สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้จัก กระต่าย ต้อนรับปี เถาะ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สวัสดีปีใหม่ เราก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มปีนักษัตรใหม่ “ปีเถาะ” แม้ว่าปีนักษัตรเราจะนับกันตามปีใหม่ไทย (สงกรานต์) และปีใหม่จีน (ตรุษจีน) แต่ยุคปัจจุบันเพื่อความสะดวก เราก็นับรวมเถลิงศกกันไปพร้อมๆ กับปฏิทินสากล
       
       “เถาะ” ปีนักษัตรลำดับที่ 4 ที่มีกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์ ตำราโหราศาสตร์บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา 12 ปีเลยทีเดียว
       
       ในแง่โหราศาสตร์ดูดวง เสิรมชะตาก็ว่ากันไป แต่เมื่อพูดถึงสัตว์สัญญลักษณ์ประจำปีอย่าง “กระต่าย” แล้ว ทำให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวของกระต่ายที่จะอยู่กับเรา (ในนาม) ไปถึง 1 ปีเต็มๆ นับจากนี้ …. ดูกันซิว่า เรารู้จักกระต่ายดีแค่ไหน
       
       กระต่ายบ้าน-กระต่ายป่า
       
       “กระต่าย” จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวขนาดเล็ก ขนปุย หูยาว ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า กระต่ายถือกำเนิดมาในโลกเมื่อ 50 ล้านปีมาแล้ว บริเวณทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ ทั่วโลกมีอยู่ 58 ชนิด จัดอยู่ในวงศ์กระต่ายธรรมดา (Leporidae) 44 ชนิด และวงศ์กระต่ายหูสั้น (Ochotonidae) อีก 14 ชนิด
       
       กระต่ายธรรมดามีขาหลังที่ยาว ทำให้วิ่งได้เร็ว ใบหูยาวหมุนไปมาได้ และมีหางสั้น ส่วนกระต่ายหูสั้นจะมีขาทั้งคู่หน้าและคู่หลังสั้นพอๆ กัน ใบหูจะสั้นเป็นมนกลม และจะไม่เห็นหางจากภายนอก
       
       ในวงศ์กระต่ายธรรมดา ยังแบ่งออกเป็นกระต่ายเลี้ยง (Rabbit) ซึ่งชอบอยู่กันเป็นฝูง และกระต่ายป่า (Hare) ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยว
       
       ทั้งนี้ กระต่ายที่พบอาศัยตามป่าทั่วไปในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) ซึ่งมีขนสีน้ำตาล ใต้หางสีขาว ขุดดินเป็นโพรงอาศัย ส่วนที่นำมาเลี้ยงตามบ้าน มีหลายชนิดและหลายสี แต่ที่พบมากจะเป็นสีอ่อน เช่นสีขาว
       
       กระต่ายเกือบจะเป็นหนู
       
       แม้ว่ากระต่ายจะเป็น “สัตว์ฟันแทะ” ที่มีฟันหน้าขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหนู แต่กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะมีฟันหน้า 2 คู่ (lagomorph) ต่างจากพวกหนูหรือกระรอกที่มีฟันแทะคู่เดียว (rodent)
       
       เดิมทีมีการจัดกระต่ายไว้เป็นสัตว์ฟันแทะในอันดับโรเดนเทีย (Rodentia) ร่วมกับพวกหนูและกระรอก แต่เมื่อพบว่ากระต่ายมีลักษณะหลายอย่างเป็นของตนเอง ที่แตกต่างจากพวกหนูและกระรอกมาก โดยเฉพาะกระต่ายที่มีฟันตัด2 คู่ทางด้านหน้าของขากรรไกรบนคู่ที่สองมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กซุกอยู่ภายในคู่ หน้า ในขณะที่หนูและกระรอกมีฟันตัดเพียงคู่เดียว
       
       ขยายพันธุ์ว่องไว
       
       ถ้าใครเลี้ยงกระต่ายคงจะทราบกันดีถึงความสามารถในการผลิต ประชากรกระต่าย โดยกระต่ายบ้านสามารถผสมพันธุ์ได้บ่อย และตั้งท้องปีละหลายครั้ง
       
       กระต่ายเลี้ยงในยุโรปตอนเหนือผสมพันธุ์ในช่วง ก.พ.-ก.ย. ออกลูกได้ 3-5 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว สำหรับกระต่ายป่าในซีกโลกเหนือ ออกลูก 2-4 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในเขตร้อนกระต่ายป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตัวเมียตั้งท้องเพียง 1 เดือน ปีหนึ่งจึงสามารถออกลูกได้ 4-8 ครอก ลูกกระต่ายที่มีอายุราว 6-8 สัปดาห์จะแยกจากแม่ได้และมีอายุเฉลี่ย 9-12 ปี
       
       ทั้งนี้ ในมดลูกของกระต่ายเพศเมียจะมี 2 ช่อง นั่นหมายความว่า กระต่ายจะสามารถอุ้มท้องตัวน้อยได้ถึง 2 ครอก ที่มีอายุครรภ์ต่างกันได้ในเวลาเดียวกัน
       
       ถ้าไม่ได้กินสิ่งที่ถ่าย มีตายแน่นอน
       
       กระต่ายอยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลายแบบทั้งเขตร้อนและหนาว อาหารส่วนใหญ่เป็น หญ้า พืชล้มลุก รากไม้ เปลือกไม้
       
       เวลาอาหารของกระต่าย พวกมันจะกินหญ้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และขับถ่ายออกมาเป็นเม็ดแข็ง ส่วนที่เป็นเกล็ดของเสียจะไม่ถูกย่อย และเมื่อผ่านการกินอย่างหักโหมไปประมาณ 8 ชั่วโมงกระต่ายจะถ่ายมูลอ่อนออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงกลางคืน
       
       มูลอ่อนดังกล่าวจะมีวุ้นเคลือบ และเมื่อเช้ามาถึงกระต่ายก็จะกินมูลอ่อนเหล่านี้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียในมูลอ่อน เมื่อสัมผัวกับอากาศจะสร้างวิตามินบางชนิดขึ้น วิตามินเหล่านี้จำเป็นมากต่อสุขภาพของกระต่าย หากไม่ได้กินมูลอ่อนกระต่ายจะตายภายในเวลา 3 วัน
       
       ใช้งานได้ทั้งในครัว-ห้องแล็บ
       
       การบริโภคเนื้อกระต่ายเป็นที่แพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป อเมริกาทั้งตอนเหนือและใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง
       
       แม้ว่าปัจจุบันในอังกฤษจะไม่มีเนื้อกระต่ายวางขายในซุเปอร์มาร์เก็ต แต่ตามร้านขายเนื้อหรือตลาดพื้นเมืองยังมีให้เห็นกันอยู่อย่างแน่นอน โดยร้านจะห้อยกระต่ายตายแล้วที่ยังไม่ได้แล่โชว์กันให้เห็นอันเป็นสไตล์
       
       ที่ซิดนีย์ เคยนิยมกินกระต่ายกันมาก ถึงกับมีชื่อทีมรักบี้ว่า “เซาธ์ ซิดนีย์ แรบบิโทธส์” (South Sydney Rabbithos) แต่ความนิยมบริโภคกระต่ายในซิดนีย์ต้องหมดไป เมื่อเหล่ากระต่ายเลี้ยงโดนโรคระบาดคุกคาม
       
       อย่างไรก็ดี ในแถบภูมิภาคอินโดจีนไม่นิยมกินกระต่าย แต่ก็ใช้กระต่ายเป็นอาหารสำหรับงูใหญ่
       
       กระต่ายทั้งถูกล่าด้วยปืน และส่วนที่เลี้ยงก็จะถูกฆ่าด้วยการทุบด้านหลังหัว เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูง ปรุงอาหารได้หลากหลายชนิดแบบเดียวกับเนื้อไก่ ซึ่งเนื้อกระต่ายที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ “กระต่ายขาวนิวซีแลนด์”
       
       และกระต่ายขาวนิวซีแลนด์นี้ ก็ยังได้รับนิยมนำไปศึกษาและวิจัย ทั้งทางด้านพยาธิวิทยาเพราะเป็นแหล่งของสารที่เร่งให้เกิดลิ่มเลือด ด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ ต่อมไร้ท่อ รวมทั้งใช้ทดสอบความปลอดภัยของยาชนิดต่างๆ วัคซีน และทดสอบความเป็นพิษ
       
       บอบบางตายง่าย?
       
       กระต่ายขยายพันธุ์ง่าย และก็ตายง่ายไม่แพ้กัน ผู้เลี้ยงกระต่ายทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ที่กระต่ายอาจเกิดอาการช็อคตายได้ง่าย เพราะกระต่ายไม่มีต่อมเหงื่อ ระบายความร้อนได้ยาก เมื่ออากาศร้อนกระต่ายจะต้องหายใจถี่ขึ้น ที่จมูกจะสั่นเร็วขึ้น รวมถึงที่เส้นเลือดแดงใหญ่กลางหูจะช่วยทำงานระบายความร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังระบายความร้อนไม่ทัน จึงทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงจนช็อคตาย
       
       อย่างไรก็ดี การให้น้ำกระต่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกระต่ายต้องการใช้ระบายความร้อน แต่ส่วนใหญ่ที่เราเลี้ยงกระต่ายกันก็ให้ผักหญ้า ซึ่งพืชพวกนี้มีน้ำสะสมอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้บางครั้งกระต่ายก็ไม่ต้องการน้ำเพิ่ม แต่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าการให้น้ำกระต่าย อาจเป็นเหตุให้กระต่ายตายได้ นั่นอาจจะเป็นเพราะความสะอาดของน้ำหรือภาชนะบรรจุ
       
       นอกจากนี้ ในการจับกระต่าย ไม่ใช่จับที่หูแล้วดึงขึ้นมา เพราะถ้ากระต่ายตัวใหญ่และมีน้ำหนักมาก อาจทำให้เนื้ออ่อนบริเวณหูฉีกขาดได้ แต่ให้ค่อยๆ ประคองตัวลักษณะเหมือนอุ้มเด็ก และให้ทำด้วยความนุ่มนวล โดยเฉพาะหากกอดรัดที่บริเวณท้องอย่างรุนแรงก็จะทำให้กระต่ายได้รับอันตราย ถึงตายได้
       
       ปัจจุบัน กระต่ายกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์นำออกจากป่าไปเลี้ยงและกระต่ายขยายพันธุ์เร็วเกินกว่าจะรับภาระ ไหว จึงพากระต่ายกลับไปปล่อยแต่ก็กลับไปไม่ถึงป่า ส่งผลให้กระต่ายสร้างปัญหาต่อเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะแนวคันนาหรือสวนที่นิยมใช้หญ้าทำเป็นแนว กลับกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้เหล่ากระต่าย
       
       อย่างไรก็ดี ปัญหาประชากรกระต่ายก็ยังคงสร้างความยุ่งยากให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่แม้ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของกระต่าย กลับมีปัญหากับการรุกล้ำพื้นที่ของกระต่ายไม่น้อย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้จัดให้กระต่ายเป็น “ศัตรูพืช” ชนิดหนึ่ง เจ้าของที่สามารถจัดการและควบคุมได้โดยถูกกฎหมาย
       
       ส่วนพฤติกรรมของกระต่ายดูเหมือนจะตื่นเต้นตกใจง่ายนั้น เป็นไปตามสัญชาติญาณระวังภัย คำว่า “กระต่ายตื่นตูม” เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดก อ้างถึงสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถหาอ่านกันได้ ส่วนปีเถาะหนนี้เราจะเป็น “กระต่ายตื่นตัว” ประกอบกิจการงานและใช้ชีวิตอย่างมีสติก็คงจะดีไม่น้อย.



       ************************************
       
       เรื่องน่าสนของ "กระต่าย"
       
       - สถิติโลกบันทึกไว้ว่ากระต่ายกระโดดได้สูงที่สุด 1 เมตร
       
       - บันทึกเล่มเดียวกันก็ยังบอกไว้ว่า กระต่ายกระโดดได้ไกลที่สุด 3 เมตร
       
       - กระต่ายครอกที่ใหญ่ที่สุด คือคลอดออกมา 24 ตัว มีบันทึกไว้ถึง 2 ครั้งในปี 1978 และ 1999
       
       - หูกระต่ายที่ยาวที่สุดในโลกคือ 31.125 นิ้ว เป็นกระต่ายอเมริกัน
       
       - กระต่ายที่อายุยืนที่สุดคืออยู่ได้ถึง 19 ปี
       
       - กระต่ายที่หนักที่สุดในโลกมีน้ำหนัก 12 กิโลกรัม
       
       - กระต่ายป่าที่เล็กที่สุดในโลกคือพันธุ์ปิกมี่ หรือ ลิตเติ้ลไอดาโฮ ในสหรัฐอเมริกา มีน้ำหนักน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัม
       
       - กระต่ายจะตื่นตัวอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่และยามเย็นโพล้เพล้
       
       - กระต่ายมองเห็นด้านหลังได้โดยไม่ต้องหันหัว
       
       - กระต่ายมีสีขนมากถึง 150 สี แต่มีสีตาเพียง 5 สี คือ น้ำตาล, น้ำเงิน-เทา, น้ำเงิน,ชมพู (แดง), และลูกแก้ว
       
       - กระต่ายตัวขาวตาแดง เพราะดวงตาของกระต่ายสีขาวอย่างพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์หรือแคลลิฟอร์เนียน ไม่มีเม็ดสี ทำให้เห็นเส้นเลือดสีแดงในตาซึ่งจะ สะท้อนแสงให้เราเห็นตากระต่ายเป็นสีแดง
       
       (ข้อมูลจาก pet-rabbit-care-information.com)

http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1767537

ลักษณะการอุ้มกระต่ายที่ถูกต้อง จับคอเพื่อประคองใช้มือช้อนก้น และแนบตัวให้หัวซุกเข้าลำตัว (fauvet.fau.edu)

http://pics.manager.co.th/Images/553000019445103.JPEG

ตัวอ่อนกระต่ายที่เพิ่งคลอดได้ 1 ชม.

http://pics.manager.co.th/Images/553000019445107.JPEG

กระต่ายขาวนิวซีแลนด์ ตัวขาวตาชมพูนิยมใช้ทดลองและบริโภคเนื้อ

Tags : รู้จัก กระต่าย ต้อนรับ ปีเถาะ

view