สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สาเหตุมะพร้าวขาดแคลน และแนวทางแก้ไข

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา ta-nu-pong@hotmail.com

สาเหตุมะพร้าวขาดแคลน และแนวทางแก้ไข

"15 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเนื้อที่ใช้สำหรับปลูกมะพร้าวประมาณ 2.5 ล้านไร่ ต่อมาระยะหลัง เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารามากขึ้น จึงมีการโค่นมะพร้าวทิ้งไป จนปัจจุบันเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 1.49 ล้านไร่"





"อยากให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่มีปริมาณ ฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และยังรักที่จะปลูกมะพร้าวอยู่ กลับมาเร่งบำรุงรักษาต้นมะพร้าว โดยเริ่มใส่ปุ๋ยก่อนหมดฝน โดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นอกจากนั้นแล้ว ก่อนเข้าฤดูแล้งให้หาเศษวัสดุทางธรรมชาติ พวกหญ้ามาคลุมดินไว้เพื่อป้องกันความชื้นระเหย"



จาก สถานการณ์ปัญหามะพร้าวขาดแคลนจนทำให้เกิดความเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน แม่ค้าขายข้าวแกง ขายขนม ร้านอาหารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ไปจนการส่งออก จากนั้นตามมาด้วยการปรับราคามะพร้าว ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคกันอย่างทั่วหน้า

สำหรับ ในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อาจารย์สมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความเห็นว่า การขาดแคลนมะพร้าวในขณะนี้ เป็นผลมาจากในปัจจุบันพื้นที่การปลูกมะพร้าวลดลงอันเนื่องมาจากเกษตรกรหันไป ปลูกปาล์มและยางพาราที่ให้ราคาดีกว่า อีกทั้งปัญหาจากภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต นอกจากนั้นแล้ว ภัยแล้งยังเป็นต้นเหตุของแมลงศัตรูพืช อันได้แก่ แมลงหนอนหัวดำมะพร้าว และแมลงดำหนามมะพร้าว ที่ระบาดเข้าทำลายต้นมะพร้าว และที่สำคัญเกษตรกรที่ยังปลูกมะพร้าวอยู่เป็นอาชีพขาดการดูแลเอาใจใส่ การบำรุงรักษาต้นมะพร้าวจนทำให้ผลผลิตลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวทั้งใน ด้านการให้คำแนะนำการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดไปถึงการเร่งเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น

"หากย้อนกลับไปเมื่อ ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเนื้อที่ใช้สำหรับปลูกมะพร้าวประมาณ 2.5 ล้านไร่ ต่อมาระยะหลังเกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารามากขึ้น จึงมีการโค่นมะพร้าวทิ้งไป จนปัจจุบันเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 1.49 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ปลูก ส่วนพื้นที่ที่ให้ผลผลิตประมาณ 1.48 ล้านไร่ หายไปประมาณเกือบ 1 ล้านไร่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ มะพร้าวมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายที่มีอาชีพเพื่อการปลูกมะพร้าวเป็นอาชีพหลักเริ่มสนใจและ เอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษามะพร้าวกัน จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำการดูแลบำรุงรักษา มะพร้าวอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยให้ผลผลิตเพิ่มเร็วขึ้นกว่าเดิม" อาจารย์สมชาย กล่าว

อีกประการคือ ในขณะนี้โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศที่แปรปรวน จนบางครั้งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับแมลงที่จะระบาดและเพิ่มจำนวนประชากร มากขึ้น โดยปกติแมลงบางตัวจะไม่ทำลาย แต่พอสภาพแวดล้อมเกิดความเหมาะสม เช่น อากาศร้อนและแล้งมาก จะส่งผลให้จำนวนประชากรแมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น แมลงหนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายต้นมะพร้าวเสียหายเป็นจำนวนมากซึ่งขณะนี้ยัง ไม่มีตัวแตนเบียนที่สำหรับใช้ปราบได้

ก่อนหน้านี้มีแมลงที่เข้า มาระบาดก่อนแล้วคือ แมลงดำหนามมะพร้าว เป็นแมลงที่ระบาดอยู่ในประเทศเวียดนาม ได้มาระบาดในแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการด้วยการนำแตนเบียน มาเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างศัตรูในธรรมชาติ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้ตัวแตนเบียนมีอายุสั้นบ้าง ตายไปบ้าง ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดความสมดุลในธรรมชาติ ส่งผลให้แมลงหนอนหัวดำมะพร้าวเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำลายมะพร้าวเสียหาย ทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลง และอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้ปริมาณมะพร้าวลดลง เพราะโดยธรรมชาติของมะพร้าวแล้ว ถ้าปีใดให้ผลผลิตมาก ในปีถัดไปผลผลิตจะลดลง

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ปริมาณมะพร้าวลดลงอันเนื่องมาจาก

1. เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน

2. เกษตรกรขาดการดูแลเอาใจใส่ต้นมะพร้าวอย่างจริงจังและถูกต้องจนทำให้ผลผลิตลดลง

3. สภาพแวดล้อมการแปรปรวนของอากาศทำให้มะพร้าวลดจำนวนผลผลิตลง และ

4. แมลงศัตรูมะพร้าว

อย่าง ไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมา ปริมาณมะพร้าวได้ลดลงไปจำนวน 6 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ผลผลิตไม่พอเพียงต่อการบริโภคที่มีสัดส่วนต่างๆ อันได้แก่ การนำมาใช้ในครัวเรือนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ มีการนำมาสกัดเป็นน้ำมันประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในการผลิตกะทิสำเร็จรูปที่ส่งไปต่างประเทศประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

แต่ทั้งนี้จากการรณรงค์และส่งเสริมให้มีการบริโภคน้ำมัน มะพร้าว ตลอดจนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ จึงทำให้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น เพราะต้องนำมะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต และเกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ราคาต่อลิตรมีราคา 300-350 บาท ดีกว่าการขายแบบลูกเหมือนอย่างที่ผ่านมาที่ขายเป็นมะพร้าวแห้ง แล้วนำมาสกัดเป็นน้ำมันเพื่อใช้ในครัวเรือน



ความเสียหายจากแมลงศัตรูพืช

ขณะนี้เกิดขึ้นที่ใดบ้าง?


หนัก มากที่สุดคือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 4.5 แสนไร่ และเกษตรกรในพื้นที่ก็ไม่นิยมปลูกพืชชนิดอื่นเลย ได้รับความเสียหายเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอทับสะแก ทั้งนี้เพราะมีสภาพแวดล้อมและดินที่เหมาะสมกับการปลูกมะพร้าว



พื้นที่สำหรับปลูกมะพร้าวมีเท่าไร

และเสียหายเท่าไร


จาก ข้อมูลมีเนื้อที่ปลูกมะพร้าวอยู่ 1.49 ล้านไร่ ส่วนมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอมมีประมาณ 3 แสนกว่าไร่ ส่วนใหญ่แมลงศัตรูพืชจะทำลายมะพร้าวแก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อำเภอทับสะแก ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ถ้าปลูกแบบเป็นร่องที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง และไม่ขาดแคลนเรื่องน้ำแล้ว จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการระบาดของแมลงศัตรูพืช อย่างเช่น แถวสมุทรสงคราม หรือหลายแห่งบริเวณที่ปลูกลักษณะสวนยกร่อง เช่น แถวบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการปลูกแบบยกร่องเหมือนแถวสมุทรสงคราม

"แต่หากปลูกพื้นที่ห่าง ไกลน้ำและมีความแห้งแล้งยาวนานมากก็มักจะพบแมลงศัตรูพืชระบาด จะพบเห็นยอดใบมีสีน้ำตาล ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคหัวหงอก" ที่จริงถูกทำลายโดยแมลงดำหนามมะพร้าว ถ้าหากใบมะพร้าวถูกแมลงตัวนี้ทำลายติดต่อกันตั้งแต่ 6 ใบขึ้นไป ก็จะทำให้มะพร้าวต้นนั้นยืนต้นตาย สำหรับแมลงหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นแมลงตัวใหม่นี้ที่สร้างความเสียหายอย่าง รุนแรง ทำให้มะพร้าวยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก" อาจารย์สมชาย กล่าว



แนวทางการปราบแมลงศัตรูพืช

กรม วิชาการเกษตร จะผลิตตัวพ่อ-แม่แตนเบียนส่งให้กับกรมส่งเสริมการเกษตรให้ไปขยายผลต่อ สำหรับการปราบแมลงดำหนามมะพร้าว ส่วนแมลงหนอนหัวดำมะพร้าว ทางสำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จะนำตัวแตนเบียนจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ประเทศอินเดียได้ประสบปัญหาการระบาดของแมลงหนอนหัวดำมะพร้าวและมี ประสบการณ์สามารถปราบแมลงดังกล่าวได้สำเร็จมาแล้ว



จากสภาพที่มะพร้าวขาดแคลนในตลาด

มีแนวทางแก้ไขอย่างไร?


ใน เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายว่า จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่ยังคงปลูกมะพร้าวอยู่ทำการบำรุงรักษา โดยจะไปจัดทำแปลงสาธิตการดูแลบำรุงรักษามะพร้าว เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากมีการใส่ปัจจัยการผลิตเข้าไปจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้ หรือเกษตรกรบางรายที่ปลูกมะพร้าวอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ จะแนะนำให้ปลูกพืชแซมเข้าไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลต้นมะพร้าวให้มีความสมบูรณ์พร้อมได้รับประโยชน์ที่เป็นผล จากการดูแลพืชที่ปลูกแซมด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากพืชที่ปลูกแซม พร้อมกับการดูแลมะพร้าวในคราวเดียว สำหรับจังหวัดที่มีโครงการทำ ได้แก่ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ในการนี้ได้เตรียมของบประมาณเร่งด่วนจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อดำเนินการ จัดการต่อไป

"กรมวิชาการเกษตรจะเร่งทำโครงการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวใน ระยะเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มหน่อพันธุ์ดีที่เกษตรกรมีความต้องการให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มีการดูแลบำรุงรักษาสวนแม่พันธุ์ที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และที่ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ใช้เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวลูกผสม และทำแปลงสาธิตการบำรุงรักษาเพื่อเพิ่มผลผลิตมะพร้าวในแหล่งปลูกมะพร้าวใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

นอกจากนั้น หากเกษตรกรที่ยังคงมีความต้องการที่จะปลูกมะพร้าวเพิ่มอีก และมีความต้องการจะได้พันธุ์ที่ดีของกรมวิชาการเกษตร จะได้มีการส่งเสริมในการเร่งรัดเพื่อเพิ่มปริมาณของมะพร้าวพันธุ์ที่ดีให้ มากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร คาดว่าอีก 2 ปี น่าจะช่วยเกษตรกรได้ และจะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

แต่ หลักใหญ่ๆ แล้วอยากให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยการหมั่นดูแลบำรุงรักษาใส่ปุ๋ย ดูแลการจัดการในสวนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จัดหาน้ำให้พอเพียง อย่าขาดน้ำนาน" นักวิชาการ แนะนำ



ชาวสวนมะพร้าวควรช่วยเหลือตัวเองอย่างไรก่อน

สำหรับ ในแหล่งที่มีความพร้อมที่จะนำปัจจัยเข้าไปบำรุงรักษา ควรเริ่มต้นโดยการใส่ปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำคือ สูตร 13-13-21 ในมะพร้าวแก่ ปีละ 4 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือในช่วงต้นฤดูฝน และก่อนสิ้นฤดูฝน พร้อมกับควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์สักปีละครั้งในปริมาณ 25 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี นอกจากนั้น ควรมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้

"จำนวน มะพร้าวมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการตกของฝนในแต่ละปี ค่าเฉลี่ยของน้ำฝนที่ตกแต่ละปี กล่าวคือ ถ้าปีใดฝนตกดี ไม่มีแล้งเลย ผลผลิตในปีต่อมาจะมาก มะพร้าวต้องการน้ำมากในช่วงแล้ง ถ้ากระทบแล้งมากเท่าไรจนทิ้งใบเหลือไม่กี่ใบแล้ว ผลผลิตจะลดลงติดต่อกันถึง 2 ปี

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการเตรียมการก่อนเข้าฤดูแล้ง เช่น การให้ปุ๋ย นำวัสดุทางธรรมชาติไปคลุมดินไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นในดินระเหยไป มีการไถดินเพื่อตัดการระเหยของน้ำ"

อาจารย์สมชายให้รายละเอียดต่ออีก ว่า หากใส่ปุ๋ยตามที่กำหนดแล้ว หากเป็นมะพร้าวพันธุ์ใหญ่ซึ่งเป็นพันธุ์ไทยต้นสูง ที่เป็นพันธุ์เศรษฐกิจและมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างดีจะให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ ปีที่ 5-6 และสามารถเก็บผลผลิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อมีอายุ 12 ปี หลังจากนั้น ผลผลิตจะคงที่ หากไม่มีการดูแลเอาใจใส่ผลผลิตจะลดลง แต่ถ้าดูแลเอาใจใส่อย่างดีจะให้ผลผลิตคงที่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังจากนั้น ผลผลิตก็จะลดลง จึงควรโค่นต้นมะพร้าวนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไป

หาก ขาดการดูแล ผลผลิตจะตกต่ำประมาณ 19-20 ผล ต่อต้น ต่อปี แต่ถ้ามีการให้ปุ๋ยและดูแลเป็นอย่างดีตลอดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และปริมาณเนื้อมะพร้าวแห้งต่อผลจะเพิ่มขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์



สภาวะน้ำท่วมทางภาคใต้

ส่งผลกระทบต่อต้นมะพร้าวหรือไม่?


ถ้า เป็นมะพร้าวที่มีอายุมากคงไม่กระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว นอกจากมะพร้าวที่ไม่มีลำต้นเหนือพ้นน้ำอาจตายได้ เพราะเมื่อลำต้นพ้นน้ำแล้ว ยอดสังเคราะห์แสงได้ ลำต้นยังหายใจได้ เนื่องจากมะพร้าวมีรากอากาศจึงมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ แต่หากอยู่ในสภาพแช่น้ำนาน 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่กระทบต่อผลผลิต ในทางกลับกันอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำเพราะพาตะกอนมาทับถม

อนึ่ง พื้นที่มีผลกระทบอาจเป็นที่อำเภอทับสะแก ถ้าฝนตกหนักและเป็นเวลานาน เพราะดินมีลักษณะอ่อนเนื่องจากเป็นดินร่วนปนทราย รากที่ยึดจะแฉะน้ำและยึดเกาะไม่ได้จะล้ม

อาจารย์สมชายยังให้ความเห็น ต่อราคามะพร้าวที่สูงอยู่ขณะนี้ว่า ตอนนี้ราคาโดยเฉลี่ยลูกละ 25 บาท มะพร้าวขูด กิโลกรัมละ 45-80 บาท แล้วแต่พื้นที่ สถานการณ์ตอนนี้ชาวสวนมะพร้าวไม่ต้องทำอะไร มีคนมาเก็บที่สวน มะพร้าวลูกเล็กๆ ยังมีราคา 12 บาท

เมื่อถามว่าในอนาคตจะเกิดปัญหา ลักษณะเช่นนี้อีกหรือไม่ นักวิชาการท่านเดิมแสดงความเห็นต่ออีกว่า ต้องดูเรื่องราคาก่อนว่าจะต่ำลงมากแค่ไหน เหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมาคือลูกละ 1-2 บาท เพราะหากราคาไม่ต่ำเกินไปจนสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรที่มีแหล่งปลูก มะพร้าวอยู่จะหันมาเอาใจใส่ดูแลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนอย่างรุนแรงก็คงไม่เกิดขึ้น และราคาคงไม่ถึงลูกละ 25 บาท อย่างในขณะนี้

"ทั้งนี้ ไม่อยากให้ต่ำกว่าลูกละ 6 บาท เพราะคุณภาพของมะพร้าวไทยเมื่อมาทำเป็นกะทิจะมีรสชาติหอมอร่อยกว่ามะพร้าว ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม อยากให้ช่วยกันสนับสนุนมะพร้าวไทย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรช่วยพยุงราคาเมื่อของดีก็ควรมีการกำหนดราคาเพื่อให้สมน้ำสม เนื้อสักหน่อย" อาจารย์สมชาย ให้ความเห็น



ถ้าปลูกพืชเสริม

แล้วจะได้ประโยชน์สองต่อ


อาจารย์ สมชายกล่าวถึงปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวว่า อย่างที่อำเภอทับสะแก มะพร้าวมีต้นสูง การปราบแมลงศัตรูพืชที่ทำโดยเกษตรกรคงลำบาก เพราะต้องปีนขึ้นไปตัดใบที่เสียหายทิ้งซึ่งเป็นการสร้างภาระที่ยุ่งยากและ ลำบากกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นคงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำไม่ได้

อย่าง ไรก็ตาม ทางกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยผ่านกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นการร่วมมือกัน ทำเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และมีกลุ่มเกษตรกรที่มาเข้าร่วมโครงการและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เป้าหมายคือการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ไทยพื้นเมืองให้เกษตรกรปลูก มะพร้าวเพิ่มครอบครัวละอย่างน้อย 15 ต้น ปลูกพืชอาหาร และเลี้ยงสัตว์เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ มะพร้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าว เช่น การทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ สบู่ โลชั่น และหัตถกรรมกะลามะพร้าว เป็นต้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวมีรายได้สูงขึ้น โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถเป็นต้นแบบในการขยายผลไปดำเนินในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในกลุ่ม อื่นๆ ต่อไปได้

เป้าหมายในอนาคตคือ การเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุน โดยให้ชาวบ้านร่วมมือกันจัดการนำน้ำขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อบรรเทาปัญหาในช่วง ฤดูแล้ง อีกทั้งยังสามารถปลูกพืชชนิดอื่นแซมระหว่างแถวมะพร้าวได้ เพราะเมื่อมะพร้าวสูงขึ้น แสงแดดจะส่องผ่านลงมายังพื้นดินทำให้พืชที่ปลูกแซมด้านล่างได้รับประโยชน์

นอก จากนั้นแล้ว ขณะที่มีการรดน้ำ พืชที่แซมด้านล่างมะพร้าวก็จะได้รับประโยชน์จากน้ำนั้นเช่นกัน ดังนั้น นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากพืชที่ปลูกเสริมแล้ว มะพร้าวที่ปลูกอยู่ยังได้ทั้งคุณภาพและปริมาณตามมาอีกด้วย นับเป็นการได้ประโยชน์ถึงสองต่อ

"อยากให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่มี ปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และยังรักที่จะปลูกมะพร้าวอยู่ กลับมาเร่งบำรุงรักษาต้นมะพร้าว โดยเริ่มใส่ปุ๋ยก่อนหมดฝน โดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นอกจากนั้นแล้ว ก่อนเข้าฤดูแล้งให้หาเศษวัสดุทางธรรมชาติ พวกหญ้ามาคลุมดินไว้เพื่อป้องกันความชื้นระเหย

แต่ถ้าเกษตรกรบางแห่ง ที่พอมีแหล่งน้ำ ขอให้รดน้ำมะพร้าวเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มะพร้าวโทรม จะได้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะให้ผลผลิตในฤดูฝนที่จะมาถึงในคราวต่อไป

ส่วน ราคามะพร้าวคาดว่านับจากนี้ราคาคงไม่ต่ำกว่าที่เคยเป็น พร้อมกับขอร้องผู้ประกอบการให้ช่วยกันพยุงราคาเพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้ เกษตรกรโค่นต้นมะพร้าวเพื่อปลูกพืชอื่นแทน" อาจารย์สมชาย กล่าวในที่สุด

แน่ นอนเมื่อเกิดปัญหามะพร้าวขาดแคลนและมีราคาแพงแล้ว ได้ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวได้รับผลกระทบ อย่าง คุณชินวัฒน์ ศรีสุข เจ้าของกิจการกะเทาะ-ขูดมะพร้าว ที่จำหน่ายทั้งปลีกและส่งย่านถนนโชคชัย 4 ได้เปิดเผยภายหลังได้รับผลกระทบจากมะพร้าวขาดแคลนว่า ปัญหามะพร้าวแพงเริ่มเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2553 จนมาถึงขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอย่างมาก ตอนนี้หาซื้อมะพร้าวลูกยากมาก ทำให้ต้องปรับราคาขึ้นไปอีกมาก ขณะเดียวกัน ลูกค้าทั้งที่เป็นแม่ค้าและแม่บ้าน ต่างลดปริมาณการทำอาหารที่ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบน้อยลง จึงทำให้เขาต้องลดจำนวนการสั่งมะพร้าวลงด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการเน่าเสีย

"เคยเกิดปัญหา มะพร้าวแพงมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2538 คราวนั้นมะพร้าวลูกละ 21 บาท ก็เดือดร้อนมาแล้ว แต่คราวนี้ลูกละ 27 บาท เดือดร้อนหนักมาก ได้ไปคุยกับเจ้าของสวนมะพร้าวทราบว่า เกิดจากปีที่แล้วแล้งมาก จึงทำให้ด้วงเจาะยอดมะพร้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก และบางแห่งโค่นมะพร้าวทิ้งแล้วปลูกปาล์มแทน แต่สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องดูในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ก่อน" เจ้าของกิจการมะพร้าวบอก

หรือ แม้แต่ คุณกุลวดี ดำรงพิพัฒน์ เจ้าของร้านขายปลีก ย่านโชคชัย 4 ที่จำหน่ายมะพร้าวกล่องยังได้บอกว่า ก่อนหน้านี้มีมาบ้าง ขาดหายไปบ้าง แต่ต่อมาขาดหายไปกว่า 2 เดือนแล้ว และก่อนที่จะขาดตลาดได้มีการปรับราคาขึ้นเล็กน้อย สำหรับลูกค้าหาซื้อไม่ได้ก็เดือดร้อนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ค้าขายอาหารและขายขนม บางส่วนที่เป็นแม่บ้านหันไปใช้นมสดแทน ส่วนแม่ค้าก็ไปใช้กะทิสดกัน แต่ทั้งนี้ได้มีการปรับรายการอาหารโดยทำอาหารที่ต้องใช้กะทิน้อยลง

สอบ ถามเพิ่มเติมเรื่องมะพร้าวได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-0583 และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โทร. (077) 556-073-4

Tags : สาเหตุมะพร้าวขาดแคลน แนวทางแก้ไข

view