สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไฟเขียว 6 กลุ่มบริษัทแบ่งเค้ก 3.5แสนล้าน ลุยสร้างเขื่อนเสือเต้น-แม่วงก์-ฟลัดเวย์

ไฟเขียว 6 กลุ่มบริษัทแบ่งเค้ก 3.5แสนล้าน ลุยสร้างเขื่อนเสือเต้น-แม่วงก์-ฟลัดเวย์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งเดินหน้าประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน อนุมัติ 6 กลุ่มบริษัทร่วมแบ่งเค้ก ขีดเส้นรวบรัดจัดทำข้อเสนอออกแบบก่อสร้างยื่นซองด้านเทคนิคและราคาเสร็จภาย ใน 3 เดือน เอาแน่ 2 เขื่อนใหญ่ เสือเต้น แม่วงศ์ รวมทั้งฟลัดเวย์แนวตะวันออก-ตะวันตกเจ้าพระยา
       
       ในที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้ตัดแบ่งเค้กก้อนโตในโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านเสร็จเรียบร้อย แม้ว่าแผนบริหารจัดการน้ำ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดว่าขาดความชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดของประชาชนและผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งยังมุ่งเน้นการก่อสร้างเป็นเนื้องานหลักก็ตาม
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้ 6 กลุ่มบริษัท ผ่านการคัดเลือกในการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ประกอบด้วย
       
       1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(K-Water)
       2.ITD POWER CHINA JV
       3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
       4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์
       5.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย
       6.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์
       
       "จาก 6 กลุ่มบริษัท ประกอบด้วย ทั้งหมด 31 บริษัท เป็นบริษัทคนไทยคิดเป็น 65% ผลการพิจารณาครั้งนี้ บริษัทที่จะได้เดินหน้าต่อไปคือคนไทย ไม่ใช่ชาวต่างชาติ"
       
       สำหรับบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในการออกแบบก่อสร้างใน 10 โมดูล มีดังนี้
       
       Module A1 : 1.การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       2.Module A2: การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระย ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       3.Module A3: การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจังหวัด นครสวรรค์และเหนือจังหวัดอยุธยาเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       4.Module A4: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       5.Module A5: การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และ/หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม/วินาที รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ)ไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       6.Module A6: การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์)2.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       7.Module B1: การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์)2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       8.Module B2: การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       9.Module B3: การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       10.Module B4: การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดกาน้ำกรณีต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(เค วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ 3.ITD-POWERCHINA JV
       
       นายปลอดประสพ ระบุว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะถือว่าเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างแท้จริง ในขณะที่ที่ผ่านมาเป็นกระบวนการคัดสรร ซึ่งนับจากนี้ไปฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่จะมีคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อประมูลแข่งขันโครงการทั้ง 10 โมดูล โดยประธานคณะกรรมการคือ นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั้ง 6 กลุ่มบริษัทมีเวลา 3 เดือนในการออกแบบและนำเสนอ 3 ซอง คือ 1.ซองเทคนิค 2.ซองกำหนดเวลา และ 3.ซองราคา
       
       สำหรับเหตุผลที่อีก 2 กลุ่มบริษัทจากจีนและเกาหลีที่ไม่ผ่านการคัดเลือกนั้น นายปลอดประสพ ชี้แจงว่า เป็นเพราะกลุ่มบริษัทของจีนไม่ได้รับการรับรองจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ในขณะที่เกาหลีนั้น ได้มีบางบริษัทในกลุ่มลาออก ซึ่งถือเป็นการขัดกับสารัตถะที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้ว
นายปลอดประสพ สุรัสวดี
       ลุยสร้างแน่เขื่อนแก่งเสือเต้น-แม่วงก์
       
       หากพลิกกลับไปพิจารณาแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะมีการลงทุนโครงการลุ่มน้ำเจ้าพระยา วงเงิน 3 แสนล้าน ประกอบด้วย
       
       1.การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้ว ฯลฯ สำหรับพื้นที่ดำเนินการ แบ่งเป็น พื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าในที่สูง จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 8 ถึง 10 ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เป็นต้น โดยจะเน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง พื้นที่เกษตรที่สูง
       
       ส่วนพื้นที่ป่ากลางน้ำและป่าในพื้นที่ราบ จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น พื้นที่ปลายน้ำและป่าในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เน้นบนพื้นที่ป่าชายเลน รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท
       
       2. การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสม และยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ลุ่มน้ำปิง จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมาก และคลองขลุง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง
       
       ลุ่มน้ำยม จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานประมาณ 774,200 ไร่
       
       ลุ่มน้ำน่าน จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปาด ขนาดความจุ 58.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ อ่างเก็บน้ำคลองชมพู ความจุ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
       
       ลุ่มน้ำสะแกกรัง ระบุการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ความจุ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์
       
       ส่วนลุ่มน้ำป่าสัก จะสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักตอนบน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง ความจุ 98.59 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี พิจารณาจากแผนงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 21 อ่างเก็บน้ำ โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 ใช้เวลา 3 ปีถึง 5 ปี รวมวงเงิน 5 หมื่นล้าน
       
       3.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ (ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง) ซึ่งในส่วนนี้จะมีโครงการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละ จังหวัด เช่น แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของประเทศ พื้นที่ตั้งแต่ใต้จังหวัดอยุธยา ลงมาถึงอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน พาณิชยกรรม รวมวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท
       
       4.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทาน เหนือนครสวรรค์ และเหนืออยุธยาเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว หรือพื้นที่รับน้ำ ประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนือนครสวรรค์ ประมาณ 1 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ตั้งอยู่เหนืออยุธยา ประมาณ 1 ล้านไร่ รวมวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท
       5.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ โดยจะมีงานขุดลอก สันดอนแม่น้ำ ปรับแนวตลิ่งแม่น้ำ ปรับปรุงคันริมแม่น้ำ เพื่อให้ได้หน้าตัดแม่น้ำตามที่กำหนด ยังมีงานปรับปรุงคันริมแม่น้ำ งานปรับปรุงคลองระบายน้ำ รวมวงเงิน 7,000 ล้านบาท
       
       6.การจัดทางน้ำหลาก (Floodway ) หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel ) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกิน จากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก วงเงิน 120,000 ล้านบาท โดยการก่อสร้างแนวฟลัดเวย์ถาวร 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.แนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันตก (ท่าจีน-เจ้าพระยา) ความยาว 314 กิโลเมตร 2.แนวฟลัดเวย์เจ้าพระยาตะวันออก (ป่าสัก-เจ้าพระยา) ความยาวประมาณ 322 กิโลเมตร เพื่อป้องกันและบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ภาคกลางเป็นต้นไป ขณะนี้มีการศึกษาแนวการทำฟลัดเวย์ไว้เรียบร้อยแล้วแต่รัฐบาลไม่เปิดเผย ข้อมูลรายละเอียดโดยอ้างว่าบริเวณด้านข้างแนวฟลัดเวย์จะพัฒนาเป็นพื้นที่ เศรษฐกิจเกรงว่าจะมีการกว้านซื้อที่ดิน แต่ที่สำคัญคือการอพยพประชาชนที่อยู่ในแนวฟลัดเวย์ออกจากพื้นที่ที่จะมี ปัญหาตามมาอย่างมาก
       
       7. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ (หลากและแล้ง) กรณีต่างๆ รวมวงเงิน 3,000 ล้านบาท
       
       8. การปรับปรุงองค์กร (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมาย และวการเยียวยาที่เหมาะสม ใช้งบประมาณปกติ
       
       สำหรับโครงการลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำ วงเงินลงทุน 4 หมื่นกว่าล้าน ได้แก่
       
       1.การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดินฝายต้นน้ำ ฯลฯ เพื่อได้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล พื้นที่ 6 ล้านไร่ ประกอบด้วยป่าต้นน้ำ ป่าที่สูง ป่ากลางน้ำ ในพื้นที่ตั้งแต่ สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง พังงา ชุมพร ส่วนลุ่มน้ำตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตนครราชสีมา ชัยภูมิ เลย นครพนม อุบลราชธานี รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท
       
       2.การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ส่วนลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำมูล- ชี และลุ่มน้ำสาขา รวมวงเงิน 12,000 ล้านบาท
       
       3.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน ( Landuse zoning ) การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด และของภาค(ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ) แบ่งเป็นลุ่มน้ำภาคใต้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เช่น หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันตก เช่น พัทลุง พังงา ลุ่มน้ำตาปี เช่น สุราษฎร์ธานี ลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก ส่วนลุ่มน้ำภาคคะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ มูล -ชี เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ลุ่มน้ำเลย เช่น เลย ลุ่มน้ำโขง เช่น หนองคาย นครพนม อุดรธานี รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท
       
       4.การปรับปรุงสภาพทางน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ บริเวณ ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ส่วนลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำมูล - ชี และลำน้ำสาขาลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี รวมวงเงิน 10,000 ล้านบาท
       
       5.การปรับปรุงระบบคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหาร จัดการน้ำกรณีต่างๆ บริเวณลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมงเงิน 2,000 ล้านบาท
       
       6. การปรับปรุงองค์กร(ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สื่อสาร กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมาย และวิธีการเยียวยาเหมาะสม บริเวณลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยใช้งบปกติ
       เรียกร้องรัฐบาลยุติทำลายป่า ยกเลิกสร้างเขื่อน
       
       ภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ระบุถึงการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสม แท้ ที่จริงคือ โครงการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งถูกคัดค้านมาโดยตลอดโดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ ดังนั้น การอนุมัติให้ 6 กลุ่มบริษัทนำเสนอการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำดังกล่าวข้างต้น กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงมองว่า เป็นการหมกเม็ดทำลายป่ามหาศาล โดยการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะทำลายป่า 41,750 ไร่ และเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำลายป่า 13,000 ไร่ และการทำลายป่าผืนใหญ่นี้จะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ตามมาอย่างรุนแรง
       
       ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ และเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยระบุ 8 เหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนี้ 1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ 2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
       
       3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก 4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
       
       5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
       
       7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ 8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ฟังเสียงทักท้วงใดๆ ยังคงยืนยันเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำที่ถูกมองว่านอกจากจะไม่ช่วยแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งแล้ว ยังจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย ดังเช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เคยให้ความเห็นว่า กบอ.เปิดให้เอกชนมารับทีโออาร์ที่คลุมเครือ มุ่งออกแบบก่อสร้าง ทั้งที่ความจริงต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อน ทำตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองก่อน
       
       เช่นเดียวกับ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ขาดความชัดเจน เอื้อต่างชาติ รีบร้อน ซึ่งการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต้องถูกหลักวิศวกรรม ถูกหลักกฎหมาย และต้องไม่มองข้ามผลกระทบต่อประชาชนด้วย

นัดถก6กลุ่มประมูลน้ำ หวั่นเมินสิ่งแวดล้อม

สมาคมวิศวกร เตรียมนัดถก6 กลุ่มประมูลก่อสร้างบริหารจัดการน้ำ หวั่นโดนเร่ง เมินสิ่งแวดล้อม

นายสุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมสถาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) กล่าวว่า เบื้องต้นถ้าดูจากรายชื่อ 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในรอบที่ 2 มีกลุ่มคนไทยเข้ารอบไปด้วย รวมทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ไม่ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายนัก เพราะก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯ เคยตั้งข้อสังเกตไว้แต่แรกแล้วว่าผู้รับเหมาทำโครงการด้านแหล่งน้ำ ที่คุ้นหน้าคุ้นตาของไทยจะเป็นผู้ที่่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมรับเหมาทำโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งอาจต้องยิ่งเพิ่มการจับตามองว่าจะทำให้โครงการต่างๆถูกเร่งเดินหน้าจนไม่ได้มีการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)หรือไม่ ดังนั้น ภายใน 2-3 วันหลังจากนี้ทางคณะอนุกรรมการฯเตรียมนัดประชุมเพื่อเป็นข้อเสนอไปยังรัฐบาล

เมื่อถามว่าจากรายชื่อดังกล่าวจะมีผลต่อแนวทางการบริหารน้ำหรือไม่ นายสุวัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้จะต้องรอดูรายละเอียดทีโออาร์ ด้านเทคนิค ราคาของแต่ละกลุ่มบริษัทก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเขามีเวลา 45 วันในการทำข้อเสนอแข่งขันกัน แต่จากการติดตามข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องที่ยังเน้นว่าต้องเร็ว ราคาถูกก็น่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้มีแนวทางเลือกอื่นๆในการทำโครงการขนาดใหญ่ และมาบิดกันด้วยราคา ซึ่งสมาคมยังยืนยันว่าโครงการขนาดใหญ่ด้านแหล่งน้ำจำเป็นใช้ระยะเวลาศึกษาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของโครงการ ไม่ควรข้ามหรือลัดขั้นตอนจนเกิดความเสียหาย

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอโครงการน้ำที่ผ่านเข้ารอบ 2 นั้นมีกระบวนการที่รวบรัด โดยกลุ่มบริษัทที่ผ่านเข้ารอบเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเขามองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไม่ได้ถูกตีความจากคนในพื้นที่ และปราศจากมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

การแก้ไขที่มองในเชิงเทคนิคทั้งหมด ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งเขาเกรงว่าจะซ้ำรอยปัญหาเดิม นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเกาหลี ยังประสบปัญหาด้านการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะที่ประเทศจีนเองก็มีมาจากระบบการปกครองที่ไม่ฟังเสียงประชาชน หรือแม้แต่บริษัทไทยที่ผ่านเข้ารอบ อย่าง ช.การช่าง ก็ไม่ฟังเสียงประชาชน อย่างกรณีสร้างเขื่อนไชยบุรีอย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า โครงการก่อสร้างจะเดินไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากปราชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย

นายหาญณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการเปิดรับข้อเสนอโครงการก่อสร้างมูลค่าแสนล้านบาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหุ้นของกลุ่มบริษัทก่อสร้าง มากกว่าจะแก้ปัญหาน้ำในประเทศอย่างที่รัฐบาลแจ้งกับประชาชน อีกทั้งมองว่าการตัดสินใจเลือกลุ่มบริษัทอาจมาจากข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผลประโยชน์อย่างไรก็ตาม ภาย 3-7 วันนับจากที่ กบอ. ประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านเข้ารอบ ควรเปิดเผยรายละเอียดว่าเหตุผลใดถึงได้เลือกบริษัทเหล่านี้เข้ามาจัดการปัญหาน้ำของประเทศ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบ

นายหาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เขาอยากเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม ตามขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่างจากปัจจุบันที่ มีการจัดตั้ง กบอ. เพื่อรวบงบประมาณทั้งหมดไว้ที่จุดเดียว มีประธาน อบอ. นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อนุมัติโครงการ และประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ผลักดันกระบวนการแก้ไขกฎระเบียบอีไอเอ ซึ่งเขามองว่าไม่ถูกต้อง

สำหรับข้อเสนอกรอบแนวคิด (conceptual plan)"โครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย" มูลค่า 3.4 แสนล้านบาทบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกคือ1. เค-วอเตอร์ จากเกาหลีใต้ มีผลงานรวม 682,840 ล้านบาท

2. กิจการร่วมค้าไอทีดี-พาวเวอร์ไชน่า ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย, พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น, ไชน่า เก๋อโจวบ๋า, ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ฯ และปัญญา คอนซัลแตนท์ มีผลงานรวม 395,957 ล้านบาท

3.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที ประกอบด้วย หจก.สามประสิทธิ์, เอส.เค.วาย.คอนสตรัคชั่น และยูเนี่ยน อินฟาร์เทค มีผลงานรวม 20,500 ล้านบาท

4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ เป็นการรวมกลุ่มของบริษัทรับเหมาไทยล้วน ประกอบด้วย ช.การช่าง (ลาว), ทีมคอนซัลติ้ง, คริสเตียนีฯ, ช.ทวีก่อสร้าง, เสริมสงวนก่อสร้าง, ทิพากร และโรจน์สินก่อสร้าง มีผลงานรวม 67,141 ล้านบาท

5.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ประกอบด้วย บริษัทซีทีไอ, โอบายาชิ, ไทเซอิ, คาจิมา, ชิมิซึ, ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง, ซันยู, แปซิฟิ, ยาชิโย, องค์กรบริหารน้ำประเทศญี่ปุ่น และ บมจ.ยูนิคฯ ผลงานรวมมูลค่าทะลุ 1,147,501 ล้านบาท

6.กิจการร่วมค้าล๊อกซ์เลย์ไทย-อเมริกา
ส่วนกลุ่มบริษัทที่ไม่ผ่านเข้ารอบ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้า TKC โกลบอล มีผลงานมูลค่า 43,350 ล้านบาท2. บริษัทไชน่า CMAC จากจีน มีผลงานรวม 19,749 ล้านบาท


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ไฟเขียว กลุ่มบริษัท แบ่งเค้ก 3.5แสนล้าน ลุยสร้าง เขื่อนเสือเต้น แม่วงก์ ฟลัดเวย์

view