สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดหน้าที่-ภารกิจศูนย์ช่วยน้ำท่วมภาครัฐ

จาก โพสต์ทูเดย์

หลังเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ที่จะเข้ามาช่วยบูรณาการความช่วยเหลือผู้ประสบภัย... 

โดย...ปริญญา ชูเลขา

รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ องค์ประกอบคณะกรรมการ ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธาน , นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับอำนาจหน้าที่อำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ และที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศ ประสานกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชน 

โดย คชอ.จะให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเกิดการบูรณาการในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว รวมทั้ง ติดตามประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานตามแนวทางมาตรการ และแผนงาน โครงการ ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้นายอภิรักษ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ขึ้นมีอำนาจหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชน ในการสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ ต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ อุทกภัย

สำหรับแนวทางและรูปแบบการดำเนินการ และการบริหารศูนย์ประสานการเยียวยาผุ้ประสบอุทกภัย คือ การจัดเตรียมสถานที่ ตึกสันติไมตรี การติดตั้งระบบสารสนเทศและการสื่อสาร การประมวลและรวบรวมข้อมูล ประสานงานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน โดยจะมีการแถลงข่าวทุกวันในเวลา 16.00 น.  

อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลได้เปิดเว็บไซต์ www.thaiflood.com , สายด่วน 1111  หรือ ข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) 4567891 และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์  เพื่อพิจารณาถึงความช่วยแหลือเฉพาะหน้าไปแล้ว เช่น ปัญหาเรื่องการขาดแคลนเรือ ส้วม เต้นและกระสอบทราย 

ภายหลังการประชุม คชอ.นัดแรก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คชอ. ได้ให้ทุกหน่วยงานรายงานสถานการณ์โดยมีการนำเสนอข้อมูลและมาตรการในการช่วย เหลือประชาชน ซึ่งยืนยันว่าหากมีประชาชนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือก็สามารถแจ้งมายัง หมายเลข 1111 สายด่วนได้ตลอดเวลา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาซึ่งทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัย(ปภ.)ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่เรื่องความขาดแคลนสิ่งของเช่น เรือ กระสอบทราย สุขาลอยน้ำและเต้นท์ไว้พร้อมแล้ว โดยจะใช้เงินที่ได้รับบริจาคไปจัดหาสิ่งบรรเทาทุกข์มาให้แต่ติดเรื่องกฎ เกณท์จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขระเบียบให้เสร็จในวันที่ 26 ต.ค.นี้ เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงและรวดเร็ว นอกจากนี้จะมีการทบทวนการระบายข้าวเพื่อนำข้าวมาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบ อุทกภัยด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของแนวคันกั้นน้ำที่มีความกังวลว่าอาจมีการทำลายของชาวบ้าน นอกแนวกั้นน้ำนั้นได้กำชับเจ้าหน้าที่และกองทัพให้เข้าไปดูแล ขณะที่ปภ.และกรมบัญชีกลางได้สรุปเกณฑ์การช่วยเหลือโดยเน้นพื้นที่น้ำท่วมฉับ พลันและน้ำขังเป็นเวลานาน ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะได้ตัวเลขที่จะใช้ช่วยเหลือที่ชัดเจน

นอกจากนี้ในส่วนของ กทม.ยอมรับว่ามีบางส่วนที่เป็นชุมชนนอกแนวกั้นน้ำได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งต้องดูเรื่องการสัญจรเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำสิ่งของอุปโภคบริโภคเข้าไป ช่วยเหลือประชาชนให้ได้ ซึ่งทาง กทม.ได้รายงานระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังสามารถรับมือได้แม้จะมีน้ำทะเลหนุนสูงในช่วง1-2 วัน  ทั้งนี้นจะติดตามระดับน้ำในแต่ละจุดอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยนั้น ได้ฝากให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว หากไม่ทำตามก็จะต้องชี้แจงกับประชาชนตามความเป็นจริง

ด้านนายอภิรักษ์ กล่าวว่าการดำเนินงานของศูนย์ฯ จะปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานความช่วยเหลือข้อมูล การแจ้งเตือนภัย การพยากรณ์อากาศน้ำ และสถานการณ์ที่สำคัญโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มพื้นที่ คือ 1. กลุ่มลุ่มน้ำชี 2.กลุ่มลุ่มน้ำมูล และ 3. กลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นการทำงานแจ้งเตือนระดับการไหลของน้ำหรือสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ ต่อพี่น้องประชาชน 

ทั้งนี้สำหรับกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 26 - 27 ต.ค.นี้ ในกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นับว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากในเวลา 09.09 น.ของวันที่ 26 ต.ค.นี้จะมีน้ำทะเลหนุนสูง ประมาณ 2.30 -2.40 เมตร ซึ่งทางกทม.สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้โดยมีแนวคั้นกั้นน้ำสูง 2.50 เมตร และมีกระสอบทรายเสริมอีก ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่นอกคั้นกั้นน้ำ 

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยทั้งหมด 27 จังหวัด แบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนสีแดงสถานการณ์รุนแรง โซนสีส้ม สถานการณ์รุนแรงน้อย โซนสีเหลือง สถานการณ์คลี่คลาย และ โซนสีเขียว พื้นที่เร่งเข้าไปฟื้นฟู 

"จะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องข้อระเบียบ หรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือด้วย โดยให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ และในการทำงานจะเน้นการทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายอาสาสมัคร ภาคประชาชนทุกพื้นที่" นายอภิรักษ์ กล่าว  

Tags :

view