จาก โพสต์ทูเดย์
ต้องถือเป็นปีทองของเกษตรกรชาวนา สำหรับการปลูกข้าวนาปีที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
โดย...ทีมข่าวการเงิน
ต้องถือเป็นปีทองของเกษตรกรชาวนา สำหรับการปลูกข้าวนาปีที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทิ้งทวนมาตรการชุดใหญ่ให้ชาวนาแบบนันสต็อป เป็นของขวัญชิ้นโบแดงก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยหวังลึกๆ ว่าชาวนาที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ 5-6 ล้านครอบครัว จะเทใจอุ้มรัฐบาลนี้ให้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง
สำหรับมาตรการที่ให้ชาวนาเที่ยวนี้มากันเป็นแบบแพ็กเกจ ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร การประกันภัยพืชผล และสินเชื่อปุ๋ยดอกเบี้ยต่ำ แถมราคาถูก
ในส่วนของการประกันรายได้เกษตรกรที่ผ่านมาเดือน มี.ค. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคาประกันรายได้เกษตรกรอีก 500-1,000 บาทต่อตัน
แบ่งเป็นข้าวหอมปทุมธานีราคาจาก 1.1 หมื่นบาทต่อตัน เป็น 1.15 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเจ้า 1 หมื่นบาทต่อตัน เป็น 1.1 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวเหนียว 9,500 บาทต่อตัน เป็น 1.05 หมื่นบาทต่อตัน
การเพิ่มจำนวนเงินของการประกันราคาดังกล่าว ถือว่าเป็นการชิมลางเท่านั้น เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สัญญากับเกษตรกรล่วงหน้าอีกว่า การประกันรายได้เกษตรกรยังต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสู้ปัญหาราคาสินค้าแพง นั่นหมายความว่า หากเกษตรกรเทใจให้รัฐบาลกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง การได้ปรับเพิ่มราคาประกันรายได้ก็อยู่แค่เอื้อม
ในส่วนของการประกันภัยพืชผล ถือเป็นมาตรการใหม่ที่รัฐบาลผลักดันเพื่อลดภาระรายจ่ายให้กับเกษตรกรที่เกิด จากปัญหาภัยธรรมชาติ ที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น
แม้โครงการนี้จะเป็นแบบสมัครใจเพื่อลดแรงกดดันจากเกษตรกร แต่ประกันที่ว่าดีแสนดีไม่มีใครหน้าไหนเอาใจใส่ขนาดนี้แล้ว
ราคาค่าเบี้ยประกัน 130 บาทต่อไร่ เกษตรกรต้องจ่าย 60 บาทต่อไร่ รัฐบาลช่วยจ่ายสมทบให้ 70 บาทต่อไร่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรมาทำประกันภัยพืชผล ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะลดดอกเบี้ยสินเชื่อให้เกษตรกรที่กู้ไปปลูกข้าว 1% หมายความว่าเงินกู้ทุก 1 หมื่นบาท จะมีภาระดอกเบี้ยลดลง 100 บาท เงินที่ลดลงจากดอกเบี้ยนำไปชดเชยส่วนที่เกษตรกรควักกระเป๋าค่าเบี้ยได้อย่าง สบาย รับรองไม่มีหน้าไหนเข้าเนื้อ
ที่สำคัญเมื่อมีประกันภัยพืชผล ชาวนาเมื่อประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเจอภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดต่างๆ จากที่เคยได้ชดเชยจากกระทรวงเกษตรฯ แค่ไร่ละ 606 บาท จะได้เพิ่มเป็นไร่ละ 2,000 บาท โดยบริษัทประกันภัยจะจ่ายสมทบให้ทันที 1,400 บาท
งานนี้ถือว่ารัฐบาลพ่อมาร์คทำให้เกษตรกรได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เบี้ยไม่ต้องจ่ายแถมได้เงินประกันเพิ่ม ขณะที่รัฐบาลก็เบาตัวจากภาระความเสี่ยงและต้องจัดสรรงบกลางไปจ่ายแจกในแต่ละ ครั้ง
ในส่วนของประกันนั้น ทาง ธ.ก.ส. ยังมีของแถมให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคาร โดยจัดทำประกันสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายละ 1 แสนบาท โดยที่ธนาคารจะออกค่าเบี้ยประกันให้ทุกคนแบบฟรีๆ การประกันนี้ หากเกษตรกรเสียชีวิต ก็จะได้รับการยกหนี้ให้ 1 แสนบาททันที
ยังไม่หมด รัฐบาลยังมีมาตรการสินเชื่อปุ๋ยให้เกษตรผ่านความเห็นชอบจาก ครม. นัดสุดท้ายสดๆ ร้อนๆ เพราะจับจุดได้ว่า ต้นทุนซื้อปุ๋ยของเกษตรกรเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมาตลอด หากเข้าไปช่วยเกษตรกรในจุดนี้จะได้ใจจากเกษตรกรกลับมาอีกไม่ใช่น้อย
ว่าแล้ว ครม. ก็เห็นชอบวงเงินให้ปล่อยสินเชื่อเกษตรกรไปซื้อปุ๋ยราคาถูก 3 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อต้นทุนต่ำมากๆ เพราะ ธ.ก.ส. ได้ขอเงินชดเชยจาก ครม. ในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ไปแล้ว 3,000 ล้านบาท
เงินกู้ซื้อปุ๋ยชุดนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติแล้ว ยังมีลุ้นได้ราคาปุ๋ยราคาถูกอีกต่างหาก
ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับพ่อค้าปุ๋ยทั้ง หลายให้กำหนดเพดานปุ๋ยสูตรหลักๆ 5-6 สูตร ในแต่ละสูตรให้มีราคาเดียว เพื่อให้เกษตรกรทุกคนซื้อได้ในราคาถูกเหมือนกันทั่วประเทศ
งานนี้รัฐบาลใจป้ำชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกรอีก 1.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยเตรียมวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้เกษตรกรเป็นที่เรียบร้อย
เฉพาะในส่วนของมาตรการปุ๋ย เกษตรกรได้ถึง 3 เด้ง ได้ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ได้ปุ๋ยราคามาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ถูกพ่อค้าเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา แล้วยังได้เงินจากรัฐบาลชดเชยค่าปุ๋ยให้ถูกลงไปอีก
ขณะนี้รัฐบาลมุ่งมั่นกับมาตรการทั้งหมดเป็นอย่างมาก โดยทำเป็นแพ็กเกจเดียวแบบครบวงจรวันสต็อปเซอร์วิส โดยเกษตรกรที่ลงทะเบียนประกันรายได้การปลูกข้าวนาปีที่จะถึงนี้ ก็ขอทำประกันภัยพืชผล ขอสินเชื่อซื้อปุ๋ยได้ทันที
ในแง่ของรัฐบาลต้องถือว่าการยกเข่งขนมาตรการให้เกษตรกรเที่ยวนี้ เป็นการยิงเข้าตรงเป้า เข้ากล่องดวงใจชาวนาทั้ง 5-6 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ เป็นการให้รอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
เหลือแต่ลุ้นตอนเลือกตั้งเท่านั้นว่า มัดใจกันขนาดนี้ เกษตรกรทั้งหลายจะเทใจตอบแทนรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน