สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกระบบ การปลูกข้าว ใหม่

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

 

การ ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากเกษตรกรได้ใช้น้ำต้น ทุนในอนาคตของแต่ละปีขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาดินเสื่อม มีการระบาดของข้าววัชพืชทั้งยังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นปัญหาหนักหน่วงที่ชาวนาพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง กำลังผจญและต่อสู้อยู่ในปัจจุบันนอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิต สูงขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพิ่มขึ้นด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง ได้จัด   “ระบบการปลูกข้าวใหม่” เพื่อยับยั้งและ แก้ไขการเกิดปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
     
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดินเพื่อหารือถึงความจำเป็นใน การปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่ เพื่อกำหนดช่วงระยะเวลาการปลูกข้าวให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีแผนปรับระบบการปลูกข้าวใหม่ ให้ปลูกได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง งดเว้นการปลูกแบบต่อเนื่องทั้งปี ทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพร้อมกันในพื้นที่เดียวกันของโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษา เน้นให้มีการใช้น้ำไม่เกินปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวและช่วยรักษาระบบนิเวศในนาข้าว ให้มีความสมดุล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการปลูกข้าว
   
โครงการจัดระบบการปลูกข้าวใหม่นี้มีแผนดำเนินการ 3 ปี (2554-2556) ภายใต้การบูรณาการงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยระยะแรกมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิง เทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาหรือพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 22 จังหวัด ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง รวม 9,532,672 ไร่ ซึ่งมีการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 รวม 2.23 ล้านไร่และในระยะยาวได้มีแผนดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ
รูปแบบระบบการปลูกข้าวใหม่มี 4 ระบบ คือ
1. ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-พืชหลังนา
2. ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-เว้นปลูก
3. ข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนาปรัง
และ 4.ข้าวนาปี-เว้นปลูก-ข้าว นาปรัง
   
...ซึ่งแต่ละจังหวัดสามารถที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวและ สามารถเลือกช่วงเวลาได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
     
โดยมีเงื่อนไขว่า เกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเดียวกันต้องเลือกระบบการปลูกข้าวเหมือนกันและต้องปลูกข้าวพร้อมกัน
   
สำหรับชนิดพันธุ์พืชหลังนา ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในระบบการปลูกข้าวใหม่ ได้แก่ พืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน และพืชอื่น ๆ ตามที่เกษตรกรต้องการ โดยจะส่งเสริมให้ปลูกพืชปุ๋ยสด อาทิ ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ ปอเทือง และโสนอัฟริกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินแล้วยังช่วยปรับปรุงโครงสร้าง ดินในนาข้าวด้วย
   
ประโยชน์ของการจัดทำระบบปลูกข้าวใหม่นี้ จะเป็นแนวทางช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรจากการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง และเหมาะสม เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวอย่างถูกต้องรวมทั้งน้ำมันเชื้อ เพลิงในการสูบน้ำซึ่งคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนลงจากตันละ 6,760 บาท เหลือเพียงตันละ 5,723 บาท และยังช่วยให้ผู้ปลูกข้าวได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีรายได้ สุทธิต่อไร่มากขึ้นด้วย
   
 อย่างไรก็ตาม การจัดระบบปลูกข้าวในรูปแบบใหม่ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเกษตรกร ปลูกข้าวในช่วงเดียวกันทั้งโครงการจึง    สามารถปล่อยน้ำเป็นเวลาได้ ไม่ทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ คาดว่าจะสามารถประหยัดน้ำชลประทานได้ 1,200-2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมเพิ่มปริมาณผลผลิตพืชไร่บางชนิดทดแทนการนำเข้า อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสงและถั่วเขียว ช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ปีละกว่า 10,000 ล้านบาทและยังคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ประมาณ 7,500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 112.5 ล้านบาท อีกทั้งยังลดการนำเข้าและลดการใช้สารเคมีในนาข้าวได้ปีละไม่น้อยกว่า 630 ล้านบาท.

Tags : พลิกระบบการปลูกข้าว

view