สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรยุคใหม่ - งานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา

เกษตรยุคใหม่ - งานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา (1)

คมชัดลึก : เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งปฐมฤกษ์ ซึ่งจัดโดยหน่วยงานต่างๆ 9 หน่วยงานร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อว่า "ขับเคลื่อนงานวิจัยข้าวไทยสู่นวัตกรรม" ในการประชุมครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษ และการเสวนาหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือการเสวนาเรื่องงานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา ซึ่งมีวิทยากร 3 คน ได้แก่
ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผมได้ร่วมเสวนาด้วย ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ดร.อภิชาติ ซึ่งอดีตเคยเป็นอธิบดีกรมการข้าวคนแรกของกรมการข้าวยุคใหม่ มีหลายเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ จึงได้ขอนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ

 เริ่มแรกเลยก็เป็นเรื่องของความเป็นมาในอดีตหรือว่าเส้นทางของข้าวไทย ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเหตุแห่งปัญหาว่าทำไมชาวนาจึงยังคงยากจนอยู่ ถึงแม้ราคาข้าวจะสูงขึ้นก็ตาม อย่างแรกที่มีการพูดถึงก็คือความสำคัญของข้าวสำหรับ ประเทศไทยตั้งแต่อดีต จัดว่าอยู่ในลำดับต้นของประเทศ ดูได้จากการตั้งกระทรวงในอดีตยุคแรกที่มีอยู่ 4 กระทรวงหลักคือ เวียง วัง คลัง นา นั่นก็หมายความว่านาเป็นเรื่องสำคัญระดับกระทรวงเทียบเท่ากับเรื่องอื่น แต่ว่าต่อมามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จากกระทรวงลดลงเหลือเป็นกองการข้าวในกรมเกษตร แล้วจึงมาเป็นกรมการข้าวอยู่ได้อีก 19 ปี ก็ถูกลดระดับเปลี่ยนมาเป็นสถาบันวิจัยข้าว อยู่ภายใต้กรมวิชาการเกษตร จนกระทั่งเมื่อปี 2549 มีการยกระดับกลับขึ้นมาเป็นกรมการข้าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีก

 ข้าวไทยเคยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประกวดระดับโลกในต่างประเทศ ข้าวไทยก็เคยได้รับรางวัลมาหลายครั้งเริ่มตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว แต่ที่เด่นมากคือในปี 2475 ซึ่งข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วและข้าวพื้น เมืองได้กวาดรางวัลทั้งที่ 1 ถึง 3 และรางวัลอื่นๆ อีก 8 รางวัล รวมเป็น 11 รางวัลจากการประกวดที่ประเทศแคนาดา จนกระทั่งในปัจจุบัน ข้าวไทยก็เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก อย่างเช่นข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งคนไทยเคยชินกับชื่อว่าข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

 ประเทศคู่แข่งของเราอย่างเช่นฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ในภูมิภาคนี้เช่นกัน ก็มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะแข่งเอาชนะไทยให้ได้ในเรื่องข้าว อย่างเช่นฟิลิปปินส์เคยประกาศไว้เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วว่าจะเป็นคู่แข่งของไทยให้ได้ในเรื่องข้าว ซี่งความจริงฟิลิปปินส์ก็มีข้อได้เปรียบตรงที่ว่ามีสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติหรือ IRRI ตั้งอยู่ที่นั่น แต่ว่าถึงวันนี้ กลายเป็นว่าฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าข้าวจาก ประเทศต่างๆ เป็นอันดับหนึ่งของโลกแทน โดยต้องนำเข้ากว่าปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนนำเข้าจากไทย แต่ว่าส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม เพราะว่าได้ราคาถูกกว่า

 ส่วนเวียดนามซึ่งประกาศไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วว่าจะเอาชนะไทยให้ได้ภายใน 3 ปีในเรื่องการส่งออกข้าว คือต้องการขึ้นมายืนอันดับหนึ่งของโลกแทนประเทศไทย ถึงแม้ว่าในวันนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ว่าเมื่อดูจากตัวเลขการส่งออกข้าวแล้ว ปรากฏว่ากำลังไล่ไทยมาติดๆ ดังนั้นเวียดนามจึงน่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย ซึ่งเราคงต้องมองว่าทำอย่างไรจึงจะรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับหนึ่งไว้ได้ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม มีข้อน่าคิดคือ เราควรรักษาอันดับการส่งออกข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ไว้อย่างนี้ หรือว่าควรสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอื่น ๆ ซึ่งส่งออกในปริมาณน้อยกว่า แต่อาจได้มูลค่ามากกว่าเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไปครับ !

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ


งานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา (2)

คมชัดลึก : คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเสวนาเรื่อง งานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา ซึ่งได้เชิญ ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดและความเห็นที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติความเป็นมาและความยิ่งใหญ่ของข้าวไทยในสายตาของชาว โลก ซึ่งได้ให้รายละเอียดไปบ้างแล้วในสัปดาห์ก่อน วันนี้จะมาเล่าต่อให้เห็นถึงพัฒนาการงานวิจัยข้าวไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน
 ความจริงการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยเริ่มต้นก็มีพื้นฐานมาจากการจัดการประกวดพันธุ์ข้าว โดยจัดครั้งแรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี 2451 และมีการจัดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ความจริงเรื่องการประกวดนั้นก็มีข้อดีและเป็นทางลัดทางหนึ่งในการคัดเลือก พันธุ์ข้าวดีๆ มายกย่องและขยายพันธุ์กันต่อไป จนกระทั่งปี 2460 จึงได้มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนกระทั่งในปี 2495 จึงเริ่มมีโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยในช่วงนั้นก็ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

 ตั้งแต่นั้นมาก็มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นมากคือ เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทำให้ได้ข้าวที่ใช้รหัสว่า กข. หรือ “กรมการข้าว” ออกมาหลายเบอร์และใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวที่รวบรวมและอนุรักษ์ไว้ในเมืองไทยทั้งสิ้นกว่า 24,000 ตัวอย่าง โดยประมาณ 2 ใน 3 เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง สำหรับพันธุ์ข้าวเด่นๆ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 เหลืองปะทิว 123 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 และสังข์หยดพัทลุง เป็นต้น

 พัฒนาการของข้าวไทยในช่วงแรกคือ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการขุดคลองรังสิต ทำให้สามารถปลูกข้าวได้มากขึ้นในย่านนั้น และการที่มีการประกวดพันธุ์ข้าวหลายครั้ง ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ดีขึ้นมาใช้แพร่หลายมากขึ้น ส่วนระยะหลังมีการพัฒนาเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้เกิดระบบชลประทานที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ ไม่ไวแสง จึงเกิดการทำนานอกฤดูหรือนาปรังได้ ผลจากการพัฒนาเหล่านี้ก็คือ ทำให้เราสามารถทำนาปรังได้มากขึ้น จนถึงขั้นที่ว่า 2 ปีทำนาได้ 5 ครั้ง ส่งผลให้ผลผลิตรวมเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเราสามารถส่งออกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะว่าเรามีงานวิจัยและมีการพัฒนาระบบชลประทานที่ดี

 อย่างไรก็ตาม ระบบชลประทานที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่หรือ 3 ใน 4 อยู่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งดินปลูกในบางพื้นที่เช่นภาคอีสาน มีความสมบูรณ์ต่ำ ประกอบกับการใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองอย่างเช่น ขาวดอกมะลิ 105 จึงทำให้ภาพโดยรวมแล้ว ผลผลิตข้าวต่อไร่จะต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างเช่นเวียดนาม ดังนั้นหากจะทำให้เราสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ก็คงต้องมีการพัฒนาพันธุ์ พัฒนากระบวนการปลูก และระบบชลประทานให้มากขึ้น

 ที่สำคัญมากกว่าเรื่องของผลผลิตต่อไร่ต่ำก็คือ ถึงแม้ราคาข้าวจะ สูงขึ้น แต่ชาวนาส่วนใหญ่ก็ยังยากจนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน สาเหตุใหญ่ก็คือระบบชลประทานของประเทศที่ภาคอีสานมีน้อยที่สุด จึงปลูกได้โดยอาศัยน้ำฝนหรือปีละครั้งเท่านั้น เนื้อที่นาของแต่ละรายมีน้อยและกำไรต่อไร่ก็ต่ำ จึงมีรายได้ไม่เพียงพอ อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่สามารถเก็บไว้รอราคาได้ เพราะว่าไม่มียุ้งฉาง และด้วยเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ องค์กรชาวนายังไม่เข้มแข็ง ซึ่งเรื่องความไม่เข้มแข็งนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนเป็นห่วง เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนโดยตรงครับ

รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ


เกษตรยุคใหม่-งานวิจัยข้าวไทยกับชาวนา (3)

คมชัดลึก :เรื่อง ข้าวเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย มีเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่สามารถเล่าให้จบได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งวันนี้ก็ได้นำส่วนหนึ่งมาจากผลการเสวนาในงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งปฐมฤกษ์เมื่อกลางเดือนที่แล้ว
โดย ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย เป็นผู้ร่วมเสวนาด้วยมาขยายความต่อ วันนี้อยากเล่าต่อเกี่ยวกับงานวิจัยข้าวไทย ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวนาไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เรื่อง การปลูกข้าวของชาวนา ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ต่ำจนกระทั่งเป็นที่เข้าใจกันโดยตลอดว่าชาวนามักจะยากจน แต่ว่าทำไมจึงยังต้องปลูกข้าวกันอยู่ เหตุผลหลักก็คือว่าคนไทยเราต้องกินข้าวเกือบทุกมื้อ

เพราะว่าข้าวเป็นวัฒนธรรมประจำชาติมาตั้งแต่โบราณ และข้อสำคัญคือสภาพพื้นที่หลายแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้ แต่ว่าความที่ชาวนามักจะถูกมองว่ายากจน จึงทำให้อาชีพนี้ค่อยๆ ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วราคาที่ดินก็สูงขึ้นมากเพราะถูกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ตรงนี้เองที่หลายคนเป็นห่วงว่าต่อไปในอนาคตเราอาจต้องซื้อข้าวต่างชาติมากิน สิ่งที่ต้องช่วยกันพัฒนาต่อไปก็คือทำอย่างไรให้ชาวนามีความมั่นคงในอาชีพและ ชีวิต สามารถอยู่ได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่มีหนี้สินและจมอยู่กับความยากจนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความจริงโจทย์ข้อนี้เป็นเรื่องยาก และมีหลายอย่างที่ประกอบกัน แม้แต่ตัวของชาวนาเองก็ตาม ที่จะต้องรู้จักตนเองและต้องแสวงหาความรู้มาช่วยในการทำนา ไม่ได้หมายความว่าภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่เป็นของไม่ดี แต่ว่าวิทยาการสมัยใหม่หลายอย่างสามารถนำเข้ามาใช้ร่วมกันได้อย่างผสมกลม กลืน และก่อให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

ความจริงเรื่องของข้าวไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะชาวนาเท่านั้น แต่ว่ามีผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ ตั้งแต่โรงสีไปจนถึงผู้แปรรูปและพ่อค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และที่สำคัญคือ ไม่ใช่ว่าแต่ละฝ่ายจะได้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว หากเป็นเช่นนี้ทั้งระบบก็อยู่ไม่ได้ การวิจัยก็เช่นกัน คงต้องมองมิติเหล่านี้อย่างสมดุล เช่นหากจะวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ให้เกษตรกรพอใจ เช่นปลูกง่าย โตเร็ว ผลผลิตสูง ก็ต้องมองด้วยว่าผู้บริโภคจะชอบในคุณภาพของข้าวนั้นหรือไม่ ทางด้านโรงสีเองก็คงต้องการข้าวที่ผู้บริโภคต้องการแบะเมื่อนำมาสีแล้วก็ ต้องมีกำไร เช่นข้าวหักน้อย ตลาดต้องการมาก เป็นต้น หากงานวิจัยมุ่งที่การพัฒนาพันธุ์ที่มีผลผลิตสูงเพียงอย่างเดียวแต่รสชาติ ไม่ได้เรื่อง ถึงจะผลิตออกมาก็ขายไม่ได้ จริงอยู่ชาวนาอาจจะชอบ แต่ทั้งผู้บริโภคและโรงสีคงไม่ตอบรับด้วย ในที่สุดก็พัฒนาต่อไปไม่ได้ ดังนั้นบรรดานักวิจัยทั้งหลายที่จะทำการวิจัยก็คงต้องพยายามหาโจทย์ให้ ชัดเจน และมีการร่วมคิดจากหลายฝ่าย หากได้คนเหล่านี้มาร่วมทำด้วยก็ยิ่งดี ผลที่ได้จะได้ตรงตามความต้องการของทุกฝ่าย และมีผู้นำไปใช้ประโยชน์รอรับอยู่

ประเด็นหลักๆ ที่ค่อนข้างใหญ่และเป็นโจทย์สำหรับนักวิจัยทั้งหลายก็มีเรื่องของการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือที่เรารู้กันอยู่ในเรื่องของสภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลหลายอย่างต่อการทำนาแน่นอน เพียงแต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนกับปัญหาน้ำท่วม แต่หากไม่มีการเตรียมการรองรับ จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างแน่นอน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการทำนาก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการระบาดของโรคและแมลง แต่ว่าเรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องระดับนโยบายและควรต้องได้รับความสนใจคือ ประเทศที่นำเข้าข้าวจากต่างประเทศหลายแห่ง กำลังกำหนดนโยบายเพื่อการพึ่งพาตนเองมากขึ้น หมายความว่าพยายามตั้งเป้าหมายลดการสั่งซื้อข้าวจากเรา เรื่องนี้เราจะมีการเตรียมการรองรับอย่างไรเมื่อผลผลิตข้าวของไทยเพิ่มมาก ขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปแต่กลับหาตลาดรองรับไม่ได้ครับ

Tags : เกษตรยุคใหม่ งานวิจัย ข้าวไทย ชาวนา

view