สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียน Contract Farming เกษตรกร ลาว น้ำตาตก

จากประชาชาติธุรกิจ

นอกเหนือจาก "พลังงาน" ที่รัฐบาล สปป.ลาวให้ความสำคัญแล้ว "เกษตรกรรม"ก็เป็นหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ สปป.ลาว พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นแหล่งรายได้หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันเกษตรกรลาวส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรได้เทียบเท่ากับมาตรฐานโลกค่อนข้างน้อย ขณะที่งบประมาณช่วยเหลือจากภาครัฐยังขาดแคลน แต่มีนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนด้านการเกษตรมากขึ้น เพราะ สปป.ลาวยังมีพื้นที่ว่างเปล่าเหลืออยู่มาก จึงเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตร และเปิดรับทุนจากนอกประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนท้องถิ่น

จากเดิมภาคเกษตรจะเป็นรูปแบบของการให้สัมปทาน (Concessions) แก่ผู้ลงทุนต่างชาติในการเช่าพื้นที่เพาะปลูกพืชได้หลายชนิด ได้แก่ ยางพารา อ้อย กล้วย และมันสำปะหลัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิถีเดิมนี้ช่วยในเรื่องของการจ้างงานเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรยังมีความเสี่ยงไม่มีตลาดมารองรับ

ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการ "เกษตรพันธสัญญา" (Contract Farming) คือการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงปศุสัตวที่มีการทําสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้าระหว่างเอกชนผู้รับซื้อและเกษตรกรโดยผู้รับซื้อจะให้หรือขายปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์และปุ๋ย พร้อมกําหนดราคาประกันรับซื้อ



แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ การที่ผู้ทำสัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อผลผลิตเท่านั้น แต่ไม่มีการกําหนดราคาประกัน เพื่อลดความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนของราคาผลผลิต

โครงการดังกล่าวเสมือนเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรลาวภายใต้การขายฝันอันสวยหรู อย่างเช่น การที่มีตลาดรองรับอย่างแน่นอน หรือแม้แต่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทว่าช่องว่างของปัญหาก็ปรากฏชัดขึ้นหลังจากที่ราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำ ความเสี่ยงจากการทำสัญญาโดยปราศจากการกำหนดราคาซื้อขายขั้นต่ำ ก่อเกิดเป็นปัญหาต่อชาวสวนยางอย่างหนักหน่วง

ก่อนหน้านี้เกษตรกรสวนยางในแขวงหลวงน้ำทา ที่อยู่ติดชายแดนจีน เคยประสบปัญหาด้านราคายางพารามาแล้วเมื่อปี 2558 จำต้องตัดต้นยางทิ้งไปเกือบ 350 เฮกตาร์ หลังราคายางสำเร็จรูปตกต่ำลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2556 และแม้ปัจจุบันราคายางพาราในตลาดโลกจะกระเตื้องขึ้น แต่ผลพวงจากความเสียหายที่ลากยาวทำให้เกษตรกรชาวสวนไม่พอใจโครงการภายใต้เกษตรพันธสัญญา ก่อเป็นคลื่นประท้วงเกิดขึ้นเป็นระลอกเล็ก ๆ ต่อเนื่อง

วีโอเอ ภาษาลาว รายงานว่า "เลียน ทิแก้ว" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว กล่าวยอมรับในการประชุมเกี่ยวกับ "ปัญหาและโอกาสยางพาราของ สปป.ลาว" ที่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยระบุว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรลาวกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือราคายางพาราที่ไม่คุ้มค่าต้นทุนการผลิตและตลาดรองรับที่ไม่เสถียรซึ่งเกษตรกรพยายามเรียกร้องภาครัฐให้เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยยื่นคำขาดว่าอาจจะหันไปปลูกพืชเกษตรอื่นแทน

ขณะที่องค์กรเกษตรกรที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ดังนั้นกระบวนการสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาใน สปป.ลาวยังจำเป็นต้องมีคนกลางเข้ามาเป็นตัวแทนให้กับเกษตรกร โดยทำหน้าที่ในการประสานและอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ

ปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีผลผลิตยางพารารวมกันทั่วประเทศราว 309,150 ตัน จากสวนยางพารา 198,000 เฮกตาร์ เทียบกับพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งสิ้น 282,000 เฮกตาร์ ส่วนปีนี้คาดว่าผลผลิตยางพาราจะมีรวมมากกว่า 440,000 ตัน

ดร.วาสนา ละอองปลิว นักวิชาการไทย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สปป.ลาวกำลังเผชิญกับความล้มเหลวของการส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา ทำให้เกษตรกรลาวต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งเกิดขึ้นจากการตกต่ำของราคาและปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรลาวมีพันธสัญญากับบรรดานายทุน โดยรัฐบาลไม่อาจรับประกันอัตราผลตอบแทนราคาให้กับเกษตรกรได้ ทั้งยังไม่สามารถชักจูงให้นายทุนซื้อผลผลิตในราคาที่ตกลงไว้ได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรุนแรงขึ้นเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาการขาดทุนไม่มีเงินที่จะจ่ายหนี้และดอกเบี้ยให้แก่นายทุน ปัญหาคือต้องสูญเสียที่ดินทำกินให้นายทุน นอกจากนี้ ดร.วาสนายังคาดการณ์ถึงอนาคตว่าเกษตรกรอาจต้องเผชิญกับการสูญเสียที่ดินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับนักธุรกิจจีนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรถูกบังคับทางอ้อมให้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีทุนเพียงพอ และการร่วมโครงการเกษตรพันธสัญญาเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ทำได้ค่อนข้างง่าย

ทั้งนี้ การปลูกยางพาราในแขวงหลวงน้ำทา และการเพาะปลูกกล้วยในหลายเขตพื้นที่ยังต้องกู้ยืมเงินจากนายทุน เพราะไม่มีทุน และมีการใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าราคายางพาราไม่สดใส เกษตรกรจะเป็นหนี้และจบลงที่โดนยึดที่ดินโดยนักธุรกิจจีนในที่สุด

ซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งไทยและฝั่งตะวันตกมองว่าหากรัฐบาลยังไม่ออกกฎบังคับใช้และเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โอกาสที่พื้นที่เพาะปลูกในประเทศจะกลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่นักธุรกิจข้ามชาติจะง่ายขึ้น ถึงเวลานั้น สปป.ลาวอาจกลายเป็นประเทศที่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : บทเรียน Contract Farming เกษตรกรลาว น้ำตาตก

view