สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำต้มสมุนไพร กำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุน ที่ ชัยนาท

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เทคโนโลยีการเกษตร

ชัด ขำเอี่ยม chinchainat@hotmail.com

น้ำต้มสมุนไพร กำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุน ที่ ชัยนาท

กำไร จากการทำนาของเกษตรกรเกิดความแตกต่าง เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการของเกษตรกร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันกำจัด ศัตรูพืชสูงมาก บางรายอาจมีต้นทุนสูงมากกว่า 5,000 บาท/ไร่

ใน ขณะที่เกษตรกรบางส่วนได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและ วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานตามที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ แบบโรงเรียนเกษตรกรจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สอดคล้องกับคำที่กล่าวว่า "เพียงเปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน"

เกษตรกรนิยมใช้สารเคมี เพราะยังคงติดกับการแข่งขันการทำนาที่ตัดสินกันด้วยปริมาณผลผลิตที่ได้รับ ต่างจากเกษตรกรบางส่วนที่มีต้นทุนต่ำ ตัดสินผลลัพธ์ความสำเร็จของการทำนาด้วยกำไร ด้วยการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์เพื่อใช้ในการป้องกันและกำจัดโรค-แมลง ศัตรูพืชได้ดีไม่แพ้สารเคมี อย่างประหยัด และปลอดภัย ไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การใช้สมุนไพรในการเกษตร น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

คุณสัมฤทธิ์ ไม่ยาก เกษตรกรทำนา วัย 57 ปี บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 11 ตำบลนางลือ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ได้ทำนาข้าว 28 ไร่ มานานแล้ว ตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ แต่พบว่ายิ่งทำนา ยิ่งมีต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากแมลงศัตรูพืชดื้อยา "สร้างภูมิต้านทานต่อสารเคมี บางครั้งสารเคมี 3-4 ชนิด ผสมกันฉีดพ่น แต่ไม่สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ จึงได้ศึกษาการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานตามกระบวนการโรงเรียน เกษตรกรร่วมกับเพื่อนเกษตรกรในกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารพิษ จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองชัยนาท สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท และศูนย์บริหารศัตรูพืชชัยนาท

จากการประยุกต์ ใช้องค์ความรู้ ตั้งแต่การเตรียมดินด้วยลดการเผาตอซังและฟางข้าว หมักด้วยน้ำหมักชีวภาพ อัตราเมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ-ตัวเบียน) ด้วยการใช้สารสมุนไพร ผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจ เพราะต้นทุนการผลิตในปีที่ผ่านมาประมาณ 3,200 บาท/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตประมาณ 850 กิโลกรัม/ไร่ รอดพ้นจากการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยน้ำสมุนไพรต้ม แต่ต้องพ่นซ้ำบ่อยๆ คือ 7-10 วัน/ครั้ง ในขณะที่เพื่อนเกษตรกรบางส่วนใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่ผลผลิตเสียหายอย่างน่าเสียดาย

การทำน้ำต้มสมุนไพรไม่ยุ่งยากนัก เตรียมวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น คือ ใบน้อยหน่า หรือ ใบน้อยโหน่ง ใบต้นรัก สาบเสือ เถามะระขี้นก อย่างละ 1 กิโลกรัม และใบสะเดา 5 กิโลกรัม ส่วนผสมสมุนไพรแต่ละชนิดมีทั้งสารที่เป็นอันตรายต่อแมลงศัตรูพืช ทำลายตัวอ่อน ตัวแก่ และไข่ อีกทั้งกลิ่นที่แรงไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้าในแปลงนา แต่ไม่เป็นอันตรายต่อแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช (ตัวห้ำและตัวเบียน)

เมื่อได้สมุนไพรดังกล่าวแล้ว นำมาสับให้แหลกละเอียด นำไปใส่ในถังก่อนเทน้ำส้มสายชู 5% และเหล้าขาว อย่างละ 1 ขวด เทลงไปคนให้ทั่ว ปิดฝาทิ้งไว้ อย่างน้อย 5 ชั่วโมง เทลงปี๊บเติมน้ำให้เต็ม นำไปต้มด้วยไฟกลาง จนน้ำเดือดทิ้งไว้รอจนน้ำเหลือครึ่งปี๊บ ทิ้งให้เย็นนำไปกรอง ควรใช้ให้หมด แต่ถ้าจะเก็บควรเก็บในที่เย็นๆ ไม่ควรเก็บนานเกินไป อัตราส่วนที่ใช้ 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน

เวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่นคือ เวลาเช้าหรือเวลาเย็น แดดไม่ร้อนมากนัก เพื่อป้องกันการสลายตัวของสารสมุนไพร สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้เป็นที่น่าพอใจ ไม่แพ้สารเคมีที่มีราคาแพง ในขณะที่น้ำต้มสมุนไพรมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เหล้าขาว น้ำส้มสายชู และค่าก๊าซสำหรับต้มเท่านั้น ซึ่งสามารถผสมน้ำฉีดพ่นได้หลายพันลิตร นำไปฉีดพ่นในพื้นที่นาหลายไร่

การใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันและ กำจัดศัตรูพืชนั้น เกษตรกรต้องมีความมั่นใจ แต่ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ลองทำก่อน อย่าเพิ่งปฏิเสธ แต่ขอให้ศึกษารายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรที่ทำ แล้วประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถทำนาให้ได้กำไรงาม ไม่ต้องรอให้ขายข้าวได้ราคาเป็นหมื่นบาท เพราะถ้าลงทุนในอัตรา 3,200 บาท ผลผลิตข้าว 800 กิโลกรัม/ไร่ นั่นหมายถึง มีต้นทุนที่ 4 บาท/กิโลกรัม ถ้าราคาข้าวเพียง 6 บาท/กิโลกรัม ก็จะมีกำไรที่ 2 บาท/กิโลกรัม หรือ 1,600 บาท/ไร่

คุณวีระศักดิ์ อัตถะไพศาล เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมถึงการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยการจัดตั้งศูนย์ จัดการศัตรูพืชชุมชนที่กระจายอยู่ในพื้นที่

ศูนย์จัดการศัตรูพืช ชุมชน เป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านการจัดการศัตรูพืชของเกษตรกรและ ชุมชน โดยจัดทำแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช ใช้เป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เรื่องระบบนิเวศในแปลงนา โดยมีการเก็บข้อมูลศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม นำมาจำแนก วิเคราะห์ และตัดสินใจร่วมกันของแกนนำและสมาชิกที่ร่วมกันเรียนรู้ และเลือกวิธีควบคุมศัตรูพืชได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการผลิตขยายจุลินทรีย์ และศัตรูธรรมชาติได้ด้วยตนเอง โดยมีกลไกท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ เกษตรกร องค์กรท้องถิ่น และภาครัฐ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชอยู่หลายส่วน เช่น ส่วนกลาง ได้แก่ ส่วนบริหารศัตรูพืช สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์บริหารศัตรูพืช สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต และสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งการใช้สารสมุนไพร สารชีวภัณฑ์ ไม่ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ เป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ช่วยให้ธรรมชาติสมดุล ไม่มีศัตรูพืชระบาด ประหยัด เพราะวัสดุส่วนใหญ่มีอยู่ในท้องถิ่น

ติดต่อสอบถามข้อมูล ได้ที่ คุณชัด ขำเอี่ยม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7ว สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท หมู่ที่ 2 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท 17000 โทร. (056) 421-512 โทรสาร (056) 421-513

Tags : น้ำต้มสมุนไพร กำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุน ชัยนาท

view