สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตแล้งปี 2536 : บทเรียนกรุงเทพฯ ขาดน้ำดิบผลิตประปา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ศ.เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์


หลังจากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2514 ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีมากพอที่จะเปิดโครงการชลประทานได้อีกมาก ร้อนถึงธนาคารโลกซึ่งให้กู้เงินมาพัฒนาโครงการชลประทานเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้เสนอแนะให้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง (Chao Phraya-Mekong Basin Study) ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาที่คัดเลือกให้มาศึกษาเป็นบริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่จากประเทศแคนาดา มีผลงานอยู่ทั่วโลก

ผลการศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง ปรากฏว่าปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ "มีไม่เพียงพอ" สำหรับการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาได้เต็มพื้นที่ (เติมตามความสามารถที่คลองส่งน้ำจะส่งให้ได้) ทุกปี เป็นผลให้โครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) 

ระยะที่ 2 ในเขต จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ประมาณ 5 แสนไร่ต้องถูกยกเลิกเพราะการพัฒนาเพื่อเพาะปลูกฤดูฝนอย่างเดียวไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจการศึกษาดังกล่าวยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญมาก คือ ไม่ควรก่อสร้างอ่างซ้อนอ่างแล้วเปิดพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างด้านเหนือน้ำเพิ่ม เพราะจะเป็นการย้ายการเพาะปลูกฤดูแล้งจากโครงการชลประทานเจ้าพระยาไปยังพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างด้านเหนือน้ำ ซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม และขณะนั้น

อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดพร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขต จ.เชียงใหม่ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขต จ.ลำพูน เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลยังไม่ได้ก่อสร้าง

หลังจากนั้น บริษัทที่ปรึกษาได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยการพัฒนาแบบจำลอง สำหรับจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ และใช้งานประมาณปี พ.ศ. 2522-2525 เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างก็ได้หยุดการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ต่อมามีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัด พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงพร้อมระบบชลประทานท้ายอ่าง แต่เป็นอ่างที่มีขนาดใหญ่เกินไปจนไม่มีน้ำจะเก็บกักได้เต็มอ่าง และปัจจุบันกำลังก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำแม่แตง (แม่น้ำแม่แตงไหลลงแม่น้ำปิงเหนือที่ตั้ง จ.เชียงใหม่) ไปยังแม่น้ำปิง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรอ่างว่างโดยเกณฑ์เฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 ล้าน ลบ.ม. 

ดังนั้น โครงการดังกล่าวนี้จึงเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และในปัจจุบันกำลังก่อสร้างเขื่อนผาจุก (เขื่อนผันน้ำเพื่อการชลประทาน) พร้อมระบบชลประทานในเขต จ.อุตรดิตถ์ ท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกับโครงการพิษณุโลก ระยะที่ 2 ที่ถูกยกเลิกไป ดังนั้น โครงการเขื่อนผาจุกจึงเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเช่นกัน

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2536 ได้เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนทำให้น้ำเค็มขึ้นมาถึงสถานีสูบน้ำสามเสน จ.ปทุมธานี แต่ความเค็มยังไม่เกินข้อกำหนดของน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ได้มีความพยายามที่จะผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาลงแม่น้ำท่าจีน และสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองพระยาบันลือมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร แต่ผันน้ำมาได้เพียงประมาณ 5-10 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น เผอิญโชคดีที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2536 เกิดฝนตกที่นครสวรรค์มากกว่า 200 มม. จึงทำให้ปัญหาการขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาคลี่คลายไปในทางที่ดี

หลังจากปี พ.ศ. 2536 การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งโครงการชลประทานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ไม่ได้มีการศึกษาการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้องดังที่ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการ และตามที่บริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศได้ศึกษาไว้ 

แต่กลับศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลให้ไปลดปริมาณน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง ในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยา และเพื่อการประปาของการประปานครหลวง รวมทั้งไปลดปริมาณน้ำใช้เพื่อดันน้ำเค็ม ซึ่งอยู่ท้ายน้ำสุดของลุ่มน้ำโดยเฉพาะในฤดูแล้ง จึงทำให้เชื่อได้อย่างแน่นอนว่าถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ. 2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพฯจะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.หยุดการพัฒนาโครงการผันน้ำจากแม่น้ำแม่แตง-แม่น้ำปิง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัด และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง และโครงการชลประทานเขื่อนผาจุก เพราะไม่ได้ศึกษาระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง จึงเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จะเป็นการย้ายการใช้น้ำจากโครงการชลประทานด้านท้ายน้ำ 

(ซึ่งก็มีน้ำไม่เพียงพออยู่แล้ว) มาใช้ในโครงการดังกล่าว 2.ในอนาคตถ้าจะมีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนการพัฒนาจะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง ดังที่ประเทศพัฒนาแล้วกระทำกัน (รวมทั้งโครงการแม่วงด้วย) หรือตามที่บริษัทที่ปรึกษาจากประเทศแคนาดาได้ศึกษาเป็นตัวอย่างไว้

3.รีบผันน้ำจากสาขาของแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการที่มีศักยภาพสูงทั้ง 3 โครงการ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเคยศึกษาไว้ มาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลโดยเร่งด่วน 

ซึ่งจะได้ปริมาณน้ำผันปีละประมาณ 1,350 ล้าน ลบ.ม. 4.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2522-2525 โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้ทันสมัยและเหมาะสม รวมทั้งมีการเก็บข้อมูลจากสนามมาสอบเทียบแบบจำลองที่มากพอและเป็นเวลานานพอด้วย และนำไปประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำอื่นของประเทศ เช่น ลุ่มน้ำชี เป็นต้น

5.ปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทาง ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทำมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี 6.เพื่อให้โครงการแหล่งน้ำที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเสนอแนะให้เพิ่มข้อความใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่กำลังร่างอยู่ ดังนี้ "โครงการแหล่งน้ำที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ จะต้องศึกษาการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้โครงการที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ ไปลดผลประโยชน์ของโครงการที่พัฒนาอยู่ก่อนแล้ว" ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นและกำลังเกิดขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เชื่อว่าถ้าดำเนินการตามข้อเสนอแนะ หลังจากที่สามารถผันน้ำจากสาขาของแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในประเทศไทย มาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,350 ล้าน ลบ.ม. และถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ. 2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพฯจะไม่ขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน และถ้าผันน้ำมาได้แล้ว แต่ความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ. 2536 ไม่เกิดขึ้นอีก โครงการผันน้ำดังกล่าวก็ยังเป็นโครงการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะโครงการชลประทานเจ้าพระยายังขาดน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งเป็นปริมาณมาก จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ดำเนินการ

แต่ถ้าหากปล่อยให้เป็นปัญหาเช่นนี้เรื่อยไป นอกจากเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจากการพัฒนาและการจัดการน้ำจะไม่ดีขึ้นแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดจากภัยแล้งและน้ำท่วมต่อประชาชนก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ. 2536 ขึ้นมาอีก กรุงเทพฯจะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน

กล่าวโดยสรุปการพัฒนาแหล่งน้ำก่อนการพัฒนาจะต้องศึกษาการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ ไม่ให้โครงการที่เกิดขึ้นก่อนไปขัดขวางโครงการที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง และไม่ให้โครงการที่จะเกิดขึ้นในภายหลังไปลดผลประโยชน์ของโครงการที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วิกฤตแล้งปี 2536 บทเรียนกรุงเทพฯ ขาดน้ำดิบผลิตประปา

view