สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผย 10 เมนู เสี่ยงเกิดอาหารเป็นพิษ แพทย์แนะปชช.ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และโฆษก คร. กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคอาหารเป็นพิษในจังหวัดมหาสารคามนั้น กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทั้งจากสำนักระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคหลังได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั้งหมด 27 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3 ราย สำหรับประวัติการรับประทานอาหารที่เชื่อมโยงกันคือ การรับประทานอาหารที่ซื้อจากตลาดเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ และมีไข้

นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายถึงปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่วนการเฝ้าระวังในชุมชน ทีม SRRT ได้ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ใน 8 หมู่บ้านที่พบผู้ป่วย ผลการสอบสวนไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มเติมเช่นกัน ทางทีมจึงได้ให้คำแนะนำและให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ ผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วงให้รีบไปพบแพทย์ และแนะนำการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาในหมู่บ้าน รวมถึงเข้าให้สุขวิทยาส่วนบุคคลแก่แม่ค้า สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 พฤศจิกายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 93,234 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ 15-24 ปี รองลงมาอายุ 65 ปีขึ้นไป และ 45-54 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ลำพูน ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ

โฆษก คร.กล่าวอีกว่า โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษหรือสารเคมี มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัย จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้ ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอสหรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆ ข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

ที่มา  มติชนออนไลน์


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เผย 10 เมนู เสี่ยง เกิดอาหารเป็นพิษ แพทย์ แนะปชช. ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด

view