สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตรอเบอรี่-ลิลลี่-ทิวลิป ปลูกได้ ที่บ้านไร่ อุทัยธานี

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

สตรอเบอรี่-ลิลลี่-ทิวลิป ปลูกได้ ที่บ้านไร่ อุทัยธานี

อุทัยธานี เป็นจังหวัดในภาคกลาง ที่ไม่ค่อยได้ไปทำข่าวสักเท่าไหร่ เรียกว่าเป็นทางผ่านเสียมากกว่า แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้ไปยังอำเภอบ้านไร่ โดยมี คุณสุรชัย ศรีพลอย ผอ.ททท. อุทัยธานี เป็นคนอำนวยความสะดวกพาไปแหล่งท่องเที่ยวและจุดเด่นๆ ของเมืองนี้ ซึ่งในช่วงหน้าหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ทางจังหวัดอุทัยธานีภูมิใจนำเสนอโครงการไม้เมืองหนาว ที่ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 73 บ้านอีมาดอีทราย ตำบลแก่นมะกรูด อันเป็นเนินเขาและภูเขาน้อยใหญ่เรียงรายกันอยู่ โดยแปลงทดลองปลูกไม้เมืองหนาวนั้น มีทั้งดอกทิวลิป ดอกลิลลี่ กะหล่ำปลี และสตรอเบอรี่ ฯลฯ ปีนี้ปลูกเป็นปีที่ 4 แล้ว

ช่วงที่ผ่านมามี นักท่องเที่ยวแวะเวียนไปชมโครงการไม้เมืองหนาวและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจำนวน มาก โดยเฉพาะในวันหยุดเทศกาลและวันเสาร์-อาทิตย์ และหลายคนต่างประหลาดใจ ไม่คิดว่าที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จะสามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้เช่นเดียวกับบนดอยในภาคเหนือ อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย

โชคดีวันที่ไปแม้จะเป็นวันหยุด สุดสัปดาห์ แต่ คุณวิโรจน์ เหล่าเกษตรวิทย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ผู้รับผิดชอบโครงการไม้เมืองหนาว ยังอยู่ในแปลงทดลอง เลยได้สนทนาเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างละเอียด

คุณวิโรจน์ บอกว่า จุดที่ปลูกแปลงทดลองไม้เมืองหนาว อยู่สูงจากน้ำระดับทะเล 700 เมตร ส่วนยอดเขาสูงที่เห็นอยู่ไกลๆ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร เรียกว่า เขาพะอุย อากาศจะเย็นมาก ในอนาคตคิดว่าจะนำสตรอเบอรี่ไปขยายพันธุ์เพาะกล้าบนยอดเขาที่ว่า เพราะการปลูกกล้าต้นสตรอเบอรี่ต้องอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1,000 กว่าเมตรขึ้นไป ทุกวันนี้ใช้วิธีสั่งซื้อต้นกล้าจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระยะทางขนส่งไกลและต้องระมัดระวังมาก

หลายคน อาจสงสัยว่า อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทำไม สามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้ ประเด็นนี้คุณวิโรจน์แจกแจงว่า สาเหตุที่อำเภอบ้านไร่ในพื้นที่บ้านอีมาดอีทราย ตำบลแก่นมะกรูด ปลูกไม้เมืองหนาวได้ เพราะสภาพอากาศให้ คืออุณหภูมิช่วงกลางวันกับกลางคืนไม่แตกต่างกันมาก โดยตอนกลางวันช่วงฤดูหนาวแตกต่างกันไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส กลางวันอุณหภูมิอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส กลางคืนประมาณ 15-18 องศาเซลเซียส เหมาะกับการปลูกพืชผักเมืองหนาว

ครั้งแรกนั้นคุณวิโรจน์และทีมงานไม่ ได้ปลูกดอกไม้เมืองหนาวและสตรอเบอรี่ แต่เริ่มจากผักเมืองหนาวก่อน อาทิ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ ฟักทองญี่ปุ่น โดยของบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ มาดำเนินการ พร้อมกับรวมกลุ่มชาวบ้าน ประมาณ 15 คน นำพืชผักที่ว่ามาทดลองปลูก ตอนหลังนำสตรอเบอรี่จากสะเมิงมาปลูก ประมาณ 10 ต้น ปรากฏว่าได้ผลดี ต่อมาก็ส่งเสริมปลูกเพิ่มอีกประมาณ 2,000 ต้น ล่าสุด ปี 2553 ก็ได้งบประมาณมาปลูกอีก ประมาณ 15,000 ต้น

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่คุณวิโรจน์ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่นี้ปลูกไม้ เมืองหนาว เพราะอยากให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเลิกทำไร่ข้าวโพด เลื่อนลอย อันเป็นการทำลายป่าและแหล่งต้นน้ำลำธารที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนศรีนครินทร์ ทั้งยังเกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอีกด้วย

"พวก ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เด็กอายุประมาณ 14-15 ปี จะแต่งงานแล้ว เมื่อแต่งงานต้องแยกที่ทำกิน เขาก็จะบุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ เรื่องสารเคมีก็มีปัญหาเข้ามามาก ในช่วงฤดูฝนถ้าน้ำไหลบ่าเข้ามา ต้นข้าวโพดจะหักล้มเสียหาย ต้องใช้งบประมาณราชการเข้ามาช่วยเหลือปีละหลายล้านบาท อย่างปีนี้ใช้เกือบ 2 ล้านบาท แต่ถ้าเขาปลูกผักจะใช้พื้นที่น้อย เช่น ปลูกสตรอเบอรี่ ปลูกผักหรือไม้ผล หรือยางพารา ก็ใช้พื้นที่น้อยเช่นกัน แต่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น กะหล่ำปลี หรือสตรอเบอรี่ ไร่หนึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับทำข้าวโพดก็ประมาณ 40-50 ไร่ แต่ในจำนวน 1 ไร่ ทำสตรอเบอรี่จะมีรายได้ถึง 400,000 บาท ทำไร่ข้าวโพดต้องใช้ 40-50 ไร่ จึงจะมีรายได้ 400,000-500,000 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการทำลายป่าแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้อีกด้วย" คุณวิโรจน์ บอก

ด้วย รายได้ที่มากถึงหลักแสนในการใช้เวลาปลูกไม่กี่เดือน ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งคุณวิโรจน์เคยพาไปศึกษาดูงานการปลูกไม้เมืองหนาวที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่างตอบรับและให้ความสนใจปลูกกันมาก ประกอบกับระยะหลังทางจังหวัดเห็นความสำคัญ ให้งบประมาณมาเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านบาท ทำให้โครงการปลูกไม้เมืองหนาวของที่นี่มีแนวโน้มสดใสและถือเป็นสิ่งเชิดหน้า ชูตาของเมือง

"การปลูกสตรอเบอรี่ ชาวบ้านสนใจเยอะครับ แต่ยังขาดงบประมาณเข้าไปส่งเสริม เพราะต้นพันธุ์ที่ซื้อจากอำเภอสะเมิงแม้จะไม่แพง แต่การขนส่งเข้ามาถึงที่นี่ลำบากมาก ต้นพันธุ์ ต้นละ 2.50 บาท แต่ต้องเสียค่าขนส่งที่ต้องไปนำมาจากยอดดอยบนสะเมิงที่ยอดเขาสูงระดับ 1,300 เมตร ดังนั้น ผมอยากได้ลาหรือม้าแล้วขนขึ้นไปบนยอดดอยแล้วเราไปเพาะพันธุ์ข้างบนนั้นเอง จะทำให้ต้นทุนต่ำลง" คุณวิโรจน์ เล่า

วันที่ไปแปลงทดลอง ในเนื้อที่ 1 ไร่ นั้น มีลูกสตรอเบอรี่ออกไม่มากนัก เพราะเพิ่งเก็บชุดแรกไป เลยได้ชิมไม่กี่ลูก แต่บอกได้ว่ารสชาติไม่แตกต่างจากสตรอเบอรี่ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงราย เลย ซึ่งคุณวิโรจน์เองก็ย้ำว่า คุณภาพสตรอเบอรี่ที่นี่ไม่แพ้ที่ไหน ซ้ำยังมีจุดเด่นอีกต่างหาก

"ถ้าเปรียบเทียบสตรอเบอรี่ที่นี่กับของ เชียงใหม่ คุณภาพไม่แตกต่างกัน มั่นใจได้ว่าของเราในแปลงทดลองกับที่ชาวบ้านปลูกควบคุมโดยใช้จุลินทรีย์ ไม่มีสารเคมีแน่นอน ถ้าเทียบกับเชียงใหม่แล้วเชียงใหม่น่ากลัวกว่า ปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องของโรคมาก แต่ของเราใช้จุลินทรีย์เข้ามาควบคุม ปัญหาจะน้อย แต่ถ้าใช้สารเคมีมันจะดื้อยา" คุณวิโรจน์ บอก

นอกจากคุณภาพและรสชาติจะไม่แตกต่างจากสเตรอเบอรี่ภาคเหนือแล้ว ผลผลิตต่อไร่และราคาขายก็อยู่ในระดับเดียวกัน

"ที่ นี่ถ้าเปรียบเทียบต่อไร่แล้ว ผลผลิตจะอยู่ที่ ประมาณ 1-1.2 ตัน ขายได้กิโลละ 200 บาท ฤดูการปลูกเริ่มตั้งแต่กันยายน พอถึงพฤศจิกายนแสงจะสั้น จะเข้าหน้าหนาวก็จะออกดอก จะติดลูกชุดแรก ประมาณ 15 พฤศจิกายน จะเก็บได้ไปจนถึงเดือนเมษายน ช่วงวันสั้นยังอยู่ ปลายมีนาคมพอเข้าช่วงวันแสงยาว สตรอเบอรี่จะไม่ออกดอกแล้ว แต่ต้นยังคงอยู่ได้ตลอด ขนาดลูกชุดแรกๆ จะเล็กหน่อย รุ่นหลังๆ อยู่ที่ 25-30 ลูก ต่อกิโลกรัม ถ้าเทียบกับทางเชียงใหม่ก็ลูกใหญ่ไม่แพ้กัน แต่ทางเชียงใหม่จะปลูกได้ไร่ละ 1.5 ตัน รายได้ 300,000-400,000 บาท ต่อไร่ ส่วนของเราได้ไร่ละ 200,000 บาท" คุณวิโรจน์ ยืนยัน

ถามว่า ช่วงไหนของการปลูกที่ต้องระมัดระวังหรือดูแลเป็นพิเศษ

คุณ วิโรจน์ ตอบว่า "ช่วงที่ขนส่งจากสะเมิงมาบนดอยที่นี่เป็นระยะทางไกลมาก ต้นมันช้ำ ช่วงแรกต้องดูแลอย่างดี มาถึงต้องรีบปลูกให้เสร็จ โดยจะปรับปรุงดินไว้รอ ใช้พวกแกลบ วัสดุปรับปรุงดิน ปุ๋ยคอก โดโลไมท์ คลุกเคล้าดินให้เข้ากันแล้วก็รีบปลูกให้เสร็จภายใน 3 วัน หลังจากนำสตรอเบอรี่มาจากเชียงใหม่

ส่วนการดูแลรักษาก็ไม่มีอะไรมาก เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเพลี้ย เรื่องโรค เรื่องแมลง เรื่องโรคอย่างที่ปลูกมาประมาณ 2 เดือน ก็ฉีดสารเคมีกำจัดเชื้อราไป 2 ครั้ง ฉีดที่ใบ เพราะฝนตกหนัก หน้าฝนจะมีปัญหาหน่อย ก็ใช้สารเคมีบ้าง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีฝนตกหนัก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเลย อย่างปีที่แล้วแทบจะไม่ใช้สารเคมีเลย จะมีช่วงทำให้ลูกมีความหวานก็ใช้ปุ๋ยเร่งความหวานหน่อย แต่เมื่อทำออกมาแล้วหวานจัด กินแล้วเลี่ยนคนไม่ชอบ ขณะที่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติอยู่กับดินรสชาติจะดีกว่า แล้วมีกลิ่นหอมไม่แพ้ทางอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่อ่างขางเนื้อสตรอเบอรี่ยังเละ ส่วนที่นี่เนื้อไม่เละเพราะคุมน้ำอยู่ คือช่วงออกผลผลิตช่วงลูกใกล้สุก จะหยุดให้น้ำเลย จะทำให้เนื้อแข็ง แล้วก็รสชาติดี"

อย่างที่บอก วันที่ไปอันเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น สตรอเบอรี่ส่วนใหญ่เพิ่งออกลูกยังเล็กและเป็นสีเขียว แต่ถ้าไปตอนช่วงกลางเดือนธันวาคมลูกจะสุกแดงเต็มที่ ซึ่งนับตั้งแต่ปลูกสตรอเบอรี่มา คุณวิโรจน์ บอกว่า มีออเดอร์ตลอด ประมาณว่าออกไม่ทันขายเลยทีเดียว และตอนนี้มีชาวกะเหรี่ยงปลูกสตรอเบอรี่ 5 ราย แต่ละรายปลูกในเนื้อที่ 1 งาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 จะมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสตรอเบอรี่อีก 20 ราย นอกจากนี้ ยังมีปลูกต้นอะโวกาโดอีกด้วย โดยในปีนี้ต้นหนึ่งขายได้ต้นละ 3,000 กว่าบาท ถ้าใครมี 2 ต้น ก็ถือว่ามีรายได้พอประมาณ

การที่พื้นที่ในตำบล แก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ปลูกไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ได้นั้น ทำเอาพ่อค้าแม่ขายชอบอกชอบใจกันใหญ่ และอยากให้ทางเกษตรส่งเสริมเต็มที่ เพราะพ่อค้าสามารถจะรับซื้อได้ทั้งหมด แม้จะปลูก 100-1,000 ไร่ ก็ตาม เพราะสะดวกต่อการขนส่งไปกรุงเทพฯ ที่จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง ผลผลิตก็จะไม่ช้ำ อย่างไม้ดอกลิลลี่ ถ้าใช้เวลาขนส่ง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ถือว่ายังสดอยู่

ในวันที่ไปนั้นทางเจ้าหน้าที่แจงว่า ดอกลิลลี่โรยไปบ้าง เพราะปลูกและออกดอกมาสักพักแล้ว แต่ก็มีบางส่วนดอกยังบานสะพรั่งให้ได้ถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก ซึ่งทางคุณวิโรจน์บอกว่า เช็คดูแล้วคุณภาพไม่แพ้ทางเชียงราย ทั้งในเรื่องความหนาของดอก ความใหญ่ของดอก ลักษณะก้าน และลักษณะต้น เพราะภูมิอากาศเหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ กับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานี และทางจังหวัด ยังมีโครงการส่งเสริมชาวบ้านปลูกชา กาแฟ และไม้ผลเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นสาลี่ อะโวกาโด บ๊วย และมะคาเดเมียนัท เพราะพื้นที่นี้ทดลองแล้วสามารถปลูกได้ อย่างสาลี่ก็ออกดอก มะคาเดเมียนัทก็มีลูก ผลไม้อีกชนิดที่อยู่ในช่วงทดลองปลูกอยู่คือ ต้นพลับ และในปีหน้าจะมีการอบรม ผู้สนใจปลูกไม้เมืองหนาวหมู่บ้านละ 10 คน โดยที่นี่มี 4 หมู่ ที่ล้วนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อยู่ในตำบลแก่นมะกรูด

สำหรับ การปลูกไม้ดอกเมืองหนาวอย่างลิลลี่ และทิวลิปนั้น คุณวิโรจน์ ระบุว่า เป็นการปลูกเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมเสียมากกว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มุ่งหวังการขายแต่อย่างใด เป็นการเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในปี 2554 โดยคนรุ่นหนุ่มสาวสนใจดอกลิลลี่มาก นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดอุทัยธานีที่นำไม้เมืองหนาวชนิดนี้มาปลูก

คุณ วิโรจน์ บอกอีกว่า นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่จะถามว่า นำสายพันธุ์ดอกลิลลี่มาจากไหน ใช้อะไรปลูก ปลูกใช้ระยะเวลากี่วัน ปลูกแล้วดอกจะบานอยู่กี่วัน อย่างพวกดอกมีกลิ่นหอมจะปลูกยากไหม ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอธิบายไปว่า ใช้เวลาปลูกแค่ 40 วัน ถึงจะออกดอก

สนใจ อยากจะไปเที่ยวชมความงามของดอกทิวลิป และลิลลี่ หรืออยากจะชิมสตรอเบอรี่ปลอดสารของตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โทร.ไปสอบถาม คุณวิโรจน์ ได้ ที่ (083) 036-0943, (085) 731-765 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ โทร. (056) 539-117

Tags : สตรอเบอรี่ ลิลลี่ ทิวลิป บ้านไร่ อุทัยธานี

view