สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร.๓ ทรงวิตก “พระสงฆ์ห่มแหวก! จะทำให้พระไทยกลายเป็นมอญไปหมดทั้งเมือง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: โรม บุนนาค

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ทรงผนวชก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะสวรรคตเพียง ๑๕ วัน และครองเพศบรรพชิตยาวนานถึง ๒๗ ปีตลอดรัชกาลที่ ๓ นั้น เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปจำพรรษาที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ด้วยถือว่าเป็นวัดที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเมื่อทรงผนวช ทรงทุ่มเทพระหฤทัยในการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องทรงผิดหวังอย่างแรง 

เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ผู้เป็นต้นสกุล “เพ็ญกุล” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่วัย ๑๓ ขวบ ได้เขียนไว้มีใจความว่า เมื่อมาประทับที่วัดสมอราย จึงทรงทราบลัทธิที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นวุ่นวาย พระอาจารย์จะพูดจะสั่งสอนอันใดก็งุบงิบอ้อมแอ้ม ไม่อธิบายให้กระจ่างเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้เล่าเรียน ครั้นศิษย์คนใดไต่ถามก็โกรธ อ้างแต่ว่าผู้ใหญ่เคยทำมาอย่างนี้ ไม่ชี้แจงแสดงเหตุให้ผู้ศึกษาเห็นจริง ครั้นทรงเหนื่อยหน่ายหมดศรัทธา จึงเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ ทรงไต่ถามศึกษาถึงข้อปฏิบัติต่างๆที่มีมาแต่โบราณ ก็ทรงทราบว่าได้อันตรธานไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้มีรากเหง้าอันเน่าผุ จะยั่งยืนถาวรอย่างไรได้ ครั้นทรงสลดพระทัยที่จะรักษาสิกขาบทเพศบรรพชิต ทรงเห็นว่าเป็นกิจอันหลอกลวงฆราวาสมาเลี้ยงชีวิต ครั้นวันหนึ่งเสด็จเข้าไปบรรทมกลางวันในพระอุโบสถ จึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐานบูชาศาสนาและเทพยดาว่า ข้าพเจ้าขออุทิศถวายต่อพระผู้มีพระภาค ด้วยข้าพเจ้าออกบวชครั้งนี้เพราะมีความเลื่อมใสเชื่อในพระรัตนตรัย มิได้เพ่งต่ออามิสลาภยศการสรรเสริญ ถ้ายังมีพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์ย่างแท้จริงเหลืออยู่ ณ ประเทศใดทิศใดแล้ว ขอให้ได้ประสบภายใน ๓ วัน ๗ วัน ถ้าไม่สมดังความอธิษฐานก็จะเข้าใจว่า พระพุทธศาสนวงศ์นั้นหมดสิ้นเสื่อมแล้ว ข้าพเจ้าก็จะละเพศบรรพชิตออกเป็นฆราวาส ไปรักษาศีล ๕ ตามสมควรแก่ศรัทธา 

ครั้นล่วงไปประมาณ ๒ วัน หรือ ๓ วัน ก็เป็นมหัศจรรย์สมดังทรงอธิษฐาน มีพระสงฆ์รามัญองค์หนึ่งมาสู่สำนักของพระองค์ดุจดังเทพยดาดลใจ พระเถระรามัญองค์นั้นได้กล่าวพระธรรมด้วยข้อวินัยบัญญัติอันละเอียด ชี้แจงแสดงโดยพิสดาร จนพระองค์มีความเลื่อมใส จึงได้รับเอาข้อวินัยนั้นปฏิบัติสืบมา ทรงเล่าเรียนศึกษาพระพุทธวจนะปริยัติธรรมแตกฉานแล้ว จึงทรงสั่งสอนกุลบุตรผู้มีศรัทธาให้เล่าเรียนทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงสั่งสอนในข้อวินัยวัตรและปฏิบัติต่างๆให้ถูกต้องตามพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า จนมีกุลบุตรศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาขออุปสมบท ประพฤติตามลัทธิคติธรรมยุติกา มีปรากฏขึ้นเป็นครั้งปฐมหลายองค์โดยไม่ได้ข่มขี่ล่อลวง 

ครั้นศักราช ๑๑๙๑ หรือ พ.ศ.๒๓๗๒ ทรงดำริเห็นว่า ในวัดมหาธาตุนั้นไม่เป็นที่สบายพระทัย เพราะเจือปนด้วยพระสงฆ์อลัชชี ไม่เป็นที่สมควรจะสถิตอยู่ จึงได้เสด็จกลับขึ้นไปประทับวัดสมอราย ตั้งคณะธรรมยุตกานิกายบรรพชากุลบุตรที่มีศรัทธาเลื่อมใสให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

พระสงฆ์รามัญที่ทรงพบราวกับเทพยดาบันดาลนั้น ก็คือ พระสุเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล นามเดิมว่า ซาย อุปสมบทมาจากเมืองมอญมีฉายาว่า พุทธวังโส เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยปิฎกและเคร่งรัดในการปฏิบัติ จนทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงเลื่อมใส และเป็นต้นเหตุให้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น

ลัทธิใหม่ที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงตั้งขึ้นที่เรียกว่า “ธรรมยุติกนิกาย” นอกจากจะปฏิบัติพระวินัยบัญญัติ ๒๒๗ ข้ออย่างเคร่งครัดแล้ว ยังนุ่งห่มจีวรแบบพระมอญด้วย ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ในคณะมหานิกาย จะม้วนจีวรเป็นลูกบวบบิดไปทางขวา แต่พระคณะธรรมยุติจะม้วนลูกบวบบิดมาทางซ้ายแหวกชายจีวร

การปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดของพระสงฆ์นิกายใหม่ ทำให้พระสงฆ์ในมหานิกายเดิมซึ่งเหลวแหลกกันพอควรในขณะนั้น ได้ตื่นตัวปรับปรุงเป็นการใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงฝักใฝ่ในพระศาสนาก็ทรงเห็นดีงามด้วย ในพระราชพงศวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวถึงการที่ ร.๓ ได้ทรงชำระสะสางพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารใน พ.ศ. ๒๓๘๕ ไว้ว่า

“...เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิดชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร ได้ชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป”

แม้จะทรงเห็นดีเห็นงามกับการปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดของธรรมยุตินิกาย และพระราชทานวัดบวรนิเวศวิหารให้เจ้าฟ้ามงกุฎครองในตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็ทรงพระวิตกที่นิกายใหม่ของเจ้าฟ้ามงกุฎประพฤติปฏิบัติอย่างพระมอญเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะการนุ่งห่มจีวร หากได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจจะทรงยกเลิกมหานิกายเสีย ยึดถือห่มตามอย่างพระมอญไปทั้งหมด แต่ก็ทรงใช้ขันติธรรมเก็บความไม่พอพระราชหฤทัยนี้มาเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งเมื่อประชวรหนักปลายรัชกาล จึงทรงรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ เขียนตามรับสั่งถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิสร หรือพระองค์เจ้ามั่ง เพื่อให้ทูลปรึกษาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีข้อความว่า

พระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ห่มแหวก

พ่อมั่ง ขา
พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิตต์และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยาทรงพระเจ้าแผ่นดินมา ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่งเป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มาจนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่อมายายุได้ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่ พระภิกษุผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นและเห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญโดยอัตโนมัติ ปัญญาของพี่เห็นว่า ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานอยู่แล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญเป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้นแหละ สืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นสูญไป พี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ทั้งรู้พระลัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่งให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอรับเอาไว้ครองได้ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย...”

ที่ทรงตรัสเรียกว่า “แผ่นดินศรีอยุธยา” ทรงหมายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยาฯ” นั่นเอง

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงทราบพระราชปรารภเรื่องห่มแหวกจึงทรงกราบทูลสารภาพเป็นลายพระหัตถ์ไปทันทีว่า

“...กระหม่อมฉันเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์โดยจริงว่า แต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้วินัยสิกขา ไปคบหากับพระสงฆ์พวกศึกษาคิดละเอียดไปต่างๆ ได้ฟังท่านพูดกันว่าห่มอย่างรามัญ เห็นถูกต้องด้วยเหตุต่างๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลังพระสงฆ์อื่นๆท่านห่มเข้าไปในพระราชวัง เป็นรับสั่งถามเลยๆ มิได้มีรับสั่ง ก็พลอยคิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมา โดยรักไปข้างทางสิกขาหาได้นึกมาถึงพระเกียรติยศ และการแผ่นดินเป็นของสำคัญแข็งแรง เหมือนดังทรงพระดำริครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้นก็มิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่ง เมื่อครั้งโน้นเป็นแต่มีศิษย์เป็นพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่าจะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาศัยพระบารมีเป็นที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบริษัทจึงมากขึ้น จึงคิดเห็นบ้างว่าจะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนคร แต่กาลล่วงเลยมานานแล้วก็กระดากอยู่ และไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเป็นที่อ้างก็เกรงใจศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันอยู่นั้น ครั้งนี้ได้รับสั่งในกรมเป็นที่อ้างก็ยินดีจะประพฤติตามพระราชประสงค์สนองพระเดชพระคุณมิให้ความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย พระเดชพระคุณเป็นที่ล้นที่พ้นชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อนึ่งก็จะได้เป็นสามัคคีคารวะ ด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นอันมากต่อไปในเบื้องหน้าด้วย 

ควรมิควรสุดแต่จะโปรด

ปฏิญาณนี้ถวายไว้แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีจอโทศก

พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิด บ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเข็ญเข้าความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้กราบทูลสารภาพ และมีคำวินิจฉัยออกมาว่าการห่มแบบใหม่นั้นไม่ต้องไม่ถูก ทำให้พระสงฆ์ในธรรมยุตินิกายหันกลับไปห่มคลุมแบบมหานิกายตามเดิม แต่เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์ พระสงฆ์ธรรมยุติที่หันไปห่มแบบมหานิกายได้พากันถวายพระพรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับไปห่มแหวกอย่างเดิมอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า ศรัทธาอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ไม่เกี่ยวดัวยฝ่ายอาณาจักร ไม่ทรงห้ามหรือทรงอนุญาตทั้ง ๒ สถาน พระสงฆ์ธรรมยุติจึงพากันกลับไปห่มแหวกอีกครั้งและยึดถือต่อมา จนปัจจุบันพระมหานิกายก็นิยมห่มแบบพระธรรมยุติเหมือนกัน ด้วยเหตุว่าง่ายกว่า สะดวกกว่า


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : ร.๓ ทรงวิตก พระสงฆ์ห่มแหวก ทำให้พระไทย ทั้งเมือง

view