สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความยากจนในภาคเกษตร

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

 

จาก ผลการศึกษาภาวะความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตร ปีเพาะปลูก 2551/52 โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 29 หรือประมาณ 7.211 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจน โดย ครัวเรือนเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มครัวเรือนยากจนมากที่สุด และเมื่อแบ่งระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรออกเป็น ระดับจนมาก จนน้อย และเกือบจน พบว่า ในจำนวนคนจนทั้งหมด อยู่ในระดับจนมากร้อยละ 21 และระดับจนน้อยร้อยละ 8 ของคนจนทั้งหมด ส่วนครัวเรือนที่เกือบจน ประมาณร้อยละ 9 ของครัวเรือนที่หลุดพ้นจากความยากจน (มีรายได้มากกว่าเส้นยากจน) คิดเป็นจำนวน 1.560  ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มประชากรเสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะความยากจนในอนาคต...
   
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก.กล่าวว่า  ถ้าแบ่งครัวเรือนเกษตรทั้งหมดออกเป็น 5 กลุ่ม สัดส่วนระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด (20% แรกที่จนสุด) มีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 3 กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด (20% สุดท้ายที่รวยสุด) มีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 58  ซึ่งแตกต่างกันถึง 18 เท่า แต่หากจำแนกรายได้ของครัวเรือนออกเป็นชั้นรายได้ 10 ชั้น พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ชั้นแรก ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นยากจน  ในขณะเดียวกันสัดส่วนครัวเรือนที่อยู่ในชั้นรายได้ดังกล่าวมีจำนวนลดลงอย่าง เห็นได้ชัด
   
“สำหรับสาเหตุปัญหาสำคัญของความยากจนในภาคเกษตรของไทย คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และการบริหารจัดการ ปัญหาเรื่องทุน และโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะที่ทำกิน การพัฒนาดิน และน้ำ ซึ่งยังพบว่าไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาราคาผลผลิต และตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยยังล่าช้า” นายอภิชาตกล่าว
   
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงเกษตรได้เน้นยึดหลักการ 4 ประการสำคัญ ประกอบด้วย เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ปัญญา เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังเน้นการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ (Skill Practice) เพื่อให้เกษตรกรรู้จักการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ โดยมีการทำกินในแปลงที่ดินที่จัดให้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้  เน้นการนำที่ดินที่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ (Land Reform) ในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรยากจน ควบคู่กับการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร ให้พึ่งพาช่วยเหลือกันในรูปสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน(Business Chain) สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดอันสามารถจะเชื่อมโยงไปสู่การส่งออกในรูปการทำ Contract Farming กับบริษัทเอกชน
   
นอกจากนี้การหาทางช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนเกษตรยากจนและเกือบจนเพื่อยกระดับ การดำรงชีพให้ดีขึ้น  แนวทางในการปรับปรุงคือ ขยายโอกาสทางด้านศึกษาให้กับครัวเรือนในภาคเกษตร สนับสนุนการใช้ที่ดินให้เต็มพื้นที่และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด  สนับสนุนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรที่ยากจนในฟาร์มขนาดเล็กควรเลือก ทำกิจกรรมฟาร์มให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีบางส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำ กิจกรรมฟาร์ม  เสริมสร้างกิจกรรมการผลิตนอกการเกษตรของครัวเรือนควบคู่ไปกับกิจกรรมฟาร์ม เพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม  เสริมสร้างระบบการจัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดการจัดการร่วมกันระหว่างชุมชน กับรัฐในการดูแลรักษา และในกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ยากจนควรเสริมกิจกรรมการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาตลาดเพื่อการบริโภคของครัวเรือน
   
ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

Tags : ความยากจนในภาคเกษตร

view