สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Solar Power” อินเดีย “ต้นทุน” ต่ำสุดในโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

กระแสตื่นตัวในการหันมาใช้พลังงานทดแทนของโลกมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางปรับนโยบายมุ่งการลงทุนและพัฒนา “พลังงานแสงอาทิตย์” และตั้งเป้าที่จะลดสัดส่วนการใช้งานพลังงานแบบดั้งเดิมสู่ 100% ให้ได้

เวิลด์อีโคโมนิกฟอรั่ม (WEF) อ้างการสำรวจขององค์การพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IRENA) กล่าวว่า ที่ผ่านมา “พลังงานแสงอาทิตย์” ได้รับความนิยมมากในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชีย เพราะสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยสนับสนุน แม้ว่ามีหลายประเทศในยุโรปที่เริ่มให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน แต่พลังงานลมดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า “พลังงานแสงอาทิตย์”

รายงานการสำรวจหัวข้อ “ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ของโลกปี 2018” IRENA ชี้ว่า “อินเดีย” เป็นประเทศที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์เซลล์” มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุดในโลก ประจำปี 2018 โดยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 793 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลวัตต์ หากเทียบกับประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์แพงที่สุดในโลกอย่าง “แคนาดา” มีราคาสูงถึง 2,427 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลวัตต์

ทั้งนี้ ทีมการสำรวจของ IRENA ประจำเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในอินเดีย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การผลิต จนถึงกระบวนการติดตั้ง และค่าบริการอื่น ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2018 ค่าใช้จ่ายลดลงประมาณ 27% จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้า “แผงโซลาร์เซลล์” ราคาถูกจากประเทศจีนมากขึ้น

“อัดนัน ซี. อะมิน” ผู้อำนวยการทั่วไปของ IRENA ระบุว่า ข้อได้เปรียบของอินเดียในการติดตั้งโซลาร์พาวเวอร์ที่ถูกกว่าประเทศอื่น รวมถึงถูกกว่า “จีน” ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยหนุนในเรื่องปริมาณแรงงาน ซึ่งยังเป็นแรงงานราคาถูก ขณะเดียวกัน อินเดียเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านไอทีและเทคโนโลยีต่าง ๆ มีปริมาณมาก รัฐบาลหรือภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ วริชาบ ปรากาช ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน สถาบันการพัฒนาการจัดการของอินเดีย (MDI) แสดงความเห็นว่า อินเดียมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดมากสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ หากเทียบกับหลายประเทศในยุโรป ซึ่งอินเดียเพิ่งก้าวเข้าสู่วงการโซลาร์ได้เพียง 5 ปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ใช้เวลาในการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนดังกล่าวนี้มากกว่า บางประเทศใช้เวลาเป็น 10 ปี

อย่างไรก็ตาม นายวริชาบกล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจะแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะในด้าน “ราคา” หลังจากที่ประเทศในโลกอาหรับเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น และ “ซาอุดีอาระเบีย” ประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาค เป็นชาติแรกที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของซาอุฯ อยู่อันดับที่ 8 ของผลการสำรวจครั้งล่าสุด โดยราคาอยู่ที่ 1,267 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลวัตต์ “เป็นชาติอาหรับเดียวที่พัฒนาและอยู่ในลิสต์ ท็อป 10 ด้านค่าใช้จ่าย”

“จอนนี วูด” นักเขียนอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนของ WEF กล่าวว่า ความได้เปรียบในด้านราคาของอินเดีย เป็นข้อได้เปรียบที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่งทั้งเก่าและใหม่ ขณะเดียวกันเอเชียและตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่ยังใช้พลังงานแบบดั้งเดิม ได้แก่ พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2050 อินเดียจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจนี้ หากสามารถรักษาอันดับดังกล่าวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

“เมื่อราคาค่าใช้จ่ายของแผงโซลาร์เซลล์ลดลงจะผลักดันให้ดีมานด์ความต้องการใช้ทั่วโลกสูงขึ้น”จอนนี วูด กล่าวเพิ่มว่า ในปี 2018 อุตฯพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกครองสัดส่วน 55% ของกำลังการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และปีที่ผ่านมากำลังการผลิตของพลังงานโซลาร์เพิ่มขึ้นอีก 94 จิกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตในประเทศเอเชีย ได้แก่ อินเดียและจีน

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ระบุว่า อินเดียพยายามพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับและเพิ่มบทบาทของตัวเอง และมีส่วนร่วมในการเซฟโลกช่วยลดมลพิษตามข้อตกลงปารีส ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้อินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนา “โซลาร์ฟาร์ม” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาแห่งชาติ นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการปรับเพิ่มสัดส่วนในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ให้ได้ภายในปี 2030 อย่างน้อยต้องมีสัดส่วนอยู่ที่ 90% เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประเทศและโลก

หนึ่งในหลักฐานความสำเร็จของอินเดียที่พยายามผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็คือ “สนามบินโกชิน” ที่เมืองโคชิ ทางตอนใต้ของอินเดีย ที่กลายเป็นสนามบินแห่งแรกของโลกที่เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ทั้งระบบ เมื่อปี 2015 โดยเป็นการติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 12 เมกะวัตต์ ประมาณ 46,150 แผ่น ลงบนพื้นที่กว่า 114 ไร่ โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 50,000-60,000 ยูนิตต่อวัน เพียงพอต่อความต้องการใช้ในแต่ละวัน

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมอินเดียระบุว่า โมเดลสนามบินพลังงานแสงอาทิตย์นี้ คาดว่าจะเป็นโมเดลสำคัญที่จะนำมาปรับใช้กับสนามบินอื่น ๆ ทั่วประเทศอินเดียในอนาคต หากเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานโซลาร์ประสบความสำเร็จ

IRENA ชี้ว่า ต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง เป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนให้โลกเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ในอนาคต หากผู้เล่นในธุรกิจนี้สามารถตอบโจทย์ในด้านคุณภาพและราคาได้ ก็นับเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับเวทีโลกในด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : Solar Power” อินเดีย “ต้นทุน” ต่ำสุดในโลก

view