สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรกรของพระราชา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

ต้องยอมรับว่าแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ในภาคเกษตรกรและชนบท ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากจะต้องเริ่มต้นจากครัวเรือนต้องพึ่งพาตนเอง ก่อนที่จะพัฒนาให้ชุมชนต่าง ๆ เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือตัวเองต่อ ๆ ไป จนเกิดการเชื่อมโยงสู่ภายนอก

ด้วยการแสวงหาองค์ความรู้จากที่ต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ หากยังจะต้องเชื่อมโยงกับแหล่งทุนและเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อให้ชุมชนเหล่านั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แต่กระนั้น ก็จะต้องมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ถึงจะทำให้ความยั่งยืนประสบความสำเร็จในระยะยาว

ซึ่งเหมือนกับเทสโก้ โลตัสที่ริเริ่มโครงการ "เทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ" ที่ดำเนิน 22 โครงการประชารัฐในปี 2559 ที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ที่มั่นคง และการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรและภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย



ผ่านมาทั้ง 22 โครงการสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไปแล้วมากมาย ทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะกับโครงการปลูกผักกลางนา ทุ่งกุลาร้องไห้ยิ้มได้ จังหวัดร้อยเอ็ด และโครงการขึ้นฉ่ายกลางมุ้ง จังหวัดสงขลา

สำหรับโครงการปลูกผักกลางนา ทุ่งกุลาร้องไห้ยิ้มได้ "กรแก้ว กาญจนศร" ผู้นำชุมชนบ้านโพนตูม ต.ทุ่งทอง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า เดิมทีชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่าเราปลูกอะไรไม่ได้นอกจากข้าว แต่พอเทสโก้ โลตัส, กรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยแนะนำ อบรมให้ความรู้เรื่องการบำรุงดิน การปลูกพืชที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือก

"ผมจึงลองปลูกผักบุ้งจีน ซึ่งผลผลิตออกมาดีมาก เราโชคดีด้วยที่พระครูวินัยธรธีระพงษ์ ธีรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าทุ่งกุลาเฉลิมราช ให้พื้นที่เพาะปลูกทดลองทั้งหมด 13 ไร่ 8 แปลง โดยมีชาวบ้าน 30 ครัวเรือน หรือประมาณ 70 คน ช่วยกันแบ่งแปลง ดูแลการปลูกและเก็บเกี่ยว นอกจากนั้น เทสโก้ โลตัสยังเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาแหล่งผลิตพืชผักและผลไม้เข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี (GAP) ด้วย ทั้งยังรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจนทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น" 

"ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนที่ดินในเขตนี้มีความแห้งแล้งมาก และชาวบ้านเมื่อก่อนมีความเชื่อว่าดินที่ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่สามารถปลูกพืชอย่างอื่นได้นอกจากข้าว และข้าวก็ปลูกได้ปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แถมที่ผ่านมาราคาข้าวค่อนข้างตกต่ำ จึงทำให้เกษตรกรลำบากมาก"

ถึงตรงนี้ "พระครูวินัยธรธีระพงษ์ ธีรปัญโญ" จึงกล่าวเสริมว่า วัดอยู่กับชุมชน ชาวบ้านกับวัดปากท้องเดียวกัน เมื่อราคาข้าวตกลงมากว่าครึ่ง ชาวบ้านจึงไม่มีกิน ก็เลยพลอยทำให้พระไม่มีฉันไปด้วย อาตมาจึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้ชาวบ้านในช่วงที่ทำนาไม่ได้ แต่ความยากในตอนแรกคือเขามีความเชื่อกันว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ปลูกข้าวได้อย่างเดียวเพราะดินเค็ม น้ำเค็ม

"อาตมาจึงไปปรึกษากรมวิชาการเกษตรเพื่อให้เขามาช่วยตรวจสอบสภาพดินและน้ำ จนพบว่าดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาของการปลูกพืช จนที่สุดเจ้าหน้าที่จึงเริ่มทำแปลงต้นแบบ อบรมให้ความรู้ชาวบ้าน พร้อมกับส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักบุ้งจีน ปรากฏว่าผลผลิตออกมาดีจนทำให้ชาวบ้านก้าวข้ามกำแพงความเชื่อเดิมที่ไม่เพียงจะทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ยังทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ กลับบ้านเพื่อช่วยกันทำเกษตรกรรมมากขึ้นด้วย จนทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น"

ขณะที่ "พรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์" รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัสบอกว่า โครงการนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าเราทำได้ แต่ต้องร่วมมือกัน และในตอนนี้เราวางแผนกับเจ้าอาวาสในการปลูกผักชนิดอื่น ๆ เช่น ผักคะน้า และผักกวางตุ้ง ซึ่งจะมีความยากกว่าการปลูกผักบุ้งจีนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน เราก็วางแผนที่จะให้เกษตรกรปลูกเมล่อนเพราะในตลาดมีราคาสูง เพื่อพวกเขาจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย    

"อย่างทุกวันนี้ชาวบ้านสามารถปลูกผักบุ้งจีนได้วันละประมาณ 300 กิโลกรัม และผ่านมาเทสโก้ โลตัสรับซื้อผลผลิตจากโครงการนี้ไปแล้วกว่า 10 ตัน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกระจายให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะเป้าหมายของเราต้องการรับซื้อผลผลิตวันละ 500 กิโลกรัม ซึ่งคิดว่าพวกเขาคงทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน"

เช่นเดียวกับโครงการขึ้นฉ่ายกลางมุ้ง จังหวัดสงขลา "พิโชติ ผุดผ่อง" ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้นำเครือข่ายปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ที่เขาน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้

"ผมเดินตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองในด้านเกษตร เพราะโตมาผมก็เห็นพระองค์ท่านอยู่กับการเกษตรมาตลอด พระองค์ท่านเห็นความสำคัญว่าสังคมเกษตรต้องมาก่อน ต้องทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง เวลาผมเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้ ผมมักจะบอกผู้เข้าอบรมเสมอว่าอย่าท้อ ถ้าท้อแล้วจะถอย ทำอะไรก็ไม่ได้ ดูในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่าง พระองค์ท่านทรงทดลอง ทรงเก็บข้อมูล และทรงพิสูจน์อะไรแล้วทุกอย่าง จนกลายเป็นคำตอบ ฉะนั้น เราเป็นเกษตรกรของพระราชาจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้" 

"อีกอย่างผมอาจเรียนมาทางด้านเกษตรกรรมด้วย จึงชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ไม่เคยคิดจะทำสวนยาง เพราะราคายางพารามีความผันผวนมาก ผมจึงหันไปทำงานบริษัทเอกชนก่อน และที่นี่เองที่ทำให้ผมมีโอกาสสะสมความรู้ในการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ผมศึกษาข้อมูลทุกอย่าง พร้อมกันนั้นผมก็ศึกษาตลาดไปด้วย เพื่อดูว่าถ้าวันหนึ่งเราจะออกมาทำเองจะทำได้ไหม และที่สุดเมื่อผมทำงาน 5 ปีผ่านไปจึงลาออกจากงานมาทดลองทำเอง"

"ผมเริ่มปลูกผักไฮโดรโพนิกส์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เริ่มแรกมีเพียงไม่กี่โต๊ะ ใช้เงินลงทุนหลักแสนบาท และช่วงนั้นต้องถือว่าเป็นช่วงท้าทายอย่างมาก เพราะคนยังไม่ค่อยรู้จักผักไฮโดรโพนิกส์ อีกอย่างตอนนั้นผมปลูกเฉพาะผักอย่างเดียว จนตอนหลังจึงหันมาปลูกขึ้นฉ่ายเพราะราคาดีกว่ามาก ที่สำคัญตลาดล่างมีความต้องการมากด้วย"

ส่วนของช่องทางในการจำหน่าย "พิโชติ" บอกว่า เราเริ่มฝากขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำใน จ.สงขลาก่อน ต่อจากนั้นจึงมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเทสโก้ โลตัส และเขามีการประกันราคาให้ 75 บาท/กิโลกรัม ที่สุดจึงนำขึ้นฉ่ายส่งให้กับเทสโก้ โลตัสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

"ผมมองว่าการประกันราคาช่วยทำให้เราสามารถคำนวณต้นทุน และวางแผนการผลิตแต่ละรอบได้ ดีกว่าส่งตลาดเพราะราคาไม่นิ่ง หลังจากนั้น ผมจึงค่อย ๆ ขยายกำลังการผลิตจนปัจจุบันมีทั้งหมด 70 โต๊ะ ผลิตได้อาทิตย์ละ 600 กิโลกรัม และอนาคตวางแผนจะผลิตให้ได้อาทิตย์ละ 1 ตัน"

"สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อโต๊ะขนาด 2x7 เมตร จะตกประมาณ 3,000 บาท เทียบกับต้นทุนการผลิตประกอบด้วย ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย 500 บาท/โต๊ะ โดยใช้เวลาการปลูก 35-40 วัน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว สามารถปลูกต่อได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้อย่างสบาย"

แต่ "พิโชติ" ไม่ได้หยุดอยู่ที่ความสำเร็จของตัวเอง เพราะเขาเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ที่เขามีมาทั้งหมด ล้วนเกิดจากแรงบันดาลใจจากการเป็นเกษตรกรของพระราชา เขาจึงพยายามส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วยการตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย โดยร่วมมือกับ จ.สงขลาช่วยอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน

เพื่อให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักและขึ้นฉ่ายไฮโดรโพนิกส์ เพื่อจะได้กลายเป็นชุมชนไฮโดรโพนิกส์อย่างแท้จริง

"โดยผมจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ช่วยดูแล และพร้อมช่วยติดตั้งระบบการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ให้แก่พวกเขา จนปัจจุบันเริ่มมีชาวบ้านหันมาปลูกผักไฮโดรโพนิกส์เพิ่มมากขึ้นถึง 22 รายแล้ว และแต่ละรายจะส่งผลผลิตให้กับเทสโก้ โลตัสทั้งหมด ซึ่งผมบอกเขาว่าถ้าคุณปลูกขึ้นฉ่ายด้วยงบฯลงทุนประมาณเท่านี้ ภายใน 1 ปีคุณก็จะคืนทุน ทั้งยังเป็นรายได้เสริมจากการปลูกยางอีกด้วย ซึ่งหลาย ๆ คนเห็นด้วย และเริ่มประสบความสำเร็จกันบ้างแล้ว"

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่เพียงเริ่มต้นจาก "พิโชติ" ก่อนเป็นอันดับแรก หากเขายังส่งต่อความสำเร็จไปยังเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเหมือนกับเป็นการเชื่อมโยงความรู้จากตัวเองไปสู่ชุมชน

เพื่อให้ชุมชนแข็งแรง

เพราะเมื่อชุมชนแข็งแรง จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และสุดท้ายก็จะเกิดประโยชน์กับส่วนรวม

อันเป็น 1 ใน 23 หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ยังคงนำมาปฏิบัติได้จนทุกวันนี้


eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เกษตรกรของพระราชา

view