สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยังไง...ยังไง ก็ยัง (อยาก) ไปน่าน

จากประชาชาติธุรกิจ

น่าน" ตามคำบอกเล่าของ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แปลว่า น้ำ มักเรียกซ้ำซ้อนกันว่า น่านน้ำ ต่อมาหมายถึง เขต หรือ ย่าน ตามตำนานการเกิดเมืองน่านนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาแล้งน้ำและต้องการแหล่งน้ำ

ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าแม่ท้าวคำปิน(นางพระยาของเจ้าเมืองปัว)ท้องแก่ หนีศึกเมืองพะเยาไปอาศัยกระท่อมชาวไร่อยู่ในป่า ต่อมาคลอดลูกชาย แล้วรำพันว่าแล้งนัก ลำบากยากเข็ญ หาน้ำกินน้ำอาบก็ไม่ได้ พอขาดคำก็เกิดพายุฝนห่าใหญ่ตกลงมามากนัก "น้ำก็นองพัดก้อนหินก้อนผา น่าสะพรึงกลัว" พอสงบก็อุ้มลูกชายไปนั่งบนก้อนหินที่ไหลนองมากับน้ำ แล้วอาบน้ำลูกชายสบายดี หลังจากทัพเมืองพะเยายกกลับ ลูกชายแม่ท้าวคำปินได้เป็นเจ้าเมืองปัว (แทนบิดา) แล้วได้นามครองเมืองตามนิมิตว่า "พระยาผานอง" เหตุจากเมื่อเกิดมาหาน้ำอาบกินไม่ได้ จนเกิดพายุฝนตกใหญ่มีน้ำนองพัดก้อนหินก้อนผามามากนัก

ลูกชายพระยาผานอง ชื่อ ผากอง เป็นเจ้าเมืองปัว (สืบต่อจากพ่อ) หาแหล่งสร้างเมืองใหม่ ที่มีน้ำสมบูรณ์อยู่บริเวณห้วยไค้ (ใกล้น้ำน่านทางทิศตะวันตก) แล้วเรียก เวียงน่านนันทบุรี ไม่ได้แปลว่าน่าน แต่มาจากคำว่าน่าน เป็นคำบาลีที่ผูกขึ้นใหม่ โดยแผลงชื่อพื้นเมืองว่าน่านให้ไพเราะและศักดิ์สิทธิ์ขึ้น นี่คือคำบอกเล่าของสุจิตต์

ยุครัตนโกสินทร์ น่านเป็นประเทศราชของสยาม เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 กองทัพสยามได้แวะเกณฑ์ไพร่เกณฑ์ช้างที่นครน่าน จนเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2326) จึงมีการตกลงทำสัญญาแบ่งดินแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส น่าน จึงกลายมาเป็น 1 ใน 6 หัวเมืองของมณฑลพายัพ และการสืบทอดอำนาจของราชวงศ์น่านก็สิ้นสุดลง กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ 1 ปี มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก น่านจึงกลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย



น่านในปัจจุบัน เป็นจังหวัดท่องเที่ยวน้องใหม่ที่กำลังเนื้อหอม โดยเฉพาะหน้าหนาว ขณะที่เชียงใหม่แออัดเบียดเสียดด้วยผู้คน แต่ที่น่านกลับเป็นความเงียบสงบ สบาย ๆ เนิบช้า และผ่อนคลาย ในหน้าร้อนแม้อากาศไม่ได้หนาวเย็นจับใจ แต่วิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบ กลับเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งของเมืองน่าน สภาพบ้านเรือนยังคงเป็นบ้านไม้บ้าง อาคารเก่าสถาปัตยกรรมแบบยุโรปสมัยอาณานิคมบ้าง รั้วกำแพงโดยรอบบ้านแต่ละหลังไม่สูงนัก แค่แสดงอาณาเขต ดูโปร่งตา เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากจังหวัดอื่น จึงไม่แปลกที่ใคร ๆ จะต้องมีโปรแกรมเดินทางไปเยือนเมืองน่านสักครั้งในชีวิต

จากกรุงเทพฯ สนามบินดอนเมือง ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวก็ถึง "น่านนคร" สนามบินเล็ก ๆ แห่งเดียวของจังหวัด จากนั้นจะใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถเช่าก็หาได้ไม่ยาก ยิ่งทุกวันนี้ทุกอย่างติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือหรือออนไลน์ ยิ่งทำให้ชีวิตง่ายเข้าไปใหญ่ แต่ก็มีอีกคำแนะนำว่า หากจะชิล ๆ ในตัวเมืองคนเขานิยมปั่นจักรยานกัน ซึ่งถนนในตัวเมืองน่านมีทางจักรยานให้ด้วย

จุดเริ่มต้นของคนไปเยือนน่าน มักจะเริ่มต้นการเดินทางที่จุดซึ่งคนน่านเรียกว่า"ข่วงเมือง" เป็นลานกว้างหน้า วัดภูมินทร์ ต้นกำเนิดตำนาน "กระซิบรักบันลือโลก" ของปู่ม่าน-ย่าม่าน ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด นอกจากภาพปู่ม่าน-ย่าม่านที่สวยงามแล้ว ภาพบนฝาผนังยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนเมืองน่านเมื่อร้อยกว่าปีก่อนด้วย



ในย่านข่วงเมือง ยังมีวัดสำคัญอีกหลายวัด อาทิ วัดช้างค้ำ วัดสวนตาล วัดมิ่งเมือง วัดหัวข่วง ฯลฯ และยังมีคุ้มเก่า ๆ เรือนไม้เก่าให้เห็น อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สวยงาม ร้านขายผ้าพื้นเมือง และร้านกาแฟ เป็นสิ่งที่หาไม่ยากเลยในตัวเมืองน่าน เรียกว่ามีให้เห็นอยู่แทบทุกมุมเมือง รวมทั้งโรงแรม ที่พัก โฮมสเตย์ หรือบูติคโฮเต็ล



จากตัวเมืองแหล่งเที่ยวที่คนมุ่งหน้าไปคือ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน-ขุนสถาน และบ่อเกลือโบราณ ที่ อ.บ่อเกลือ จากถนนสาย 1080 ไป อ.บ่อเกลือ ระยะทาง 80 กม. แต่ด้วยความที่เส้นทางคดเคี้ยวขึ้นเขา จึงใช้เวลาเดินทางมากหน่อยกว่าจะถึงที่หมาย แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะความคดเคี้ยวของถนนที่บางช่วงมองเห็นเป็น "เลข 3" สร้างความกรี๊ดกร๊าดให้กับคนเดินทาง ต่างบันทึกภาพด้วยมือถือคนละชอตสองชอต ความเพลิดเพลินนี้ทำให้เวลาที่คิดว่ายาวไกลสั้นลงในพริบตา



อ.บ่อเกลือ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาสูง สลับซับซ้อน จุดเด่นของที่นี่ คือการต้มเกลือสินเธาว์ ซึ่งแต่เดิมมี 7 บ่อ ปัจจุบันบางบ่อเลิกกิจการไปแล้ว และยังไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าเหลืออยู่กี่บ่อ ที่บ่อเกลือแห่งนี้ได้ชื่อเป็น แหล่งทำเกลือบนที่สูงแห่งเดียวของโลก



การต้มเกลือของชาวบ้านยังใช้วิธีแบบโบราณคือตักน้ำจากบ่อมาต้มหลาย ๆ ครั้ง ในโรงต้มที่มีเตาขนาดใหญ่ขึ้นรูปจากดินเหนียว วางกระทะใบเขื่อง แขวนตะกร้าไม้ไผ่สานใบเล็ก ๆ เพื่อใช้ใส่เกลือที่ต้มได้ให้สะเด็ดน้ำ เมื่อเกลือแห้งสนิทแล้วจะผสมไอโอดีนลงไป เพราะเป็นเกลือสินเธาว์จึงไม่มีสารไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล เสร็จแล้วนำไปวางขาย มีทั้งเกลือสำหรับทำอาหาร เกลือสปาขัดผิว ดอกเกลือสำหรับบำรุงผิว นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากบ่อเกลือ ชาวบ้านยังนำไข่มาต้มกับน้ำเกลือ ได้ไข่ต้มที่รสชาติไม่เค็มมาก กำลังดี ขายให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

การแสวงหาความสุขท่ามกลางธรรมชาติและบรรยากาศพื้นเมือง เป็นเสน่ห์ของเมืองน่านอย่างแท้จริง แต่เรื่องอย่างนี้อธิบายความรู้สึกกันได้ยาก หากอยากรู้ว่าเสน่หามนตราของเมืองน่านหนักหนาแค่ไหน เป็นสิ่งที่ต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยังไง...ยังไง ยัง (อยาก) ไปน่าน

view