สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมการข้าว แนะทำนาช่วงเดือน ธ.ค.เพราะข้าวโตต่อเนื่อง-ให้ผลผลิตดี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

กรมการข้าว แนะทำนาช่วงเดือน ธ.ค.เพราะข้าวจะเติบโตต่อเนื่อง-ให้ผลผลิตดี แต่บางพื้นที่ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ทนต่อสภาพที่อากาศหนาวเย็น พร้อมเตือนเกษตรกรในพื้นที่น้ำท่วม เตรียมรับมือโรค และแมลงศัตรูข้าว หลังน้ำลด

      นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว หลายพื้นที่สภาพอากาศหนาวเย็น กรมการข้าวมีความเป็นห่วงเกษตรกรที่ปลูกข้าวจะประสบกับปัญหาข้าวกระทบหนาว จะไม่ได้ผลผลิตเต็มที่ ดังนั้น พันธุ์ข้าวที่จะปลูกในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ พันธุ์ ชัยนาท 1 กข 31 พันธุ์ กข.41 และ พันธุ์ กข.43 ซึ่งทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น ส่วนพันธุ์ที่ไม่แนะนำให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ปทุมธานี 1 พันธุ์ กข 29 และพันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 ซึ่งมีความอ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็น
       
       รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่เตรียมจะปลูกข้าวในขณะนี้ ควรติดตามสภาพอากาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้าวที่ปลูกอาจจะประสบปัญหาชะงักการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งให้เกษตรกรที่จะปลูกข้าว ควรเลื่อนไปปลูกในช่วงเดือนธันวาคม จะมีความเหมาะสม เพราะข้าวจะไปออกรวงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ข้าวจะเติบโตต่อเนื่องและให้ผลผลิตได้ดี
       
       นายสมนึก จงเสริมตระกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาข้าวถูกน้ำท่วมจำนวนมาก จึงขอฝากเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูข้าวที่จะมาหลังน้ำลด หากระดับน้ำในแปลงนาลดลง ให้ระวังหนอนกระทู้คอรวง ซึ่งชอบกัดกินส่วนคอรวง หรือระแง้ของรวงข้าวที่กำลังจะสุก (rippening stage) ทำให้คอรวงขาด สามารถทำลายรวงข้าวได้มากถึง 80%
       
       ทั้งนี้ ลักษณะการทำลายคล้ายหนอนกระทู้กล้า มักเข้าทำลายต้นข้าวช่วงกลางคืน หรือตอนพลบค่ำถึงเช้าตรู่ กลางวันอาศัยตามใบ หรือโคนต้นข้าว หรือวัชพืชตระกูลหญ้า หนอนจะกัดกินต้นข้าวทุกวันจนกระทั่งเข้าดักแด้ โดยเกษตรกรควรสำรวจแปลงนา หากตรวจนับพบใบข้าวถูกทำลายกอ หรือจุดละ 5 กอ หรือ 5 รวง จากข้าว 20 กอ หรือจุดสุ่มนับ ให้ใช้สารตามคำแนะนำ นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังโรคขอบใบแห้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยใบที่เป็นโรคขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในบางกรณีที่เชื้อมีปริมาณสูงเข้าทำลาย ทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวทั้งต้นจะเหี่ยวเฉาและตายเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่าครีเสก หากพบอาการของโรคบนใบข้าวให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต + ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ หรือ ไอโซโพรไทโอเลน
       
       นายสมนึก กล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้นจะเข้าไปสำรวจ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเสียหายเรื่องพันธุ์ข้าว สำหรับพื้นที่มีน้ำท่วมขังประจำ ในปีถัดไปแนะนำให้ใช้พันธุ์ข้าวทนน้ำลึก เช่น กข 19 หันตรา 60 ปราจีนบุรี 2 และพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ เช่น พลายงามปราจีนบุรี เล็บมือนาง 111 ปิ่นแก้ว 56 สำหรับพื้นที่เก็บเกี่ยวแล้ว หลังน้ำลดให้เกษตรกร ปรับสภาพพื้นที่โดยการไถกลบต้นข้าว เพื่อไม่ให้ลูกข้าวงอกขึ้นมาเป็นอาหาร หรือแหล่งเพาะเชื้อของโรค แมลงศัตรูข้าวขยายพันธุ์ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการชาวนา สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

Tags :

view