สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลิ่นทุเรียน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สกุณา ประยูรศุข

เปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องหนัก ๆ มาเรื่องเบา ๆ คั่นเวลา กับสถานการณ์อึมครึม เครียด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกา เกาหลีเหนือ หรือเรื่องของเรือดำน้ำกับการอยากได้อยากมีที่ประเทศไทย แล้วยังต้องรบรากับปัญหาเศรษฐกิจที่ค่าเงินในกระเป๋ามันแฟบเบาบางลงไปทุกเวลา ทุกนาที
แต่ถึงแม้เงินในกระเป๋าเบาบาง หากเป็นเรื่อง "ของกิน" สุนทรียะนี้มีได้เสมอ โดยเฉพาะการกิน "ทุเรียน" ราชาแห่งผลไม้ทั้งปวง
เหตุที่คุยเรื่องนี้ เพราะเขากำลังเปิดสวนที่จันทบุรี และระยอง ให้นักกินทุเรียนทั้งหลายได้เข้าไปลิ้มรสแสนอร่อยของผลไม้สีเหลืองอร่ามชนิดนี้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560 ซึ่งปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา กล่าวคือไม่มีการ "วอล์กอิน" เข้าไปกินในสวนแล้ว แต่ให้สำรองจองทุเรียนกินล่วงหน้า ในสวนต่าง ๆ ทั่วจังหวัดจันทบุรี และระยอง ราคาแบบบุฟเฟต์ ใครสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากแต่ละสวนที่เข้าร่วมรายการกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับรองว่างานนี้ได้ "ของดี" มีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นทุเรียนอ่อนหลอกลวงชาวบ้านให้เสียของ
ราชาผลไม้อย่างทุเรียน ยอมรับกันแต่ไหนแต่ไรในเรื่องความอร่อยว่า "สุดยอด" แต่พอมาดูเรื่อง "กลิ่น" นั้น ร้ายกาจขนาดฆ่าคนได้เลยทีเดียว 
เชื่อหรือไม่ว่ามีบันทึกเกี่ยวกับ "กลิ่นทุเรียน" ของคนจากที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ชาวตะวันตกมีการเขียนบันทึกแสดงความเห็น อาทิ "การรับประทานทุเรียนเหมือนรับประทานเยลลี่ราสป์เบอรี่หวานในห้องส้วม" "กินเข้าไปแล้วกลิ่นปากเหมือนไปจูบศพยายมา" "กลิ่นของทุเรียน คือขี้หมู น้ำมันสน และหอมหัวใหญ่ ตกแต่งด้วยถุงเท้าเน่า ๆ ส่งกลิ่นได้ไกลหลายหลา" หรือบางครั้งเหล่าพ่อครัวก็เปรียบเปรยรสชาติของทุเรียนว่าเป็น "ของเน่า"
เมื่อกลิ่นทุเรียนมีความสำคัญถึงปานนี้ จึงมีนักวิจัยนำทุเรียน "หมอนทอง" จากเมืองไทยไปศึกษาวิจัยเสียเลย ที่ประเทศเยอรมนี 
ซึ่งผลออกมาว่าสารประกอบในกลิ่นของทุเรียนไทย แยกส่วนออกมาพบว่ามีส่วนผสมของกลิ่นถึง 50 กลิ่น ตั้งแต่กลิ่นผลไม้, หอมคั่ว, หอม, กระเทียม, ตัวสกังก์, กลิ่นโลหะ, ยาง, ไม้, ชีส, น้ำผึ้ง, ยีสต์, ปลาหมึกแห้ง ไปจนถึงกลิ่นเนื้อย่าง เป็นต้น
ในประวัติศาสตร์ของไทย ยังมีบันทึกถึง "กลิ่นทุเรียน" เช่นกัน ปริวัฒน์ จันทร เขียนเล่าไว้ในเรื่อง "ทุเรียนไปเมืองจีนกับซำปอกง" เขาบอกว่า คำว่าทุเรียนในภาษาจีนกลาง "เจิ้งเหอ" หรือเรียกอีกชื่อ "ซำปอกง" เป็นคนตั้งขึ้น
เจิ้งเหอเกิดในมณฑลยูนนาน เป็นผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยของจักรพรรดิหยงเล่อแห่งราชวงศ์หมิง วีรกรรมของเจิ้งเหอคือนำทัพเรือออกเดินทางตระเวนค้าขายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คนจีนในเมืองไทยรู้จักเจิ้งเหอกันดี 
เจิ้งเหอตั้งชื่อทุเรียนว่า "หลิวเหลียน" หรือ "โถวเลี้ยง" ในสำเนียงแต้จิ๋ว แปลว่า "ความหวนอาลัย" หมายถึงว่า ผู้ใดไม่เคยรับประทานทุเรียนมาก่อน ลองได้รับประทานเข้าไปก็จะหลงอาลัยในรสชาติจนยากที่จะลืมเลือน 
ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยมักเล่าให้ลูกหลานฟัง คำว่า "ทุเรียน" นั้น ชาวจีนเรียกว่า "ซำปอกงไส้" หรือ "อาจมของซำปอกง" กล่าวคือเมื่อเจิ้งเหอได้เดินเรือมาค้าขายในสยามนั้น ระหว่างที่ได้เดินเที่ยวชมตามหมู่บ้าน เกิดปวดท้องหนัก เมื่อถ่ายแล้วจึงได้นำก้อนอาจมนั้นห่อใบไม้ ปีนขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งไม้ บังเอิญขณะนั้นมีชาวบ้านที่ทราบว่า ซำปอกงเดินผ่านมา จึงได้มาขออาหารจากเจิ้งเหอ ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นผู้มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ เจิ้งเหอจึงชี้ขึ้นไปบนต้นไม้ บอกให้ปีนขึ้นไปบนนั้นมีทุเรียนอยู่ ชาวบ้านคนนั้นเชื่อจึงปีนขึ้นไปแกะห่ออาจมออกมาดู พบว่าข้างในเป็นผลทุเรียนสีเหลืองที่ส่งกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน
เพราะฉะนั้น คนชอบกินทุเรียนก็ไม่รังเกียจกลิ่นของมัน แต่คนที่ไม่ชอบกินทุเรียนมักอ้างว่า ทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือน "ขี้ซำปอกง" พอ ๆ กับที่ฝรั่งก็บอกว่า กลิ่นทุเรียนเหม็นเหมือน "ขี้" 
จะอย่างไรก็แล้วแต่-มาถึงวันนี้ราคาทุเรียนแพงพอ ๆ กับทองคำ

ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : กลิ่นทุเรียน

view