สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนวงในโอดแบน จีเอ็มโอ ลงภาคสนาม ทำเสียโอกาสนับสิบปี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

คนวงในโอดถูกแบน “จีเอ็มโอ” ลงภาคสนามทำเสียโอกาสนับสิบปี ชี้ทั่วโลกไม่ได้แบนอย่างเอ็นจีโอกล่าวหาและมีงานวิจัยอยู่ทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่บังคลาเทศ ฟากยุโรปยังทำวิจัยภาคสนามมากกว่าไทย ระบุเป็นหนทางแก้วิกฤตอาหารโลก พร้อมโจมตีเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐานทำสิ่งแวดล้อมเสียหายมากกว่าใช้เคมี
       
       รศ.ดร.วิชัย โฆสิตรัตน จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการใช้มะละกอจีเอ็มเพื่อแก้ปัญหาโรคใบด่างจุดวงแหวนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเศร้าที่ผ่านไปหลายปีเพราะยังอยู่กับที่ และทำให้เสียหลายโอกาสมานานนับสิบปีจากการห้ามไม่ให้ทดลองพืชจีเอ็มหรือพืช ดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนาม ทั้งนี้ อยากให้มีการตั้งคำถามต่อเรื่องจีเอ็มโอ ซึ่งการตั้งคำถามจะทำให้เจอคำตอบ
       
       “คำถามว่าปลอดภัยไหม คำถามแบบนี้เราอยากให้ถาม หรือโดยธรรมชาติมะละกอจะมีไซยาไนด์ แล้วเมื่อปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีจีเอ็มโอแล้วจะทำให้ไซยาไนด์เพิ่มขึ้นหรือ ไม่ คำถามแบบนี้เราอยากให้ถาม เมื่อตั้งคำถามแล้วก็จะเจอคำตอบ คิดดูว่าค่าเสียค่าเสียโอกาสเป็นเท่าไรจากการไม่ได้ทดลองภาคสนาม ตอนนี้พืชจีเอ็มข้ามไปสู่รุ่นที่ 3 ที่ทำเป็นอาหาร เป็นยาแล้ว แต่จีเอ็มโอในไทยมีแต่น้อยลง คนที่เขาเรียนมาทางด้านนี้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้” รศ.ดร.วิชัยกล่าว
       
       ด้าน ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จีเอ็มโอเป็นการหลอกลวงระดับโลก ซึ่งซับซ้อนยิ่งกว่าเรื่องจีที 200 ที่เพียงแค่แกะเครื่องก็หาคำตอบได้ทันที แต่จีเอ็มโอเป็นเรื่องของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด ซึ่งเขาไปศึกษาเรื่องจีเอ็มโอที่อังกฤษ ก็ไม่พบว่าที่นั่นต่อต้านจีเอ็มโอมากอย่างที่กลุ่มเอ็นจีโออ้าง อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ก้าวหน้าไปมาก และผ่านมา 35 ปียังไม่มีหลักฐานว่าอันตายหรือใช้ไม่ได้ ส่วนหลักฐานที่ทางกลุ่มเอ็นจีโอนำมาเปิดเผยนั้นเป็นหลักฐานที่ไม่เป็นวิทยา ศาสตร์
       
       “ผมจบด้านเอ็มจีโอจากอังกฤษ ที่นั่นก็ไม่ได้ขนาดนั้น ยังเห็นวางขายกันทั่วไป ที่อังกฤษเก่งเรื่องจีเอ็มโอมากๆ และผมก็ไปเรียนที่นั่น” ผศ.ดร.เจษฎากล่าว และบอกว่าทั่วโลกไม่ได้มองว่าจีเอ็มโอเป็นอันตราย อีกทั้งพืชที่เพาะปลูกกันนั้นไม่ใช่พืชในท้องถิ่นของเรา ยกเว้น ข้าว ซึ่งพืชเหล่านี้เมื่อปล่อยทิ้งโดยไม่ดูแลจะตายหรือไม่พอใจก็ทำลายทิ้งได้โดย ที่พืชจีเอ็มเหล่านั้นไม่แทรกซึมไปในธรรมชาติ
       
       ผศ.ดร.เจษฎากล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วเกษตรอินทรีย์เองก็มีปัญหา เพราะไม่สามารถรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นได้ อีกทั้งยังไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียมากกว่าการใช้สารเคมี เพราะยาฆ่าแมลงเชิงเกษตรอินทรีย์นั้นต้องใช้ในปริมาณมากกว่าสารเคมี และบอกด้วยว่าจริงๆ แล้วกลุ่มเอ็นจีโอต้องการต้านทุนนิยมทั้งที่จีเอ็มโอพัฒนาขึ้นจากสถาบัน วิจัยของรัฐ และมะละกอจีเอ็มของไทยก็ถูกทำลายไปโดยคนกลุ่มนี้และสื่อมวลชนที่มีความรู้ อย่างไรก็ดีพืชจีเอ็มจะมีราคาสูงขึ้นแน่นอนเพราะใช้เงินในการทำวิจัย แต่สุดท้ายเกษตรกรจะยังได้กำไรอยู่ดี
       
       ด้าน ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ จากหน่วยบริหารจัดการความรู้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จริงๆ แล้วจีเอ็มโอเกิดขึ้นเองในธรรมชาติมาเป็นล้านๆ ปีแล้ว โดยยกกรณีการเกิดปุ่มปมในพืชที่เกิดจากแบคทีเรียสร้างขึ้นเพื่อให้พืชผลิต อาหารเลี้ยงแบคทีเรียและทำให้พืชนั้นเจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่เราใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อตัดต่อเอาสิ่งดีๆ เข้าไป ซึ่งเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการค้นพบโครงการดี เอ็นเอ และในเวลาต่อมาได้พบเอ็นไซม์ที่สามารถตัดดีเอ็นเอ และพบตัวต่อดีเอ็นเอในเวลาต่อ จนเกิดการรวมศาสตร์เข้าเป็นเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม
       
       “ยุโรปต่อต้านจีเอ็มโอแต่เตรียมตัวด้านงานวิจัยมหาศาล อย่างเบลเยี่ยมมีการทดสอบภาคสนาม 133 ครั้ง เยอรมนี 178 ครั้ง สเปน 436 ครั้ง หรืออังกฤษที่ว่าต่อต้านจีเอ็มโอนักหนาก็มีการทดลองภาคสนาม 235 ครั้ง ยุโรปเขาเตรียมตัวแล้ว เมื่อเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับเมื่อไรเขาก็พร้อมจะปล่อยออกมา” ดร.บุญญานาถกล่าว
       
       ขณะที่ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า จีเอ็มโอเป็นเรื่องของการแข่งขันไม่ใช่เรื่องของการไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ไม่ควรปฏิเสธ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้แต่ต้องพิสูจน์ก่อนที่จะนำมาใช้ ทั้งนี้ไม่เห็นว่าจีเอ็มโอเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือเราเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ใช้ได้แต่เราไม่เปิดโอกาสให้มีการทดลอง ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ทดลองก่อน
       
       “ปลายทางคืออะไรจะใช้หรือไม่ใช้ต้องพิสูจน์ก่อน ตอนนี้เหมือนเราปิดประตูตัวเอง เราควรส่งเสริมให้มันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เราถกเถียงอะไรที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ปลายทางคือการนำไปใช้ซึ่งต้องพิสูจน์ก่อน แล้วการแข่งขันจะตามมา” นายพรศิลป์ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ต่อจีเอ็มโอ
       
       ทั้งนี้ ความเห็นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในวงเสวนา “จับกระแสพืชจีเอ็ม ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่น่าจับตา” ณ อาคาร สวทช. (โยธี) พระราม 6 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.53 ณ อาคาร สวทช. (โยธี) พระราม 6 และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมฟังการเสวนาด้วยนั้น

Tags :

view