สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สาเหตุการตายจากน้ำท่วม161ศพ

จาก โพสต์ทูเดย์

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย 161 ราย ถือว่ามีนัยสำคัญที่น่าสนใจ และสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดถึงประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี....

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ถึงขณะนี้มีผู้สังเวยชีวิตให้กับอุบัติภัยน้ำทะลักและดินถล่มในหลายพื้นที่กว่าค่อนประเทศไปแล้ว 161 คน แม้ตัวเลขจะดูน้อยเมื่อเทียบกับความรุนแรงและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยรวม แต่ก็นับว่ามีนัยสำคัญที่น่าสนใจ และสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดถึงประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี

จริงอยู่ว่าอุบัติการณ์ทางธรรมชาติมักอยู่เหนือการควบคุมและการคาดหมาย แต่จากระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยที่ฝ่ายปกครองยืนยันมาโดยตลอดว่ามีศักยภาพเพียงพอ สำทับด้วยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการรับมือภัยพิบัติครั้งรุนแรงอีกหลายครั้ง จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะมีความหวังในยามวิกฤต และถามถึงผู้รับผิดชอบภายหลังที่ความสูญเสียได้เกิดขึ้น
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แบ่งการเก็บข้อมูลใน 2 ช่วง ได้แก่ ผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยภาคใต้ (วันที่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน) จำนวน 39 คน และผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยภาคกลาง ตะวันออก เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (วันที่ 10 ต.ค. ถึงปัจจุบัน) จำนวน 122 คน

เมื่อจำแนกสาเหตุการเสียชีวิต พบว่ามีด้วยกัน 7 ประการ คือ จมน้ำ 138 คน ดินถล่มทับ 6 คน ถูกไฟฟ้าดูด 10 คน ไม้ล้มทับ 2 คน น้ำป่าพัด 2 คน เป็นลม 1 คน และอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง อาทิ ขับรถชน เรือล่ม 2 คน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (วอร์รูม) อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะมีมากในขณะที่เกิดอุทกภัยใหม่ๆ แล้วจึงจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ

ทั้งนี้ หากดูจากสถานการณ์ล่าสุดจะพบว่าภาคใต้ยังมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด จึงควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ประธานวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากข้อมูลที่ได้รับพบผู้เสียชีวิตเป็นเพศชายถึง 83% และกว่า 60% อยู่ในวัยฉกรรจ์ นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้ร่างกายจะแข็งแรงก็ไม่อาจต้านทานกระแสน้ำได้ จึงเตือนให้อย่าประมาทหรือชะล่าใจ สำหรับ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง คือ การจมน้ำทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่

“เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะออกไปเล่นน้ำหรือออกไปทำงานตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ดังนั้นในเวลานั้นจึงไม่ควรให้เด็กไปไหนมาไหนโดยพลการ หรือใช้เด็กออกไปทำธุระแทน ส่วนผู้สูงอายุก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นพ.ณรงค์ แนะนำ และบอกอีกว่า สำหรับผู้มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องสำรองยาไว้อย่าให้ขาด พร้อมกับแจ้งอาการไว้ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย”

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งให้บริการในพื้นที่อุทกภัยคอยสำรวจข้อมูล พร้อมทั้งมีหน่วยติดตามสถิติของผู้ป่วยจากโรคที่อาจเกิดการระบาดได้ทั้ง 17 ชนิด อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการระบาดหรือเกิดสัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้กระทรวงจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งสถานการณ์กลับสู่ปกติ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 พ.ย. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันการจมน้ำในเด็ก ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะมีการออกมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ไขอย่างถูกจุด มากกว่าแถลงคำเตือนผ่านสื่อมวลชนอย่างเลื่อนลอย

Tags :

view