สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อียูแถลงกฎระเบียบใหม่สารปรุงอาหาร-อาหารใหม่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สหภาพยุโรป ประกาศกฎใหม่ด้านสารปรับปรุงอาหารและอาหารใหม่ เน้นปกป้องผู้บริโภคและลดความซับซ้อนของกฎระเบียบเดิม และเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องทราบ
 สารปรุงแต่งอาหาร (Food Additives), สารปรุงรสอาหาร (flavourings) เอนไซม์ (enzymes) คือ สิ่งที่สำคัญสำหรับการผลิตอาหาร ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่ของความสดใหม่และรสชาติอาหารที่อร่อย เพื่อเป็นการรับมือกับการใช้สารปรุงแต่งต่างๆในวงกว้างของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหาร

 เมื่อเร็วๆนี้ ทางสหภาพยุโรป (อียู) จึงได้กำหนดชุดหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นการพัฒนากฏเกณฑ์ที่มีอยู่ในด้านสารปรุงแต่ง และสารปรุงรสขึ้น ทั้งยังได้มีการออกกฏระเบียบเกี่ยวกับเอนไซม์ฉบับใหม่ เพื่อใช้ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นครั้งแรก

 กฏเกณฑ์ใหม่นี้ กำหนดขึ้นเพื่ออธิบายและปรับปรุงกฏข้อบังคับด้านสารปรับปรุงอาหารที่ มีอยู่ ณ ปัจจุบันให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อใช้เป็นแนวทางร่วมกันสำหรับการใช้สารปรุงแต่งอาหาร สารปรุงรส รวมทั้งเอนไซม์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานจากความเห็นทางด้านวิทยาศาสตร์จากสำนักงานด้านความปลอดภัยอาหารยุโรป European Food Safety Authority (EFSA)

 ในวันที่ 14 ตุลาคม คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาในหัวข้อ “การทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป (อียู) ในด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับสารปรุงแต่งอาหาร (food Additives) และอาหารใหม่ (Novel Foods)” ขึ้น ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มนักธุรกิจไทย รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย เกี่ยวกับกฏเกณฑ์ทั้งสองประเด็น

 นายอันโตนิโอ เบเรงเกอร์ (Mr. Antonio Berenguer) หัวหน้าฝ่ายการค้าและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของอาหารโดยมุ่งที่จะปกป้องผู้บริโภคและลดความซับซ้อนและปรับปรุงกฏระเบียบให้ดีขึ้น

โดยกฏเกณฑ์ใหม่นี้ จะไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการนำเข้า หรือที่มีการผลิตภายในกลุ่มสหภาพยุโรปแต่อย่างใด”

 “การปฏิบัติตามกฏระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรปนั้น ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการส่งออกของไทย แต่ยังเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารของไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคชาวไทยเช่นกัน ปีที่ผ่านมา การส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารของไทยไปยังสหภาพยุโรปนั้น มีมูลค่าสูงถึงกว่า 9 หมื่นล้านบาท (หรือกว่า 2.2 พันลานยูโร) ซึ่งคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งหมดจากไทยไปยังสหภาพยุโรป” คุณเบเรงเกอร์ กล่าวเสริม

 นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า “ในอดีต ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองของไทยไม่ได้รับอนุญาติให้นำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปเนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎเกณฑ์อาหารใหม่ของสหภาพยุโรป (EU Novel Foods Regulation)

ซึ่งถ้าก่อนหน้านี้ภาคการส่งออกไทยมีความเข้าใจในกฏเกณฑ์เหล่านี้มากกว่านี้ ก็จะทำให้สามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อหน่วยงานของสหภาพยุโรปซึ่งจะทำให้สินค้าได้รับอนุญาตให้เข้าไปในตลาดอียูได้ ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องคำนึงถึงกฏเกณฑ์ด้านอาหารใหม่”

 ในส่วนของการใช้สารปรุงแต่งอาหารและสารปรุงรสอาหารตาม ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบัน กฏเกณฑ์ที่ออกขึ้นใหม่นั้น จะได้มีการปรับเงื่อนไขให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาล่าสุดทางด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งยังทำให้กฎหมายมีความกระจ่างมากขึ้น นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังเสนอให้มีการใช้กฏเกณฑ์ใหม่ร่วมกันแทนที่กฏหมายเกี่ยวกับ เอนไซม์อาหารซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วย

 นอกจากนั้น เนื่องจากความทันสมัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีอาหาร ทำให้เกิดการพัฒนาอาหารใหม่ ใหม่ๆขึ้น หากแต่ยังขาดซึ่งการประเมินความปลอดภัย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงได้มีการกำหนดหลักการในกฏเกณฑ์อาหารใหม่ ก่อนที่จะมีการรวมเอาอาหารและส่วนผสมของอาหารที่ยังไม่เคยได้รับการบริโภคในสหภาพยุโรปก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540

 ทั้งนี้ ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร พร้อมด้วยภาคการผลิตอาหารแปรรูปที่พัฒนาเป็นอย่างดี ในขณะที่สหภาพยุโรปเองเป็นตลาดรองรับสินค้าจากประเทศไทยมากเป็นอันดับสองรองจากอาเซียน ในปี2552 มูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรป คิดเป็น 14 พันล้านยูโร หรือประมาณ 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท

 กฎระเบียบที่ครอบคลุมสารต่างๆ ที่ใช้ปรับปรุงอาหาร (Food Improvement Agents Package - FIAP)  ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กฎเกณฑ์ด้านสารปรับปรุงอาหารได้ถูกกำหนดขึ้น เหล่านี้รวมถึงกฎเกณฑ์ด้านสารปรุงแต่งอาหาร เอนไซม์อาหารและสารปรุงรสอาหาร ส่วนประกอบอาหารที่มีสารปรุงรส และกฎเกณฑ์เพิ่มเติมลำดับที่สี่ ที่กำหนดกระบวนในการอนุมัติสารปรุงแต่ง เอนไซม์ และสารปรุงรสร่วมกัน

 สารปรุงแต่ง  คือ สารที่โดยปกติแล้วจะไม่ได้รับการบริโภคในฐานะอาหาร และไม่ได้ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ ซึ่งควบรวมถึงการเสริมเพิ่มเติมอย่างตั้งใจในอาหารนั้นๆ ซึ่งเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การเตรียม การรักษา การบรรจุ การขนส่ง หรือ การเก็บรักษา เช่น สารให้ความหวาน สี วัตถุกันเสีย สารกันบูด สารละลายส่วนผสม สารต้านอนุมูลอิสระ สารเร่ง สารทำเจล และอื่นๆมากมาย

 สารปรุงรส คือ สารที่ใช้ในการเพิ่มหรือปรับกลิ่น และ/หรือ รสชาติของอาหาร เช่น กลิ่นรมควัน สารที่ให้กลิ่นธรรมชาติ สารสังเคราะห์ และอื่นๆมากมาย
 
 เอนไซม์อาหาร หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้มากจากพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่รวมถึงสิ่งที่ได้จากการหมักผ่านการใช้จุลินทรีย์ ซึ่งประกอบไปด้วยเอนไซม์หนึ่งชนิดหรือมากกว่า ที่จะทำให้เป็นปฏิกิริยาทางชีวภาพ และใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านเทคโนโลยีอาหารในขั้นตอนต่างๆของการผลิต การแปรรูป การเตรียม การรักษา การบรรจุ การขนส่ง หรือ การเก็บรักษาอาหาร เอนไซม์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการใช้สารเคมีในการพัฒนาผิวสัมผัส รูปลักษณ์ คุณค่าทางอาหาร และรสชาติของอาหาร รวมทั้งช่วยในกระบวนการผลิตบางชั้นตอน (เช่น ทำให้ขนมปังฟูขึ้น)

 อาหารใหม่ คือ อาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่ ยังไม่เคยใช้ในปริมาณระดับหนึ่งต่อการบริโภคของมนุษย์ ก่อนที่จะมีกฏข้อบังคับของ “กฎเกณฑ์ (ประชาคมยุโรป) เลขที่ 258/97 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอาหารใหม่และส่วนผสมของอาหารใหม่ (กฎเกณฑ์อาหารใหม่) ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ในกลุ่มประชาคมยุโรป และสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทดังนี้

 อาหารและส่วนประกอบของอาหาร
• ที่มีโครงสร้างโมเลกุลในขั้นต้นแบบใหม่หรือมีการตั้งใจปรับปรุงขึ้น (สารแทนไขมัน);
• ประกอบไปด้วย หรือ สกัดจากจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือ สาหร่าย (น้ำมันที่สกัดจากสาหร่าย);
• ประกอบไปด้วย หรือ สกัดจากพืช และ ส่วนประกอบอาหารที่สกัดจากสัตว์ อาหารหรือส่วนประกอบอาหารที่ได้มาจากการแพร่พันธุ์ หรือ การผสมพันธุ์ โดยมีประวัติว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัย ไม่รวมอยู่ในขอบข่ายของกฏดังกล่าว;
• ใน กระบวนการการผลิตใดๆ ที่ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับใช้ในกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบหรือ โครงสร้างของอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับคุณค่าทางอาหาร กระบวนการเผาผลาญ หรือ ระดับของปริมาณสารที่ไม่เป็นที่ต้องการ (เช่น กลวิธีในการเปลี่ยนรูปเอนไซม์)

 ในส่วนของประเทศไทย นอกเหนือจากอาหารและส่วนประกอบอาหารที่กล่าวมาข้างต้น อาหารใหม่ยังหมายรวมถึงผลไม้พื้นเมืองและผัก สมุนไพรและเครื่องเทศ รวมทั้งส่วนประกอบอาหารที่ไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในรายการอาหารใหม่ และไม่ได้รับการบริโภคในตลาดสหภาพยุโรปในระดับที่เหมาะสม ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540

 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุดสารปรับปรุงอาหาร เยี่ยมชมได้ที่ http://ec.europa.eu/food/food/chemicalsafety/additives/new_regul_en.htm
  ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ด้านอาหารใหม่ เยี่ยมชมได้ที่ http://ec.europa.eu/food/food/biotechnology/novelfood/index_en.htm

Tags : อียู แถลงกฎระเบียบใหม่ สารปรุงอาหาร อาหารใหม่

view