สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัมผัสภายใน บ้านมะลิวัลย์ ฟื้นชีพวังเก่าเเก่นับร้อยปี โชว์มรดกประวัติศาสตร์

จากประชาชาติธุรกิจ

เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

หากพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีมากมายให้ตามไปศึกษาจากสิ่งที่หลงเหลือในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ขอพาเดินทอดน่องชมความสวยงามที่มีมานับร้อยปีของสถานที่ ซึ่งเคยมีบทบาทหลากหลายทั้งในฐานะ “วัง” และ “ศูนย์กลางของกลุ่มทางการเมือง” ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านไปตามความเจริญของยุคสมัย ทำให้ บ้านมะลิวัลย์ หรืออดีตความเป็นวัง ที่แม้จะดูเป็นของโบราณเท่าใด ยิ่งกลับตระหง่านโดดเด่นแตกต่างท้ายุคสมัยนั่นเอง

อาคารบ้านมะลิวัลย์ หรือวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหารกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ต้นราชสกุลกฤดากร เป็นอาคารที่มีความสำคัญอีกเเห่งหนึ่งที่อยู่ในการดูเเลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ริมเเม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งขององค์การอาหารเเละเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ (FAO)

การใช้พื้นที่ในบ้านมะลิวัลย์ มีช่วงหนึ่งเคยเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทย โดยบ้านมะลิวัลย์เเละทำเนียบท่าช้าง ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการงานใต้ดินฝ่ายสัมพันธมิตรเเละขบวนการเสรีไทย ที่มีนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งบ้านมะลิวัลย์เป็นฐานลับสำหรับกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกาที่ลอบเข้ามาจากต่างประเทศเเละซ่อนตัวเชลยศึกอเมริกัน โดยให้ความช่วยเหลือ รักษา เเละส่งกลับประเทศ พร้อมทั้งเป็นฐานติดต่อทางวิทยุกับหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา (โอเอสเอส)

ด้วยความเก่าเเก่ เรื่องราวน่าสนใจด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม เเละวิศวกรรมเเล้ว พระตำหนักเป็นอาคารแบบยุโรป ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี ก่อสร้างเสร็จใน พ.ศ.2460 ปัจจุบันอยู่ระหว่างบูรณะโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เช่าเป็น “องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” งบฯบูรณะทั้งหมด 100 ล้านบาท

ก้าวเเรกที่เดินเข้าไป เรามองเห็นความสวยงาม เเละความยิ่งใหญ่ เเม้จะบดบังด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงบูรณะ เเต่สิ่งเหล่านั้นก็ปกปิดความสวยงามจากเนื้อเเท้ของตัวอาคารไม่ได้

กิตติศักดิ์ อัครโพธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ หรือ “พี่กิต” พาเราเดินสำรวจทุกซอก ทุกมุม เริ่มตั้งเเต่การก่อสร้างอาคาร ที่เเบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ หากใครเดินเข้าไปชมจะพบกับส่วนท้องพระโรงภายในอาคาร มีไว้สำหรับจัดงาน รับเสด็จ

ความรู้สึกเมื่อย่างกายเข้าไป เรารับรู้ถึงความอลังการจากคนรุ่นก่อน โถงกว้าง เเละสูงจนต้องเเหงนคอดูลวดลายบนเพดาน

ความประณีตเเละฝีมือในการรังสรรค์ห้องนี้ไม่ธรรมดาเสียเลย หากย้อนกลับไปในสมัยก่อน ที่เครื่องไม้ เครื่องมือยังไม่ทันสมัยเท่ายุคนี้ ห้องนี้ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากภาพเคลื่อนไหวจากภาพยนตร์เรื่อง “Beauty and the Beast” ที่นึกไปถึงฉากเต้นรำระหว่าง เบลล์ เเละเจ้าชาย เพียงเเต่ห้วงขณะนี้เรายืนในสถานที่เเห่งความเป็นจริงเท่านั้น

อีกส่วนที่เหลือจากท้องพระโรงนั้นคือส่วนที่พักอาศัยหรือพระตำหนัก พี่กิต เล่าว่าอาคารหลังนี้สร้างในสมัยปี 2454 เเล้วเสร็จในปี 2460 รวมใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี ด้วยอายุของอาคารหลังนี้ที่ผ่านมานับร้อยปี สภาพ เเละการเปลี่ยนเเปลงโดยรอบก็เปลี่ยนไปตามเวลาเช่นกัน

การบูรณะเริ่มจากปัญหาเรื่องอาคารทรุดเอียงในลักษณะมุมทเเยง ซึ่งจุดที่ทรุดเอียงมากที่สุดอยู่ริมเเม่น้ำเจ้าพระยา

โดยไม่ทราบสาเหตุที่เเน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรพื้นทรุดชนิดที่ว่าหากวางลูกปิงปองลงพื้นจากมุมใดมุมหนึ่งลูกปิงปองกจะไหลเหมือนเราวางจากที่สูงเเล้วลาดลงไปที่ต่ำ

และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณะ เเละเริ่มฟื้นชีพ “บ้านมะลิวัลย์” นั่นเอง

ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ตัวอาคารที่เริ่มทรุดหนัก จึงมีการวางเเผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานของกรมศิลปากร หน่วยงานของกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ สำนักงานองค์การอาหารเเละเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ (FAO) เเละสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“เราดีดอาคารขึ้นมาประมาณ 1.32 เมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเล 20 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยการบูรณะเน้นรักษาของเดิม ไม่เอาของใหม่เข้ามาในอาคาร ส่วนไม้ในอาคารเป็นของเดิม ไม่ค่อยเสียหายเยอะ เรียกว่าค่อนข้างเต็มร้อย” เจ้าหน้าที่บริหารโครงการบูรณะเล่าให้ฟัง ขณะพาเราเดินชม

เมื่อเราเดินชมบรรยากาศที่อยู่ระหว่างบูรณะไปเรื่อยๆเกิดคำถามเกี่ยวกับพื้นที่กำลังเดินเหยียบอยู่ เพราะมีลักษณะคล้ายคอนกรีต ซึ่งได้รับคำตอบว่า มีการเทพื้นประมาณ 4 เซนติเมตร เพื่อปรับให้อยู่ในระดับปกติ เพราะอาคารทรุดเอียงต่างระดับ 105 เซนติเมตร

สิ่งตรงหน้ายังดึงดูดให้เราก้าวเท้าต่อเพื่อสำรวจ ราวกับย้อนไปในวัยเด็กที่มักตื่นตาตื่นใจยามอาจารย์ที่โรงเรียนพาไปพิพิธภัณฑ์ หากมองรอบๆ ตัวจะพบว่า ภายในอาคารนี้เต็มไปด้วยภาพวาดมากมาย

เเม้จะเลือนลางไปบ้างตามกาลเวลา หากยังมีบางภาพที่ชัดเจน จนเกิดคำถามในใจว่าสมัยก่อนมีวิธีทำภาพเขียนอย่างไรให้ติดทนทานขนาดนี้

การบูรณะในตอนเเรกนั้นไม่มีใครทราบว่ามีภาพเขียนที่ซ่อนอยู่หลัง สีที่ถูกทาทับมาเเล้วกว่า 5 รอบ

จนเมื่อเริ่มการบูรณะช่างก็เห็นว่าภาพเขียนมากมายผุดเต็มไปหมดหลังจากมีการขูดผนัง ส่วนใหญ่ผนังจะมีสีฟ้าอมเขียว เเละเขียนทับด้วยภาพวาดต่างๆ ซึ่งคงจะมีความหมายสำหรับสมัยนั้น ส่วนลวดลายตามฝ้าเเละเพดาน เป็นคอนกรีตหล่อสำเร็จเเล้วพิมพ์ลายมาเรียบร้อย ทำเพียงเเค่เเปะเข้าไปเท่านั้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังพบว่ามีการทำผนังเป็นสองชั้น โดยเว้นช่องกลางเอาไว้ จากการคาดการณ์คงทำเพื่อให้ตัวอาคารเบาลง

สำรวจกันต่อไปยังในห้อง ซิการ์รูม สิ่งเเรกที่จะเจอคือลายภาพวาดจิตรกรรมรูปเถาองุ่นสีครามห้องนี้พี่กิตเล่าว่าเจ้านายในสมัยก่อนน่าจะมีไว้พักผ่อน

ถัดกันมาคือ ห้องรับประทานอาหาร โดยจะตกเเต่งต่างจากห้องอื่นๆ คือผนังจะติดไม้ขึ้นสูง คงเพื่อกันการเปรอะเปื้อนของอาหาร เเละเมื่อเดินทะลุไปอีกห้องจะเจอห้องน้ำที่ทำเอารู้สึกตะลึงในความสมบูรณ์แบบของภาพเขียนจิตรกรรม ลายปลาเเละลายกุ้งที่เด่นชัดบวกกับส่วนของพื้นซึ่งมีการปูกระเบื้อง

เรื่องเล่าของห้องน้ำ จากยุคสู่ยุค

เรื่องเล่าของห้องน้ำหากพินิจดูดีๆจะพบว่าเลเยอร์ของพื้นห้องน้ำถูกทาทับกันสองชั้นแบ่งเป็น 2 ยุคสมัย โดยทางทีมบูรณะจะปรับปรุงพื้นคงของเดิม เเต่อาจเปลี่ยนไซซ์ของกระเบื้อง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการหารือของทุกฝ่าย

 

 

 

บันไดที่ไม่มีวันพัง…

เมื่อเดินออกจากห้องน้ำเเละเตรียมที่จะเดินขึ้นชั้นบนจะเห็นบันไดมีสองฝั่งคือฝั่งที่ติดกับห้องน้ำมีไว้สำหรับคนรับใช้ขึ้น เเละฝั่งที่อยู่ถัดไปอีกห้องมีไว้สำหรับ เจ้านายเท่านั้นโดยฝั่งของคนใช้จะเป็นบันไดทั่วไปเรียบๆ ไม่ต่างจากที่เราเคยเห็นกัน เเต่ฝั่งของเจ้านายนั้น ทำเอายืนจ้องอยู่นานมาก ลวดลายสละสลวยบนไม้ งานเเกะสลักที่งดงามจนละสายตาไปไหนไม่ได้ สีเเละเนื้อไม้ที่ยังคงความเเข็งเเกร่ง ทนทาน ราวกับสร้างเสร็จมาไม่กี่ปี หากความจริงคือบันไดนี้อายุมากกว่าร้อยปีเสียเเล้ว

ความพิเศษของบันไดฝั่งเจ้านายที่พอได้รับรู้ข้อมูลทำเอารู้สึกทึ่ง เพราะตัวบันไดคดเคี้ยวนี้ไม่มีไม้รองฐานตรงกลางมองผิวเผินน่าจะพังลงมาง่ายๆเเต่จากการตรวจสอบเเล้วพบว่าใช้เหล็กเเผ่นวางกับผนัง เเล้วใช้เเรงจากผนังกดบันไดให้ยึดติด คานของบันไดมีการสานลวด เเล้วกรุทับตกเเต่งด้วยไม้ ส่งผลให้รับนำหนักได้ดี มีความเเข็งเเรง คงทน เวลาเดินจะไร้เสียง สิ่งเดียวที่จะทำลายบันไดนี้ได้ คือการทำลายผนังส่วนใดส่วนหนึ่งที่ใช้ยึดเท่านั้นเอง

 

(บันไดฝั่งเจ้านาย(บันไดฝั่งคนใช้)

ภาพวาดจิตรกรรม ศิลปะความงามคู่บ้านมะลิวัลย์

ละสายตาจากบันไดพลันไปจดจ้องอยู่กับภาพวาดจิตรกรรมโบราณตรงหน้าจนเกิดคำถามในใจว่า “พวกเขาพบภาพวาดได้อย่างไรเเล้วสีที่ถูกทาทับไปนั้น ขูดออกอย่างไรกัน”

“วิธีการขูดสีตามผนังจะใช้วิธีที่ทะนุถนอมมากขึ้นต้องใช้ใบมีดผ่าตัดเล็กๆค่อยๆเลาะเเล้วหยิบออกระยะเวลาเกือบ3เดือน เราทำได้เพียงเเค่ครึ่งผนังจากมุมหนึ่งของอาคาร เพราะเราต้องการให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดของลายที่ซ่อนอยู่ภายใน” เจ้าหน้าที่บริหารโครงการเล่าไปขณะพาเราเดินขึ้นไปยังชั้นสองของอาคาร

ย้อนกลับไปถึงเรื่องความสว่างในสมัยนั้นเเน่นอนว่ามีไฟฟ้าใช้กันเเล้วหากเเต่ติดโคมไฟไว้ตามผนังห้องโดยสายไฟสมัยนั้นมีการฝังสายไฟเข้าไปในผนังวิธีการคือกรีดผนังเเล้วติดสายไฟเข้าไปจากนั้นโบกปูนปิดทับ

เมื่อเราเดินกันมาถึงชั้นสองของอาคารจะพบกับห้องบรรทมห้องนี้ต่างออกไปคือไม่พบภาพเขียนจิตรกรรมเเต่กลับพบผนังสีฟ้าอมเขียวพี่กิตเล่าให้ฟังว่า ผนังเเละเพดานถูกทาด้วยสีฝุ่น (ลักษณะคล้ายสีฟ้า) ฝ้าเพดาน มีการพิมพ์ลาย เเล้วนำไปติดไว้กับเพดานเลย ตรงกลางห้องจะติดพัดลมโบราณ

ห้องไฮไลท์ของบ้านมะลิวัลย์

สันนิษฐานว่าเป็นห้องพระ มีซุ้มโค้ง 2 โค้ง เพื่อวางพระพุทธรูป ต่อมาภายหลัง เปลี่ยนเป็นที่วางพระโกศ ภายในสุ้มเขียนด้วยหัวสิงห์สีน้ำเงินคราม ข้างบนเขียนภาพเหมือนเพดานโบสถ์ ราวกับเป็นอุโบสถย่อมๆ ก็ว่าได้

สำหรับตัวอาคารบ้านมะลิวัลย์จะหันเข้าหาเเม่น้ำในสมัยก่อนการสร้างอาคารจะไม่หันหน้าเข้าถนนเพราะด้านหลังมีป้อมเเละการเดินทางในสมัยก่อนนั้นนิยมเดินทางน้ำเป็นหลัก

แผนการในอนาคต หลังจากการปรับปรุงเเล้วเสร็จในปีหน้า บ้านมะลิวัลย์จะกลับมาเป็นออฟฟิศของ FAO อีกครั้งซึ่งจะทำให้เหมาะสมกับการใช้งาน สมกับเป็นพระราชวัง หากใครจะเข้าชมในอนาคตสามารถติดต่อ หรือส่งหนังสือเข้ามาที่ FAO เพื่อเข้าเยี่ยมชมได้

ในขณะนี้บูรณะได้ประมาณ 50% คาดว่าจะเเล้วเสร็จเดือนเมษายนปี 2561 เเละจะมีการปลูกพืชพรรณไม้ อย่างไรก็ดี การตกเเต่งนี้จะต้องคำนึงถึงความเป็นวัฒนธรรมชาวมอญ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหารกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ต้นราชสกุล กฤดากร ทรงสืบเชื้อสายมอญด้วยส่วนหนึ่ง

นับว่าเป็นโบราณสถานที่ยังคงรูปลักษณ์เเละรายละเอียดไว้อย่างมากแม้อายุจะผ่านมาหลายทศวรรษเเละรอบข้างจะผุดอาคารใหม่ๆมากแค่ไหน “อาคารบ้านมะลิวัลย์” ยังคงเด่นสง่าตามยุคสมัย เเละถือเป็นสมบัติของชาติ ที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ สมควรบูรณะเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาเเละเรียนรู้ต่อไป


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สัมผัสภายใน บ้านมะลิวัลย์ ฟื้นชีพ วังเก่าเเก่ นับร้อยปี มรดกประวัติศาสตร์

view