สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลุ่มเกษตรกรลำไย สันป่าตอง-พร้าว ได้มาตรฐานอียูแห่งแรก

จากประชาชาติธุรกิจ



กลุ่ม เกษตรกรผู้ปลูกลำไย "สันป่าตอง-พร้าว" เชียงใหม่สุดปลื้ม หลังลงทุนลงแรงพัฒนาปลูกลำไยจนได้มาตรฐานอียูแห่งแรกของไทย ขณะที่ "หจก.พรมกังวาน" คว้ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ แต่ยังหนักใจเรื่องตลาด วอนรัฐช่วยกรุยทางเข้ายุโรป ด้านผู้บริหาร GTZ เผยใช้เวลาส่งเสริมปลุกปั้นกว่า 5 ปีจึงสำเร็จ



นายเดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตรใน ภาคเหนือว่า มีเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ลำไย ส้ม และกระดาษสา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญและเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคเหนือ ตลอดเวลา 5 ปีได้ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพ ปรับปรุงคุณภาพการผลิตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นาย เดวิดกล่าวว่า โครงการนี้มีเกษตรกรปลูกและแปรรูปลำไยที่พัฒนาจนได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป คือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย "สันป่าตอง-พร้าว" ได้รับการรับรองมาตรฐานลำไย GLOBAL G.A.P Option 2 เป็นกลุ่มแรกของไทยผ่านการรับรองว่ามีความปลอดภัย 4 ด้าน คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผลผลิต สิ่งแวดล้อม มาตรฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีความ เข้มงวดในการนำเข้าผลผลิตการเกษตรและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงมาก

"GLOBAL G.A.P เป็นมาตรฐานที่ ครอบคลุมการผลิตและองค์ประกอบทุก ขั้นตอน เช่น ต้นกล้า กิจกรรมภายในฟาร์ม ตลอดจนขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ผลผลิตจะถูกส่งออกจากฟาร์ม แหล่งผลิตลำไยมาตรฐาน GLOBAL G.A.P จุดแรกของไทยอยู่ใน อ.พร้าว และ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นี่คือโครงการนำร่องที่เกษตรกรจะพัฒนาและขยายความรู้ได้ต่อไป"

นอก จากนี้ยังมีผู้ประกอบการได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสถาบันเกษตรอินทรีย์สากล (International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM) มาตรฐานยุโรป 1 ราย คือ หจก.พรมกังวาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ลำไยอินทรีย์ ทั้งการอบแห้ง อบเนื้อสีทอง และแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง มีเครือข่ายเป็นผู้ปลูกลำไยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 31 ราย มีพื้นที่นำร่อง 370 ไร่ เกษตรกร 21 ราย ปัจจุบันเพิ่มเป็นพื้นที่ 1,200 ไร่

นายสนามชัย ชื่นฤทัย แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยพร้าวที่ได้รับมาตรฐาน GLOBAL G.A.P เปิดเผยว่า ต้องพัฒนาทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการ From Farm to Table คือต้องตรวจสอบย้อนหลังได้ทุก ขั้นตอนว่ามีมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้ตามมาตรฐาน ชาวสวน 50 รายสามารถส่งลำไยไปขายในสหภาพยุโรปและอเมริกาได้ แต่ยังต้องแสวงหาตลาดต่อไป ซึ่งยังไปขายเองไม่ได้เพราะตลาดภายนอกใหญ่เกินไป อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด

นายปรกชล พรมกังวาน ผู้จัดการ หจก.พรมกังวาน ผู้ผลิตและจำหน่ายลำไยอินทรีย์แปรรูปรายเดียวของไทยกล่าวว่า การพัฒนาภายใต้โครงการของ GTZ สามารถลดต้นทุนการปลูก ได้ปริมาณลำไยเกรด AA และเกรด A เพิ่มขึ้น ผลผลิตลำไยอบแห้งเพิ่มขึ้นกว่า 20% ลำไยอบแห้งมีคุณภาพดีขึ้นและเก็บได้นานขึ้น ต้นทุนการผลิตด้านพลังงานลดลง 25% โดยได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกนำสินค้าไปแสดงในงานสำคัญ เช่น งาน Biofach แสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์ต่าง ๆ และงาน Anuga ที่เยอรมนี ได้รับการยอมรับดีมาก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากหลายประเทศโดยเฉพาะจากตลาดยุโรปซึ่งมีความต้องการ อาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นเกษตรอินทรีย์สูงมาก

ทั้ง นี้มูลค่าการส่งออกลำไยอินทรีย์แปรรูปในปี 2553 เป็นเงิน 20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 25% ลำไยที่ส่งไปยังยุโรปมีสัดส่วน 20% ของผลผลิตทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับลำไยทั่วไป ลำไยอินทรีย์จะมีราคาสูงกว่ามาก เช่น ลำไยสดทั่วไป ราคา ก.ก.ละ 15-20 บาท ลำไยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ก.ก.ละ 50 บาท ลำไยอบแห้งทั่วไป ก.ก.ละ 250 บาท ลำไยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อบแห้ง ก.ก.ละ 500 บาท สำหรับเครือข่ายของตนผลิตลำไยสดสูงสุด 500 ตัน/ปี เป็นลำไยอบแห้ง 40 ตัน/ปี ขณะที่ตลาดลำไยอินทรีย์ในประเทศยังอยู่ในวงจำกัด มีมูลค่าปีละไม่ถึง 20 ล้านบาท

Tags :

view