สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีการฟื้นฟูสวนยาง ที่ประสบอุทกภัย-วาตภัย ภาคใต้

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เทคโนฯการเกษตร

นวลศรี โชตินันทน์

วิธีการฟื้นฟูสวนยาง ที่ประสบอุทกภัย-วาตภัย ภาคใต้

จาก เหตุการณ์ที่เกิดอุทกภัย และวาตภัย พร้อมๆ กันในภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสวนยางพาราของเกษตรกรเสียหายเป็นจำนวนมาก คุณไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีคำแนะนำในการฟื้นฟูสวนยางที่เสียหาย

คุณไพโรจน์ สุวรรณจินดา กล่าวว่า อุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นพร้อมกันในภาคใต้เมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2553 นั้น ความเสียหายไม่ได้เกิดจากอุทกภัย เพราะน้ำที่ท่วมนั้นเป็นการท่วมอย่างกะทันหัน และไม่ได้ท่วมขังเป็นเวลานานเหมือนอย่างที่ท่วมในภาคกลางหรือภาคอีสานบาง แห่ง และถึงแม้จะท่วมเป็นเวลานานถึง 3-4 วัน ต้นยางก็สามารถทนอยู่ได้ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสวนยางในภาคใต้นั้น เกิดจากวาตภัยซึ่งเป็นพายุหมุน ทำให้ต้นยางโค่นล้มเป็นจำนวนมาก จากการออกสำรวจพบว่า ในหลายพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่างนั้นพบว่าที่ อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง อำเภอบางแก้ว อำเภอสะทิงพระ อำเภอระโนด ที่เกาะใหญ่ จังหวัดสงขลา ต้นยางเสียหายมากมาย บางแห่งเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์

ความเสียหายของต้นยางแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เสียหายอย่างสิ้นเชิง คือ ต้นยางโค่นล้มรากหลุดลอยออกมาจากพื้นดิน เสียหายอย่างแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องปลูกใหม่เพียงอย่างเดียว ตามระเบียบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ถ้าต้นยางล้มเสียหายเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรต้องปลูกใหม่ สำหรับในทางวิชาการแล้ว ยางที่มีอายุ 1-5 ปี ยังไม่ได้เปิดกรีด หรือต้นยางที่โดนพายุพัดล้มลงไป รากไม่หลุดลอยออกจากพื้นดิน อยู่ในสภาพล้มระนาบลงไปกับพื้นดิน เราได้แนะนำให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งส่วนยอดให้โปร่ง เพื่อให้น้ำหนักเบาลง แล้วดึงต้นขึ้นมาให้อยู่ในแนวตรง พยุงด้วยไม้ค้ำยัน 2 อัน มัดกับลำต้นยางให้แน่น ให้ต้นยางคงอยู่ในสภาพเดิม เหยียบดินโคนต้นให้แน่น ประมาณ 5-6 เดือน ต้นยางก็จะแตกใบใหม่ ไม่ต้องปลูกใหม่ให้เสียเวลา

"เรา ได้เคยทำงานทดลองมาแล้วเมื่อครั้งเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ ต้นยางสามารถตั้งตัวได้ภายใน 7-8 เดือน แต่กรณีที่โค่นล้มขนาดรากลอยหลุดจากพื้นดินแก้ไขอะไรไม่ได้ เกษตรกรต้องขอความอนุเคราะห์จาก สกย. เพื่อปลูกยางใหม่ ถึงอย่างไรก็อยากจะแนะนำว่า ถ้าสามารถกู้ต้นยางได้ ก็ควรทำในวิธีดังกล่าว" คุณไพโรจน์ แนะนำ

เมื่อกู้ต้นยางขึ้นมาแล้ว และเมื่อน้ำในสวนยางแห้งดีแล้ว เกษตรกรต้องบำรุงดินก่อนโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ช่วย ทั้งนี้เนื่องจากน้ำบ่ามาเร็วมาก หน้าดินได้ถูกชะล้างเอาธาตุอาหารออกไปหมด เมื่อรากแข็งแรงดีแล้ว ต้นยางเริ่มแตกใบให้ใส่ปุ๋ยเคมีตาม

จังหวัดสตูลไม่เสียหาย

เพราะปลูกป่าทำแนวกันลม (wind break)


จาก การที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 จังหวัดสงขลา ออกสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่จังหวัดสตูล พบว่า ต้นยางของเกษตรกรไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเกษตรกรที่ปลูกยางบริเวณที่ราบเชิงเขา สร้างกลุ่มขึ้นมาจัดทำแนวกันลม หรือ wind break เฝ้าระวังมิให้มีการบุกรุกทำลายป่า นอกจากนั้นยังช่วยกันปลูกป่าเป็นแนวกันลม เพื่อป้องกันลมมิให้มากระทบต้นยาง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติฝนตกลงมาอย่างรุนแรง รากของไม้ป่าหรือไม้ยืนต้นยังจะช่วยซับน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา มิให้ไหลเร็วจนเกินไป จะได้ไม่ทำความเสียหายให้กับต้นยางของเกษตรกร และบ้านเรือนของประชาชน

"การรวมกลุ่มกันป้องกันดูแลรักษาป่าไม่ให้ ปลูกยางรุกล้ำขึ้นไปบนภูเขา โดยช่วยกันสร้างแนวกันลมซึ่งอาจจะปลูกไม้สักหรือไม้ยืนต้น เช่น ไม้ประดู่ หรือไม้ที่กรมป่าไม้เพาะไว้เพื่อให้ราษฎรนำไปปลูก ไม้ยืนต้นเหล่านี้ถึงแม้จะโตช้า ต่อไปจะเป็นไม้เศรษฐกิจที่จะตัดขายได้ และยังจะเป็นประโยชน์กับชาวสวนยางไปชั่วลูกชั่วหลาน" คุณไพโรจน์ กล่าว

ปลูกยางในพื้นที่ที่เคยทำนา น่าเป็นห่วง

การ ปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ที่เคยทำนา เนื่องจากยางมีราคาดี เกษตรกรจึงเลิกทำนาแล้วหันมาปลูกยางพาราแทน ถ้าปลูกยางในที่นาลุ่ม เมื่อฝนตกลงมามีน้ำท่วมขัง ต้นยางแช่น้ำไว้นานๆ รากของต้นยางจะหยั่งลึกลงไปถึงระดับน้ำใต้ดิน แต่ในที่นาน้ำใต้ดินตื้น ต้นยางจะชะงักงันไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่เกษตรกรจะเลิกทำนาหันมาปลูกยางพารา

คุณ ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ถ้านำพื้นที่นามาปลูกพืชอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา หรือปลูกพืชน้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน ต่อไปคนไทยอาจจะต้องสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ ประเทศไทยเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ ถ้าเรามีการวางแผนที่ดี ทำการเกษตรที่เหมาะสม แบ่งสัดส่วนระหว่างพืชอุตสาหกรรม พืชพลังงาน กับพืชอาหาร เราอาจจะเป็นมหาอำนาจได้ พื้นที่นาที่เป็นนาดอน จะปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมันก็ได้ คนไทยยังบริโภคข้าวเป็นหลักและข้าวยังราคาดีอยู่ ถ้าเกษตรกรมีความอดทน จัดระบบการปลูกดี ใช้พันธุ์ข้าวที่ดีก็ควรจะเก็บพื้นที่ทำนาไว้ปลูกข้าว

"ถ้า วันหนึ่งวันใดเราต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศกิน วันนั้นเราจะรู้ว่าเราได้เสียความเป็นไทย เสียชื่อเกษตรกรไทย" คุณไพโรจน์ แสดงความเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 ในเรื่องของการฟื้นฟูสวนยางและการปลูกสร้างสวนยางใหม่ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะตัดสินใจว่า ควรจะปลูกยางด้วยวิธีการใด หรือสอบถามไปที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา โทร. (074) 586-753, (074) 445-905 โทรสาร (074) 586-753, (074) 445-907

Tags : วิธีการฟื้นฟูสวนยาง ประสบอุทกภัย วาตภัย ภาคใต้

view