สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวัง ม.44 เปลี่ยน เจตนารมณ์ กฎหมาย ส.ป.ก.

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวร้อนแรงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกการใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ด้วยการอนุญาตให้ 3 กิจการต่อไปนี้ คือ การสำรวจปิโตรเลียม การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และกิจการสำรวจเหมืองแร่ดำเนินกิจการต่อไปได้

จากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบนพื้นที่ของเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น

โดยอำนาจตาม ม.44 ระบุพอสรุปได้ว่า 1.โครงการที่อนุมัติแล้ว และดำเนินการอยู่ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ 2.กิจการที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตประกอบกิจการในพื้นที่ ส.ป.ก.ต้องมีการพิจารณาเป็นรายกรณี โดยต้องให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ คือ 1.ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 3.ต้องกำหนด

ค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์สาธารณะ และนำเงินไปจัดหาที่ดินให้เกษตรกร 4.การให้ประโยชน์ต่อเกษตรกรต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะต้องมีค่าตอบแทนที่ได้จากการเอาที่ดิน ส.ป.ก.ไปประกอบกิจการมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลสาธารณะ 5.ต้องกำหนดแผนฟื้นฟูพื้นที่เป็นระยะ

รวมทั้งต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการคืนประโยชน์ให้แก่สังคม เช่น การคืนประโยชน์ในแง่เงินกองทุน หรือเงินเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ และต้องกำหนดแผนการฟื้นฟูที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าวเป็นระยะด้วย เนื่องจากไม่ได้มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

มติ คสช.ที่ออกมาเป็นการหาทางออกให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม 7 บริษัทไม่ให้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันทำให้ภาครัฐไม่ต้องสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้จากปิโตรเลียม แต่ได้ส่งผลกระทบต่อบทบาท และหน้าที่ของ ส.ป.ก. ที่สำคัญเป็นการ "เปลี่ยนไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย" ดั้งเดิมในการก่อตั้ง ส.ป.ก. !

ตามรายละเอียดใน พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ขอยกตัวอย่างเฉพาะในมาตรา 4 พอสรุปได้ว่า "การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" หมายความว่า การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น"

ที่สำคัญหากย้อนกลับไปพิจารณาทบทวนบทบาทหน้าที่หลักของ ส.ป.ก.ที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหามากมายให้ตามล้างตามแก้ ดังตัวอย่างที่รัฐบาล คสช.ได้ออกมาตรา 44 ในการยึดคืนที่ดิน 1.5 แสนไร่ หลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่ไปใช้ "ผิดวัตถุประสงค์" ถูกบุกรุก เกษตรกรขายสิทธิให้นายทุน ไปทำสนามกอล์ฟ รีสอร์ต ฯลฯ

ขณะที่หันกลับไปมองภาพรวมการทำเกษตรกรรมของชาวสวน ชาวไร่ของประเทศไทย ปัจจุบันพบว่ายังมีปัญหาเรื่องขาดที่ดินทำกิน มีการบุกรุกพื้นที่ป่าในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ดังตัวอย่าง "ป่าในจังหวัดน่าน" เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% ที่ผ่านมามีการตัดไม้ทำลายป่า จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หมอกควัน และปัญหาทั้งหมดยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งที่ "น้ำ" คือปัจจัย 4 ของมนุษย์ !

"บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เคยให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2560 ถึงแนวทางการแก้ปัญหาป่าไม้ในจังหวัดน่านที่ไม่ประสบผลสำเร็จ และหนำซ้ำยังเลวร้ายลงทุกวันด้วยว่า ความเป็นจริงป่าต้นน้ำน่านถูกทำลายมาตลอด โดย 10 ปีที่ผ่านมา เราเสียป่าต้นน้ำไปเฉลี่ยปีละ 200,000 กว่าไร่ คือหายไปเกือบ 30% แล้ว ตัวเลขที่ผมเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นตัวเลขที่รัฐบาลยอมรับว่า ใช่ สรุปว่าตอนนี้ป่าเสียหายไปคิดเป็น 30% จากเดิมที่ป่าน่านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 6.4 ล้านไร่ ตอนนี้เหลือประมาณ 4.8 ล้านไร่ ดังนั้น 30% เป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก

ดังนั้น จึงอยากฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่บทบาทของ ส.ป.ก.ที่ต้องสร้างหลักประกันยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรพอสมควร มิใช่นำที่ดินไปให้กิจการตามกฎหมายอื่นไปทำประโยชน์ เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก

แม้วันนี้ 3 กิจการด้านพลังงานใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งสิ้น 3.6 พันไร่ จากพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งหมด 41 ล้านไร่ แต่อนาคตยังมีกิจการที่อยู่ระหว่างการขออนุญาต ขณะเดียวกันต้องวางกฎเหล็กให้เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกษตรกร ข้าราชการ หรือนักการเมืองในอนาคตมาใช้อำนาจ ทำให้มีปัญหาซ้ำรอยอดีต

สำหรับการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่เกี่ยวกับ 3 กิจการด้านพลังงานต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ เช่น การแบ่งปันผลประโยชน์ นอกจากผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าภาคหลวงแล้ว การแบ่งปันผลประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินที่อาจมีการขุดค้นพบปิโตรเลียม หรือแร่ต่าง ๆ ขึ้นมาเพียงคนเดียว เพราะอย่างน้อยทรัพยากรในดินเป็นสมบัติของส่วนรวม ควรจะมีการแบ่งปันเพื่อให้ประโยชน์ในชุมชนส่วนรวมได้รับด้วยหรือไม่

การกำหนดขอบเขตเรื่องการนำที่ดินไปใช้ ต้องตีกรอบให้รอบคอบอย่างยิ่ง เพราะอนาคต "นักการเมือง" บิดเบือนทุกอย่างได้ ตามอำนาจ และผลประโยชน์ในมือ...มิเช่นนั้นอนาคตอาจต้องเปลี่ยนชื่อ ส.ป.ก.จะเหมาะสมกว่า !


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ระวัง ม.44 เปลี่ยน เจตนารมณ์ กฎหมาย ส.ป.ก.

view