สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดแนวคิดเกษตรแผนใหม่ ปลูกผักยกแคร่ สร้าง คลีนฟาร์ม ผักปลอดสารพิษ

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

มนตรี แสนสุข

เปิดแนวคิดเกษตรแผนใหม่ ปลูกผักยกแคร่ สร้าง "คลีนฟาร์ม" ผักปลอดสารพิษ

การ ทำเกษตรที่ดี จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ และกลวิธีในการดำเนินงานอยู่เสมอ เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไหลเลื่อนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่สิ่งดีๆ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จตลอดเวลา เกษตรแผนใหม่แนวความคิดใหม่ๆ ของพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ จึงมีความสำคัญต่อการปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำเกษตรของตนเองเป็นอย่างมาก

อาจารย์ วีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หลังจากเกษียณอายุราชการก็ผันตัวเองเข้าสู่ภาคเกษตร จับงานการปลูกผักตามความใฝ่ฝันที่ต้องการจะทำแปลงผักที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแท้จริง เพื่อเป็นโมเดลสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจได้นำไปประยุกต์ทำกัน ผู้บริโภคจะได้บริโภคผักที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีมากขึ้น โดยการสร้าง "คลีนฟาร์ม" เป็นแปลงปลูกผักที่ได้มาตรฐาน GAP ผลิตผักปลอดภัยจากสารเคมีสู่ผู้บริโภค ประการสำคัญคือ กลวิธีการปลูกผักที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน นั่นก็คือ ปลูกผักบนกระบะปลูก หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "แคร่" ทำโรงเรือนมุงหลังคา คล้ายผักกางมุ้ง แต่ไม่ใช่ผักกางมุ้ง เพราะวางระบบต่างๆ ให้ผักที่ปลูกในโรงเรือนเจริญเติบโตได้ดีและมีคุณภาพ

อาจารย์วีระ ศักดิ์ กล่าวว่า สร้าง "คลีนฟาร์ม" ปลูกผักบนแคร่มา 4 ปีแล้ว เริ่มทำมาก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ รักการทำเกษตรตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว พอโตขึ้นได้ทำงานก็ยังสนใจงานการเกษตรตลอดเวลา มีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานเกษตรที่ใด ก็ให้ความสนใจเก็บความรู้สั่งสมไว้เรื่อยมา

สมัยที่เป็นเลขาฯ กรมอาชีวศึกษา ได้ดูแลวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ก็ให้ความสำคัญกับงานเกษตรมาตลอด พอเกษียณอายุราชการก็อยากจะเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ จึงมาทำแปลงปลูกผัก ใช้ชื่อว่า "คลีนฟาร์ม" อยู่ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี แห่งนี้

"ผม เคยไปทำงานทางภาคใต้ เห็นคนใต้ชอบทานผัก แต่เป็นการทานยอดผัก ส่วนใหญ่จะเป็นผักพื้นบ้านเสียมากกว่า ประเภทผักใบ พวกผักกาด ผักคะน้า ผักสลัดนั้นไม่มีเลย"

อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวและว่า เคยถามเกษตรกรว่า ทำไม ไม่ปลูกผักใบรับประทานกัน ก็ได้รับคำตอบว่า

"ปลูกไม่ได้ ภาคใต้ฝนตกชุก ผักเสียหายหมด"

อาจารย์ วีระศักดิ์ บอกว่า ตรงนี้เป็นการจุดประกายในความคิด และเป็นประเด็นปัญหาเรื่อยมาว่า "ทำไม ถึงปลูกผักหน้าฝนไม่ได้" พอมีเวลาว่างก็ศึกษาหาความรู้ หาคำตอบที่ค้างคาใจ ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวที่จะเป็นเกษตรกรหลังเกษียณอายุราชการ

ครั้น เมื่อเกษียณอายุราชการมีเวลาว่างมาก จึงเริ่มทำเกษตรอย่างจริงๆ จังๆ ลงมือทำ "คลีนฟาร์ม" วัตถุประสงค์ต้องการผลิตผักดี มีคุณภาพปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ดูว่ามีเกษตรกรปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ มากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่ามีเกษตรกรปลูกผักปลอดสารจริงๆ น้อยมาก มีฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP ผลิตผักปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้างเพียงไม่กี่ราย ตลาดผักปลอดภัยจากสารพิษยังมีอีกมาก จากการสำรวจพบว่ามีผู้ต้องการบริโภคผักปลอดภัยสารพิษมากมาย แต่ปริมาณผักปลอดสารพิษนั้นมีน้อย ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงคิดเข้าสู่ธุรกิจผักปลอดภัยจากสารพิษ

อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อตกลงใจเข้าสู่ธุรกิจการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ จึงเลือกเอาทำเลในเขตพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ประมาณ 80 ไร่ ทำเป็นฟาร์มปลูกผักขึ้นมา วัตถุประสงค์ต้องการทำฟาร์มปลูกผักให้ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน GAP ที่ทางการกำหนดไว้ และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรที่คิดจะปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษส่งเสริมให้ มีการปลูกผักที่ได้คุณภาพ เพื่อผู้บริโภคจะได้หันมาบริโภคผักเพื่อสุขภาพมากขึ้น

การปลูกผัก ปลอดภัยจากสารพิษของ "คลีนฟาร์ม" เริ่มจากการคิดดัดแปลงธรรมชาติ โดยการเอาพลาสติคมาทำหลังคาโรงเรือน ตัวโรงเรือนมุงด้วยมุ้งล้อมรอบ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ต้องการปลูกผักในหน้าฝนให้ได้

อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า พอคิดมาถึงตรงนี้ ก็คิดต่อเสริมให้ครบวงจรคือเมื่อทำหลังคาแล้ว ทำมุ้งแล้ว ก็ต้องดูอุณหภูมิในโรงเรือนด้วย พบว่า อุณหภูมิในโรงเรือนค่อนข้างร้อนอบอ้าวในตอนกลางวัน จึงหาทางออกแบบในโรงเรือนโดยการทำสเปรย์หมอกบนหลังคา และบางโรงเรือนทำแบบหลังคา 2 ชั้น ในช่วงระหว่างแคร่ปลูกผัก ลดแสงแดดความร้อนที่จะลงมากระทบกับใบผัก ขณะเดียวกันก็ทำระบบน้ำโรงเรือนควบคู่ไปกับการจัดการเรื่องดิน

"การ จัดการเรื่องดินนั้นสำคัญมาก ผมมองว่าในดินนั้นมีเชื้อโรค มีศัตรูของพืชมาก หลายๆ แห่ง ปลูกผักไม่กี่เที่ยวก็ต้องเลิกหรือเปลี่ยนที่ปลูก เหตุเพราะสภาพดินเริ่มเสื่อม ถ้าขืนปลูกซ้ำที่เดิมนานๆ ก็จะต้องใช้เคมีเข้าช่วย ซึ่งเราไม่ต้องการเคมีเลย จึงคิดนำดินขึ้นมาปลูกบนกระบะปลูก หรือที่เรียกกันว่า "แคร่" ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการดินได้ดีกว่า ปลูกพืชบนผืนดินตามธรรมชาติ"

อาจารย์ วีระศักดิ์ กล่าวพร้อมอธิบายต่อว่า การปลูกผักของ "คลีนฟาร์ม" จึงเป็นการปลูกผักด้วยดินบนแคร่ในโรงเรือน แก้ปัญหาเรื่องที่ว่าปลูกผักหน้าฝนไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ได้ไม่ดีลงไป เมื่อคิดได้ก็เริ่มลงมือทำ โดยการสร้างโรงเรือน จัดการทำกระบะปลูกหรือทำแคร่ยกพื้นสูง ประมาณ 80-90 เซนติเมตร สะดวกต่อการยืนทำงานไม่ต้องก้มๆ เงยๆ เหมาะกับเกษตรกรที่สูงอายุอีกด้วย

สำหรับ กระบะที่ใช้ใส่ดินนั้น ทำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ก็พอ จากการศึกษาระบบรากของผัก พบว่า รากผักแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ติดกับผิวดิน เป็นรากฝอยพืชใช้ดูดอาหาร ประมาณ 60-70% ลึกลงไปหน่อย เป็น ส่วนที่ 2 รากดูดอาหารประมาณ 20-30% ส่วนที่ 3 ในพื้นดินลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร เป็นส่วนที่รากจะดูดอาหารน้อยมาก ฉะนั้น กระบะปลูกผักจึงไม่จำเป็นต้องทำลึกมากนัก แค่ 30 เซนติเมตร ก็พอ โดยใช้ไนล่อนตาถี่หรือมุ้งตาถี่มาทำเป็นกระบะ จะสามารถระบายน้ำได้ดี ระบบรากชั้นล่างก็จะโปร่ง ระบายอากาศได้ด้วย หน้ากระบะกว้างประมาณ 1.50 เมตร ยาวแล้วแต่พื้นที่ของโรงเรือน ใน 1 โรงเรือน จะใช้กระบะปลูกกี่กระบะก็ได้ อยู่ที่การสร้างโรงเรือน ระหว่างกระบะปลูกต้องเว้นทางเดินให้เข้าไปจัดการกับผักตลอดแนวกระบะได้สะดวก

"วิธีคิดของเราง่ายๆ คือ เราไม่ต้องการเก่งรักษา ใช้ระบบเก่งป้องกัน ขณะที่ผักกำลังเจริญเติบโตจะได้ไม่มีปัญหา"

เมื่อ สร้างโรงเรือนเสร็จ ทำกระบะปลูกเรียบร้อย วางระบบน้ำทั้งระบบสปริงเกลอร์ที่กระบะปลูกและระบบสเปรย์หมอกที่หลังคาโรง เรือนแล้ว ก็เตรียมดิน ที่ "คลีนฟาร์ม" ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีโรงงานทำปุ๋ยหมักเอง นำเอาดินมาตากฆ่าเชื้อแล้วก็ผสมปุ๋ยหมักเพิ่มธาตุอาหาร จากนั้นก็นำไปใส่ในแคร่ปลูกก็จะได้ดินที่ดี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ พร้อมปลูกผักได้เลย

อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผักที่ใช้ปลูกใน "คลีนฟาร์ม" นั้น มีกว่า 30 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็ดูแลจัดการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของผัก ผักทุกชนิดจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดที่กระบะเพาะในโรงเรือนเพาะเมล็ดพันธุ์ก่อน เมื่อกล้างอกแข็งแรงเต็มที่จึงนำไปปลูกบนแคร่ วิธีนี้จะได้ผักที่แข็งแรงทุกต้น เจริญเติบโตเสมอกัน เมื่อผักแข็งแรงก็ต้านทานโรคที่จะเข้าทำลายได้ดี เหมือนกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง ก็ต้านทานโรคหวัดได้ดี

ผักที่ปลูกใน โรงเรือน จะปลูกผักชนิดเดียวเท่านั้น ไม่ปะปนกัน ผัก 30 ชนิด ก็ต้องใช้โรงเรือน 30 โรงเรือน ชนิดของผักมีทั้งผักสลัดแทบทุกชนิด ผักไทยๆ ก็มีทุกชนิด ทั้ง ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาด ฯลฯ

เมื่อผักโตพร้อม เก็บเกี่ยว ก็ต้องกำหนดช่วงของการเก็บผัก จะต้องเก็บผักในช่วงเช้าก่อน 6 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิกำลังเหมาะสม จะได้ผักที่สด กรอบ อร่อยมากๆ เมื่อเก็บแล้วก็ต้องรีบนำเข้าห้องเย็นไปทำความสะอาด บรรจุถุง แล้วเข้าห้องเย็น รอรถมานำไปสู่ผู้บริโภค รถที่ใช้ก็ต้องเป็นรถที่มีห้องเย็นรักษาอุณหภูมิตลอดเวลา เมื่อถึงจุดหมายปลายทางก่อนผักถึงมือผู้บริโภคก็จะนำผักใส่กล่องโฟมรองด้วย น้ำแข็งด้านล่าง เพื่อให้ผักสดตลอด

ผักที่ผู้บริโภคซื้อไปจะรับ ประทานได้หมด ไม่ต้องไปตัดส่วนใดส่วนหนึ่งทิ้งอีกทีก่อนปรุงอาหาร เพราะทางฟาร์มตัดแต่งผักไว้เรียบร้อยแล้ว สะดวกต่อผู้บริโภค เมื่อซื้อผักไปแล้วสามารถนำไปปรุงอาหารเลย ผักของ "คลีนฟาร์ม" จะเน้นปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ ผักต้องสด สะอาด

อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดผู้บริโภคนั้น ก่อนลงมือทำฟาร์มได้คิดถึงเรื่องของการเก็บผลผลิต การขนส่ง คิดถึงกลุ่มผู้บริโภคว่าจะขายผักให้กับใคร ได้มองกลุ่มลูกค้าไปที่กลุ่มผู้รักสุขภาพ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารเพื่อสุขภาพ ผักของ "คลีนฟาร์ม" จึงเจาะกลุ่มไปที่ผู้รักสุขภาพ ตามโรงพยาบาล กลุ่มหรือชมรมรักสุขภาพทั่วๆ ไป โรงเรียนอนุบาล และตามหมู่บ้านที่มีกลุ่มรักสุขภาพทั้งหลาย

ผัก จาก "คลีนฟาร์ม" ที่ไปจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ นั้น จะมีโลโก้หรือตราของ "คลีนฟาร์ม" ให้เห็นชัดเจน สนใจผักดี มีคุณภาพเพื่อสุขภาพของท่าน โทร.ติดต่อได้ที่ (087) 509-0888 จะไปเยี่ยมชมฟาร์มดูการปลูกผักบนแคร่ การบริหารจัดการระบบการปลูกผักครบวงจร ก็เชิญไปกันได้ ฟาร์มอยู่ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี นี่เอง การคมนาคมสะดวกมาก...เชิญได้ครับผม

Tags : เปิดแนวคิดเกษตรแผนใหม่ ปลูกผักยกแคร่ คลีนฟาร์ม ผักปลอดสารพิษ

view