จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก : คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องโลจิสติกส์ในภาพรวม ว่ามีความสำคัญและเป็นจุดอ่อนของเมืองไทยเรา ที่ยังขาดความรู้ในด้านการจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราประมาณ 1 ใน 4 เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงต่ำลง และสู้ประเทศที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกันไม่ได้
หากใครเคยสังเกตในช่วงฤดูกาลตัดอ้อย คงจะเห็นรถบรรทุกอ้อยเต็มคันรถ แต่ขับสวนทางกัน ไม่ได้วิ่งไปทางเดียวกัน ก็เพราะว่าโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยอยู่คนละมุมกัน และต้องการอ้อยเข้าโรงงานเหมือนกัน จึงเกิดการส่งข้ามจังหวัดแบบที่เรียกว่าข้ามกันไปมา เพราะว่าขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
นั่นก็หมายความว่า ต้นทุนค่าขนส่งย่อมสูงขึ้นไปด้วย หากมีการจัดการที่ดี โดยการวางแผนอย่างเป็นระบบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
มีคำอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลจิสติกส์ นั่นก็คือคำว่า โซ่อุปทาน เพราะว่าการจัดการโซ่อุปทานเกี่ยวข้องกับการวางแผน และการจัดการทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จัดหา การผลิต และกิจกรรมที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดการโซ่อุปทานนี้จะรวมถึงการร่วมมือกันและทำงานร่วมกันตลอดช่องทางตั้งแต่ต้นจนถึงมือผู้บริโภค เพราะฉะนั้น การจัดการโลจิสติกส์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทาน ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การนำไปปฏิบัติ และการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สินค้ามีการเคลื่อนย้ายจากจุดเริ่มต้นหรือแหล่งผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภคที่ตรงตามความต้องการทั้งปริมาณ คุณภาพ และเวลาที่เหมาะสม
ลองดูตัวอย่างเรื่องการจัดการโซ่อุปทานยางพาราของประเทศไทย ซึ่งมีผู้ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะไว้คือ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ดร.เตือนใจ สมบูรณ์วิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้วิจัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าตอนนี้เมืองไทยมีพื้นที่ปลูกยางขยายไปยังจังหวัดในเขตภาคอีสานค่อนข้างมาก จากเดิมที่มีการปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก
ดังนั้น โรงงานแปรรูปยางพาราส่วนใหญ่จึงอยู่ในแถบภาคใต้กับตะวันออก เมื่อมีการปลูกยางในภาคอีสาน ซึ่งในภาคของการกำหนดนโยบายยังไม่ชัดเจน โรงงานที่เกี่ยวข้องจึงมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อผลผลิตที่เกิดขึ้น นั่นคือเมื่อกรีดยางได้แล้ว ก็ต้องส่งไปแปรรูปที่ภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ โดยมากยางที่ส่งจากภาคอีสานไปแปรรูปนั้น จะอยู่ในรูปของยางก้อนถ้วย แต่ก็มีบ้างที่เมื่อกรีดยางในภาคอีสานแล้ว ก็มีการแปรรูปเบื้องต้นบางส่วนก่อนส่งไปแปรรูปเพื่อส่งออกที่ภาคตะวันออก
จากตรงนี้เอง ก็คงเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตย่อมสูงแน่นอน นี่ยังดีที่ราคายางยังค่อนข้างสูงอยู่ จึงยังไม่ค่อยมีใครบ่นเรื่องนี้ แต่ก็ส่งผลให้ราคายางในตลาดยิ่งสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากต้นทุนการขนส่งและการจัดการค่อนข้างสูง ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ เริ่มหาทางเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น
ทว่า หากเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ความต้องการยางพาราก็จะลดน้อยลง และแน่นอนว่าต้องส่งผลถึงราคายางในอนาคต ที่จะต้องตกลงมาอย่างแน่นอน เรื่องการจัดการโซ่อุปทานในส่วนนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้
เรื่องการไหลผ่านของยางพาราจากแปลงปลูกไปยังโรงงาน มีขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเกิดขึ้นมาก
คราวหน้าจะให้ดูตัวเลขเหล่านี้ว่าน่าสนใจเพียงใด
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ