สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้หรือไม่? มาฆบูชา กับวัน กตัญญูเเห่งชาติ ความเป็นมาที่ชาวพุทธไทยอาจไม่รู้

จากประชาชาติธุรกิจ

"วันมาฆบูชา" หรือ "วันจาตุรงคสันนิบาต"เป็นวันสำคัญทางพุทธศานาและวันหยุดราชการในประเทศไทย ในปี 2560 นี้ ตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ วันนี้ประชาชาติออนไลน์ จึงได้นำ ประวัติความเป็นมา คำสอนเเละหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติมาฝากกันค่ะ

คำว่า " มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งจะอยู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็จะเลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง หรือ วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 4 หรือประมาณเดือนมีนาคม



วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์ " ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ

1. พระสงฆ์สาวก 1,250 รูปได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย

2. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

3. พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6

4. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4


ความเป็นมาของวันมาฆบูชาในประเทศไทย

การประกอบพิธีในวันมาฆบูชาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป

เนื่องจากในประเทศไทยพุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่4และนับถือกันโดยพฤตินัยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมาตั้งแต่นั้นโดยเมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่างๆกันเป็นงานใหญ่ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยรัชกาลที่4พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษสำหรับชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียง

วันกตัญญูแห่งชาติ

ในปีพ.ศ.2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาที่อาจถือได้ว่า เป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสามมักจะใกล้กับช่วง"เทศกาลวาเลนไทน์" อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิดๆ โดยนิยมยึดถือกันว่าเป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย 

รัฐบาลไทยในสมัยนั้น จึงได้ประกาศให้ วันมาฆบูชา เป็น วันกตัญญูแห่งชาติเพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา

การผลักดันให้มีวันกตัญญูแห่งชาติมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า ในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นักพูดชื่อดังหลายคน เช่น ดร.ผาณิต กันตามระ นายสุรวงศ์ วัฒนกุล ดร.อภิชาติ ดำดี นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ดร.โอภาส กิจกำแหง และนายถาวร โชติชื่น ได้ร่วมกันทำหนังสือถึง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ขอให้ส่งเสริมให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย และได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง



กิจกรรมในวันมาฆบูชา


ใน "วันมาฆบูชา" พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็นโดยนำดอกไม้ธุปเทียน นำมาเวียนรอบพระอุโบสถ โดยเวียนจากขวาไปซ้าย 3 รอบ ในระหว่างเดินให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นบุญกุศลให้กับตัวเอง 

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ

โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนสำคัญทางพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย

1.หลักการ 3 

- การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงดเว้น การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง
- การทำจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์

2. อุดมการณ์ 4 

- ความอดทน อดกลั้นไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
- ความไม่เบียดเบียน งดเว้นจากการทำร้าย รบกวน เบียดเบียนผู้อื่น
- ความสงบ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจา และใจ
- นิพพาน การดับทุกข์

3. วิธีการ 6

- ไม่ว่าร้าย ไม่กล่าวว่าร้าย หรือโจมตีใคร
- ไม่ทำร้าย เบียดเบียนผู้อื่น
- สำรวมในปาติโมกข์ เคารพกฎระเบียบ วินัย กติกา กฎหมาย รวมทั้งประเพณีอันดีงามของสังคม
- รู้จักประมาณ ความพอดีในการบริโภค หรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ 
- อยู่ในสถานที่สงัด สงบ สิ่งแวดล้อมเหมาะสม
- ฝึกหัดจิตใจให้สงบ มีสุขภาพ คุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : รู้หรือไม่ มาฆบูชา วัน กตัญญูเเห่งชาติ ความเป็นมา ชาวพุทธไทย อาจไม่รู้

view