สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขายข้าวรัฐต่อรัฐ7.3ล้านตันส่อพิรุธ ตัวเลขพาณิชย์แย้งส.ค.ไม่มีส่งออก

จากประชาชาติธุรกิจ

รัฐบาล ถังแตก อนุมัติวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 แค่ครึ่งเดียว 240,000 ล้านบาท พิลึกพิจารณาแค่จำนำข้าวนาปี ส่วนข้าวนาปรังยังไม่มีเงินให้รอไปก่อน สะท้อนเกิดปัญหาในการระบายข้าวในสต๊อกมากกว่า 12 ล้านตัน

ตัวเลข การส่งออกข้าวที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า ในขณะนี้ได้ทำสัญญาขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ไปแล้วมากกว่า 7 ล้านตัน และได้ทยอยส่งมอบไปแล้วกำลังกลายเป็นคำถามใหญ่ของผู้คนในวงการค้าข้าว

ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากการตรวจสอบตัวเลขการส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ ล่าสุดที่รายงานยอดส่งออก 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปีนี้ปรากฏ ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวโดยเอกชนไปแล้ว 4,479,079 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,036 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 93,987 ล้านบาท แต่กลับไม่ปรากฏยอดการส่งออกข้าวที่ส่งผ่านวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลเลย

ก่อน หน้านี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีการขายข้าวโดยใช้วิธีรัฐต่อรัฐ (G to G) ด้วยการเซ็นสัญญาไปแล้ว 7.328 ล้านตัน แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดในการขายข้าวว่า ขายให้กับรัฐบาลไหนอย่างไร เพียงแต่ยกตัวอย่าง อาทิ ขายข้าวให้โกตดิวัวร์ 24,000 ตัน อินโดนีเซีย จีน และอื่น ๆ พร้อมกับระบุอย่างชัดเจนว่า ข้าวที่ขายไปได้เริ่มส่งมอบไปแล้ว แต่กลับขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่แสดงตัวเลขการส่งออกข้าวของกรมการค้าต่าง ประเทศ ที่ระบุจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีการส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐเลยแม้แต่ตันเดียว

ทั้งนี้การที่ รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวส่วนใหญ่ในสต๊อกที่มีประมาณ 12 ล้านตัน ออกไปภายในสิ้นปี 2555 จะส่งผลกระทบไปถึงวงเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะต้องใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ที่ประมาณการกันไว้ว่าจะต้องใช้ถึง 405,000 ล้านบาท ในขณะที่ ธ.ก.ส.แจ้งว่ามีสภาพคล่องที่จะใช้รับจำนำพืชผลทางการเกษตรปีหน้าได้ประมาณ 150,000 ล้านบาท เท่ากับยังขาดเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวอีก 255,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องกู้มาให้ ธ.ก.ส.

"หน่วยงานของรัฐอย่างสำนัก งบประมาณ กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกมาเตือนรัฐบาลแล้วว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศทำให้รัฐบาลต้องรับภาระในการใช้งบประมาณ สูงมาก และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งกระทรวงพาณิชย์ให้ขายข้าวในสต๊อก ออกเพื่อนำเงินมาใช้คืน ธ.ก.ส. จะได้มีวงเงินหมุนเวียนเพียงพอในการรับจำนำข้าว ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มโครงการรับจำนำไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่จนกระทั่งถึงบัดนี้ ธ.ก.ส.ก็ยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าวส่วนใหญ่" แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.กล่าว

ล่าสุด ครม.ได้มีมติอนุมัติกรอบการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูการผลิตปีཱི/56 จำนวน 26 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวนาปี 15 ล้านตัน และข้าวนาปรัง 11 ล้านตัน โดย ครม.ได้อนุมัติวงเงินรับจำนำเฉพาะข้าวนาปีจำนวน 240,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนข้าวนาปรังที่จะเริ่มฤดูการผลิตในเดือนมีนาคม 2556 ที่ต้องใช้วงเงินอีก 165,000 ล้านบาท ครม.เห็นว่าให้นำเรื่องกลับไปรอการพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับ วงเงินรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 55/56 จำนวน 240,000 ล้านบาท ครม.ได้อนุมัติให้ใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 150,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรัฐบาลคาดว่าจะได้รับเงินหมุนเวียนจากการระบายข้าว ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินได้สิ้นปี 2555 จำนวน 85,000 ล้านบาท

พร้อม กันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่า การระบายข้าวที่ได้รับมอบตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น จะมีการระบายข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 12.56 ล้านตัน คาดว่าจะได้รับเงิน 260,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการได้รับเงินในสิ้นปี 2555 จำนวน 85,000 ล้านบาท และสิ้นปี 2556 อีก 175,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้าวจำนวน 12.56 ล้านตัน ปัจจุบันได้ระบายไปแล้ว 8.38 ล้านตัน แบ่งเป็นการจำหน่ายทั่วไปให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ 2 ครั้ง (ประมูล) จำนวน 264,000 ตัน, หน่วยงานราชการจำนวน 6 ครั้ง จำนวน 797,000 ตัน และขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 6 สัญญา 7.328 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 4.175 ล้านตันนั้น เป็นข้าวที่ยังไม่มีภาระผูกพันหรือยังไม่ได้ขาย

ส่วน การเปิดรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้นมีรายงานข่าวว่า โรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการมีปัญหาไม่มีโกดังเก็บข้าวที่จะต้องรับจำนำเข้า มาใหม่ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ยอมมารับมอบข้าวที่สั่งสีแปรในโครงการรับจำนำ ปีที่ผ่าน (2554/55) จนข้าวล้นโกดัง ซึ่งจัดเป็นเหตุการณ์ที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ทาง "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยัง นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมได้แจ้งเตือนไปยัง นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปตั้งนานแล้วว่า โรงสีที่ยื่นความจำนงเข้าโครงการรับจำนำข้าว

ปีนี้กว่า 700-900 โรง "ยังเซ็นสัญญาไม่ได้" เนื่องจากติดปัญหาที่โรงสีที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 และนาปรังรอบพิเศษ ไม่สามารถส่งมอบข้าวเข้าโกดังกลางได้ 10-20% หรือคิดเป็นปริมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องจากการที่โกดังกลางอยู่ระหว่างการส่งมอบข้าวให้กับ ผู้ชนะการประมูล 2 ลอต (264,000 ตัน) และผู้ส่งออกที่ซื้อด้วยวิธีพิเศษแบบลับ ๆ อีกเกือบ 1 ล้านตัน ซึ่งตามหลักเกณฑ์หากส่งมอบข้าวเก่าออกไปไม่หมดจะไม่สามารถรับฝากข้าวใหม่ได้

ดังนั้นผู้ประกอบการโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเปลือกหอมมะลินาปี จึงได้เสนอที่จะรวมกลุ่มกันเปิดคลังส่วนตัวของแต่ละโรงสี เพื่อให้บริการรับฝากเก็บเป็นโกดังกลางให้กับรัฐบาล มีปริมาณความจุที่รับได้ 13 ล้านตันข้าวเปลือก แต่มีบางส่วนที่เก็บข้าวของฤดูกาลที่ผ่านมาไว้ 3.1 ล้านตันข้าวเปลือก จึงจะเหลือความจุราว 10 ล้านตันข้าวเปลือก ก็น่าจะเพียงพอกับการรับจำนำในภาคอีสาน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อคุณภาพข้าวหอมมะลิ เพราะโรงสีในพื้นที่ชำนาญ แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องเปิดรับจำนำข้ามเขตเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : ขายข้าวรัฐต่อรัฐ 7.3ล้านตัน ส่อพิรุธ ตัวเลขพาณิชย์แย้ง ส.ค. ไม่มีส่งออก

view