จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : วรรณภา แย้มศรี ประชาสัมพันธ์ มก.
เครื่องขนถ่ายและนับลูกปลา (Fish Transfer&Counter WE511) นวัตกรรมจากคณะวิศวฯ มก. เพื่อใช้ในธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
“เครื่องขนถ่ายและนับลูกปลา” (Fish Transfer & Counter – WE511) อาศัยเทคนิคการขนย้ายแบบ airlift pump และเทคนิคการตรวจนับด้วย photo sensor ผลงานสร้างสรรค์นี้เป็นของ น.ส.ชาลิตา จันทรศรีวงศ์ นายปองพล ยังวิจิตร และนายพชร วิศวะกุล บัณฑิตจากภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ ภาควิชาทรัพยากรน้ำ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลชมเชย จากการประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2552
เครื่องขนถ่ายและนับลูกปลา (Fish Transfer & Counter – WE511) นำหลักการพื้นฐานทางด้าน ฟิสิกส์และวิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulic engineering) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างเครื่องขนถ่ายย้ายสัตว์น้ำ ซึ่งมีเทคนิคสองประการ คือ เทคนิคการขนย้ายโดยใช้ airlift pump และ เทคนิคการตรวจนับด้วย photo sensor
เทคนิค airlift pump ได้นำผลการศึกษาของ TODOROKI (1973) มาทดสอบกับ air pump ขนาดเล็กสำหรับการเลี้ยงปลาตู้ทั่วไป โดยแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ แบบไม่มีกรวยนำเข้า แบบมีกรวย (cone) และหัวฟู่ (cone and diffuser) และแบบดั้งเดิม ส่วนเทคนิค photo sensor ได้ใช้หลักการการสะท้อนของแสงต่อวัตถุซึ่งแปรผันกับสัญญาไฟฟ้ามาเป็นตัวตรวจ นับ สามารถใช้ได้กับปลาเหยื่อในตลาดทั้ง 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก และแม่นยำมากที่สุดกับปลาเหยื่อขนาดใหญ่ และไม่สร้างความบอบช้ำหรือความเครียดต่อสัตว์น้ำที่ ขนถ่าย อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้เป็นอุปกรณ์ที่หาง่ายและใช้อยู่แล้วในธุรกิจ เลี้ยงปลาสวยงามและการขนย้ายปลาเหยื่อ (bait fish) สามารถนำไปประกอบด้วยตนเองได้
นักวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายสัตว์น้ำยัง ใช้วิธีการนับด้วยกำลังคนซึ่งใช้เวลามากและตรวจสอบลำบาก งานวิจัยชิ้นนี้จึงกล่าวได้ว่าสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาธุรกิจการซื้อ ขาย ขนถ่าย และนับจำนวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่มีความละเอียดแม่นยำสูงสำหรับสัตว์น้ำที่มีราคาแพง ใช้ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีความทนทานเสียหายยาก สามารถนำไปใช้กับสัตว์น้ำได้หลายชนิดและพัฒนาประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มผลิตผลในเชิงการค้าอีกด้วย