมา ร้านกาแฟใน London ก็ได้เพิ่มจำนวนมากถึง 500 ร้าน โดยร้านมีการตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์หรูๆ และมีรูปภาพประดับตามผนังด้วย (ถึงจะไม่มีจำนวนมากเท่าในโรงแรมก็ตาม) นอกจากนี้ร้านก็มีประเพณีปฏิบัติว่าลูกค้าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากันหมด ดังนั้นในร้านจะไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะใดๆ และให้การสนทนาใดๆ ในร้านดำเนินไปอย่างเงียบๆ ร้านกาแฟจึงเหมาะสำหรับคนชั้นกลางที่ไม่ร่ำรวยมาก (ส่วนคนร่ำรวยจะต้อนรับแขกที่บ้าน) และถ้าใครเริ่มก่อการวิวาท กฎของร้านกาแฟมีว่า คนๆ นั้น ต้องซื้อกาแฟเลี้ยงคนอื่นๆ ทุกคนในร้าน
       
       ในเวลาต่อมา ร้านกาแฟได้เริ่มมีวิวัฒนาการโดยการแบ่งการบริการของร้านเป็นแหล่งชุมนุมของ ลูกค้าที่มีความสามารถ และความสนใจคล้ายคลึงกัน หรือใกล้เคียงกัน และจัดเป็นที่รับ-ส่งข่าวสารแก่ลูกค้า โดยจะมีลูกค้าที่แวะเข้าร้านวันละครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีใครส่งข่าว หรือจดหมายมาให้อ่านบ้าง และในบางโอกาสก็ขอให้เจ้าของร้านกาแฟนำข่าวส่งให้เพื่อนที่จะแวะที่ร้านใน ภายหลัง
       
       Robert Hooke นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น da Vinci แห่ง London ก็เป็นขาประจำของร้านกาแฟ ส่วน Isaac Newton และ Edmond Halley ก็มักนั่งสนทนาวิทยาศาสตร์ที่ร้านกาแฟเช่นกัน
       
       สำหรับ Samuel Pepys นักบันทึก, Jonathan Swift และ Alexander Pope ซึ่งเป็นนักเขียนก็ยอมรับว่า ได้ความคิดที่น่าสนใจจากการสนทนากับคนอาชีพต่างๆ ในร้านกาแฟ ด้าน Edward Lloyd นั้นก็เล่าว่า เมื่อตนได้ยินลูกค้าคนหนึ่งพูดคุยกับกัปตันเรือ เรื่องเรืออับปาง เขาก็ได้แนวคิดจะทำธุรกิจประกันภัยทันที และนี่ก็คือ การถือกำเนิดของบริษัทประกันภัย Lloyd’s of London ที่ยังดำเนินกิจการอยู่จนทุกวันนี้
       
       ร้านกาแฟจึงไม่เป็นเพียงศูนย์กลางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และการทำ ธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองด้วย ซึ่งบางครั้งถ้าความคิดเห็นนั้นเป็นเชิงต่อต้านอย่างรุนแรง เสถียรภาพของรัฐบาลขณะนั้นก็จะไม่มั่นคงทันที ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมายห้ามผู้ก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองรวมถึง จารชนหรือพวกที่ชอบปลุกปั่นกระบวนการต่างๆ เข้าไปดำเนินการใดๆ ในร้านกาแฟอย่างเด็ดขาด
       
       ส่วนที่ Paris นั้น ในปี ค.ศ.1720 สถิติการสำรวจแสดงว่ามีร้านกาแฟประมาณ 380 ร้าน แต่คอกาแฟชาวฝรั่งเศสไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีเสถียรภาพมากเท่า คอกาแฟชาวอังกฤษ เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสใช่วิธีส่งคนมาสอดแนม แอบดูและแอบฟังการสนทนาต่างๆ ในร้านกาแฟซึ่งถ้าพบเห็นใครต่อต้านรัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง เขาก็จะถูกลากคอเข้ากรงขังในคุก Bastille ทันที พร้อมข้อหาที่คนสอดแนมได้บันทึกไว้
       
       การควบคุมอย่างเข้มข้นเช่นนี้ทำให้คนฝรั่งเศสได้รับข่าวสารข้อมูล น้อยกว่าคนอังกฤษ คนเยอรมัน และคนเนเธอร์แลนด์ และเมื่อเสรีภาพในการสนทนาถูกจำกัด คนฝรั่งเศสในสมัยนั้นจึงใช้วิธีสื่อสารถึงกัน โดยการเขียนจดหมายบอกข่าว แล้วจ้างคนคัดข่าวต่างๆ ส่งไปให้บุคคลที่เป็นเครือข่ายของตน (เพื่อนหรือสหาย)
       
       ถึงแม้รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่สบายใจนักในการมีร้านกาแฟจำนวนมากมาย เพราะรู้สึกว่าสถานที่นั้น คือ แหล่งมั่วสุมของผู้ไม่หวังดีต่อรัฐบาล ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยินยอมให้มีธุรกิจร้านกาแฟ เพราะผู้บริหารต้องการรู้กระแสความคิดของชาวบ้าน และประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ร้านกาแฟ Café’ de Foy คือ สถานที่ๆ Camille Desmoulins ได้ปลุกระดมผู้คนให้ลุกขึ้นจับอาวุธ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1789 พออีก 2 วัน ต่อมา คุก Bastille ก็แตก
       
       คำถามที่ใครๆ ก็สนใจใคร่รู้คำตอบคือ ร้านกาแฟสมัยนั้น กับร้าน internet สมัยนี้ มีอิทธิพลต่อสังคมมากเหมือนกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร
       
       ในส่วนของนักวิทยาศาสตร์นั้น ถึง internet จะเกิดขึ้น เพื่อสนองความต้องการของวงการวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันวงการหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และการเมืองได้ตระหนักในความสำคัญของเทคโนโลยี internet เช่นกัน เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายผลงานของตน ให้คนที่ทำงานในแขนงเดียวกันได้และได้ถ่ายทอดความรู้นั้น สู่สังคมโดยการผ่านทาง internet, website, weblog ฯลฯ จนชื่อของบางบริษัทบางแห่งเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งประเทศโดยใช้สื่อ internet, ebay และ Wifi ณ วันนี้ ร้านกาแฟ Starbuck ได้ผุดขึ้นทั่วอเมริกา และก็ได้ติดตั้ง T-Mobile กับWifi ให้ผู้คนที่มี laptop ใช้ตรวจดู e-mail และอ่านข่าวต่างๆ ขณะจิบกาแฟ โดยไม่มีใครมารบกวนหรือสอดแนมดู
       
       ในส่วนที่เหมือนกันนั้น โลกศตวรรษที่ 21 กับที่ 17 ก็มีความคล้ายคลึงกันตรงที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนต้องการอ่านข่าวในปริมาณมาก อย่างรวดเร็ว และฟรีครับ
       
       คุณหาอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก www.coffeescience.org
       
       สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

Tags :

view