สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย โรม บุนนาค

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
        เมื่อปี ๒๔๐๒ หรือเมื่อ ๑๕๘ ปีมาแล้ว การเดินทางไปจังหวัดเพชรบุรีคงไม่สะดวกสบายเหมือนขับรถไปตามถนนเพชรเกษมหรือนั่งรถไฟไปอย่างในวันนี้ คงต้องลำบากลำบนและใช้เวลามากพอดู แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้สร้างพระราชวังสำหรับตากอากาศขึ้นบนยอดเขาเมืองเพชรบุรี เป็นพระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีพระราชวังตากอากาศ คือ “พระราชวังบางปะอิน” เพื่อแปรพระราชฐานในชนบท และใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างแดนด้วย
       
       ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลาถึง ๒๗ ปี และเสด็จธุดงค์ไปทั่ว เคยเสด็จไปบำเพ็ญธรรมที่ถ้ำเขาย้อย เมืองเพชรบุรี และเคยประทับแรมที่วัดสมณารามที่เชิงเขาวังด้วย เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี ๒๓๙๔ จึงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขาวังใน พ.ศ.๒๔๐๒ พร้อมกันทั้ง ๓ ยอด พระราชทานนามว่า “พระราชวังพระนครคีรี”
       
       เขาวังเดิมมีชื่อว่า “เขาสมณ” หรือ “เขาสมน” (สะ-หมน) มี ๓ ยอดติดต่อกัน ยอดที่สูงสุดสูงเพียง ๙๕ เมตร ทางไหล่เขาด้านตะวันออกมีวัดอยู่ก่อนแล้ว ชื่อ “วัดสมณ” ซึ่งสร้างมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ ทรงเรียกเขานี้ว่า “เขามหาสมณ” ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “เขามหาสวรรค์” บ้างก็เรียกกันว่า “เขามไหศวรรย์” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาวัง” ตลอดมา
       
       โปรดให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยมีพระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นนายงานก่อสร้าง
       
       จากการที่ชาวตะวันตกกลับเข้ามามีความสัมพันธ์กับสยามมากขึ้นในรัชกาลนี้ หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงศึกษาตำราต่างๆของฝรั่งหลายแขนง สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกจึงเริ่มมีอิทธิพลในรัชสมัยของพระองค์ พระราชวังพระนครคีรีจึงเป็นแบบนีโอคลาสสิกผสมไทย และช่างซึ่งได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนมาในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงค้าขายกับจีนมาก ก็ได้นำศิลปกรรมจีนมาผสมด้วย เช่นการปั้นสันหลังคาและใช้กระเบื้องกาบกล้วย พระที่นั่งบางองค์ตัวอาคารเป็นฝรั่ง หลังคาเป็นจีน มีลวดลายเป็นไทย
       
       ยอดเขาด้านตะวันออกนั้น โปรดให้สร้างวัดประจำพระราชวังแห่งนี้ขึ้น เช่นเดียวกับวังหลวงมีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานนามว่า “วัดพระแก้วน้อย” ประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ผนังประดับด้วยหินอ่อน ที่สำคัญคือหน้าบันเป็นตรามหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาล เป็นงานปูนปั้นจากฝีมือช่างของเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงว่าสุดยอดในด้านนี้
       
       ด้านหลังพระอุโบสถ มีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๓ เมตร องค์เจดีย์ซึ่งเป็นหินสีเทาอมเขียว เป็นเจดีย์ที่สร้างโดยเทคนิคพิเศษ สลักหินเป็นองค์เจดีย์ขึ้นที่เกาะสีชัง แล้วถอดออกเป็นชิ้น มาประกอบขึ้นที่ยอดเขานี้ พระราชทานนามว่า “พระสุทธเสลเจดีย์”
       
       ด้านหน้าพระอุโบสถ นอกจากจะมีหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ยังมีศาลาและพระปรางค์แดง ศาลาเป็นศาลาโปร่ง ๓ หลัง ส่วนปรางค์จัตุรมุขสีแดงทั้งองค์ ข้างในโปร่งจนถึงยอด ผิดกับปรางค์อื่นๆที่โปร่งเฉพาะส่วนกลาง ส่วนบนทึบ ภายในองค์ปรางค์มีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
       
       ยอดกลางของเขามหาสวรรค์ แต่เดิมมีเจดีย์ของวัดอินทรคีรีอยู่องค์หนึ่ง แต่ทรุดโทรมมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเจดีย์ใหม่ทับองค์เดิม พระราชทานนามว่า “พระธาตุจอมเพชร” สูงจากฐานถึงยอด ๔๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ ได้เสด็จพระราชดำเนินเวียนเทียนรอบพระมหาธาตุจอมเพชร เมื่อวันวิสาขบูชา ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕
       
       ยอดเขาด้านตะวันตก เป็นส่วนที่สร้างพระราชวังที่ประทับ ซึ่งทรงพระราชทานนามให้คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตำหนักสันถาคารสถาน โรงมหรสพหรือโรงโขน กลุ่มอาคารนารีประเวศ
       
       พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด ใช้เป็นท้องพระโรงออกขุนนาง ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๓ สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ดัดแปลงเป็นที่ประทับสำหรบพระราชอาคันตุกะ
       
       หอชัชวาลเวียงชัย เป็นหอทรงกลมคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนขึ้นไป ชั้นบนโดยรอบมีลูกกรงแก้ว โปรดให้สร้างไว้โดยมีพระราชประสงค์จะทรงสองกล้องดูดาว ซึ่งพระองค์ทรงพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และสามารถชมทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีได้โดยรอบจนถึงทะเล
       
       ที่หน้าหอยังมีเสาธงสูง สำหรับชักธงมหาราชขณะเสด็จประทับพระนครคีรีด้วย และบนยอดหอทำด้วยกระจกใสโค้ง ภายในห้อยโคมไฟซึ่งมองเห็นได้ไกล ชาวประมงจึงอาศัยโคมไฟนี้เป็นจุดสังเกตในการเดินเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมอีกด้วย และเรียกหอนี้กันว่า “กระโจมแก้ว”
       
       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เสด็จมาประทับพระนครคีรีหลายครั้ง นอกจากทอดพระเนตรป่าเขาในเมืองเพชรบุรีแล้ว ยังเสด็จจากพระนครคีรีทางชลมารคไปราชบุรีและกาญจนบุรี เพื่อทรงศึกษาวัดดาว วัดแดด เส้นละติจูด ลองติจูด ตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎร จะได้ทรงทราบว่าเจ้าเมือง กรมการเมือง ดูแลทุกข์สุขราษฎรเป็นประการใด
       

       ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ พระเจ้าแผ่นดินปรัสเซียได้ส่งทูตชื่อ คอลออย เลนเบิร์ต เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท จัดเรือแจวเรือพายให้ราชทูตที่มาเที่ยวเมืองเพชรบุรีเป็นจำนวนสองลำ ในขณะนั้นพระองค์เจ้าคัคณางยุคล พระราชโอรส ซึ่งก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งเสด็จไปพระนครคีรีกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระราชหัตถเลขาแจ้งให้ทราบเรื่องราชทูตปรัสเซียจะมาเที่ยวและพักผ่อนที่เมืองเพชรบุรี ขอให้จัดการต้อนรับ จนถึงกำหนดกลับก็ให้นำไปส่งถึงเรือรบที่สันดอน ดังข้อความว่า
       
       “...จดหมายมายังชายคัคณางคยุคลของพ่อให้ทราบ บัดนี้ราชทูตเมืองปรุสเซียออกมาดูเมืองเพ็ชรบุรี ถ้าเขามาถึงแล้วจะต้องรับจับมือให้เขายินดี แล้วชวนพาเขาขึ้นไปเที่ยวดูบนพระนครคีรี แล้วจงพาเขาเข้าไปดูในห้องนี้โดยสมควรเถิด แต่จงกราบเรียนคุณศรีสุริยวงษ์ให้ท่านบังคับให้เฝ้าที่แลชาวที่มหาดเล็กเด็กชาไปกวาดแผ้วเสียก่อนอย่าให้รกรุงรัง แล้วให้มีผู้รักษาอย่าให้เงียบเหงาไป แลพาเขาไปเที่ยวตามทางบนเขาจนถึงพระเจดีย์พระนอนก็ได้ อนึ่งถ้าเขาจะไปเขาหลวงเขากระไดอิฐแลในเมือง ถ้ารถมีอยู่ใช้ได้ก็จงเอารถรับเขาเถิด...”
       
       ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ซ่อมแซมพระนครคีรีใหม่ทั้งหมด เพื่อทรงใช้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและรับรองแขกเมือง ทรงจัดตั้งมณฑลราชบุรีขึ้น รวมเมืองเพชรบุรีขึ้นกับมณฑลนี้ และได้เสด็จมาประทับหลายครั้งเพราะอากาศถูกกับพระโรคที่ทรงประชวรในฤดูฝน แต่ต่อมาทรงพบว่าพระนครคีรีไม่เหมาะที่จะประทับในฤดูฝน จึงได้ทรงสร้างพระราชวังบ้านปืนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างต่อจนสำเร็จ พระราชทานนามว่า “พระรามราชนิเวศน์”
       
       ในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๓ ดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิก แห่งเยอรมัน และเจ้าหญิงอลิสซาเบต สโตลเบิร์ก รอซซาล่า พระชายา ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ คอยรับเสด็จ ณ พระนครคีรี คืนนั้นมีการจุดดอกไม้เพลิงถวายทอดพระเนตร และเสด็จกลับทางรถไฟในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์
       
       พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าถึงการเสด็จมาประทับที่พระนครคีรีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไว้ในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ตอนหนึ่งว่า
       
       “...นอกจากรถม้าแล้ว เวลาเสด็จพระนครคีรียังมีเสลี่ยงคานหาม ซึ่งพวกที่แบกก็ได้แก่พวกโซ่งหรือไทยทรงดำ ซึ่งรับอาสาเข้ารับหน้าที่นี้ โดยหัวหน้าจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ได้รับเบี้ยหวัดเงินปี มีลูกหมู่ขึ้นทะเบียนเป็นเลกสม ได้รับพระราชทานเครื่องแบบและยกเว้นการเก็บค่ารัชชูปการ เครื่องแบบของหน่วยงานเหล่านี้คือ นุ่งกางเกงดำขายาว สวมเสื้อคอตั้ง ยาวถึงหน้าขา มีกระดุมทำด้วยเงินเป็นแถวกว่าสิบเม็ด คาดผ้าขาวม้าไส้ปลาไหลสลับขาว พวกนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่สะพานยี่หน ตำบลไร่ดอน ตำบลไร่ส้ม ติดกับเขาวังนั่นเอง จะมาคอยรับใช้เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาประทับพระนครคีรี ไม่ว่ารัชกาลใด...”
       
       นอกจากมาคอยรับรับใช้เป็นมหาดเล็กเด็กชาแล้ว ก็ยังมีชาวเพชรบุรีมาเป็นลูกมือฝ่ายครัวอีกจำนวนหนึ่ง นี่ก็คือต้นเหตุที่เพชรบุรีมีชื่อเสียงทางด้านอาหารตำรับชาววังทั้งคาวหวาน เช่นเดียวกับเกาะเกร็ด จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดแวะพักของเจ้านายสมัยก่อนที่เสด็จไปพระราชวังบางปะอิน จะแวะพักทำอาหารระหว่างทางที่เกาะเกร็ด อีกทั้งใน พ.ศ.๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จมาทอดกฐินที่วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่า “วัดปากอ่าว” ซึ่งเป็นพระอารามรามัญมาแต่โบราณ มีสภาพทรุดโทรมมาก ทรงมีพระราชศรัทธาบูรณะขึ้นใหม่ และใช้เวลาถึง ๑๐ ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชวังบางปะอินเป็นประจำ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลหลายครั้ง มีการทำอาหารเลี้ยงพระและผู้ร่วมงาน โดยมีชาวเกาะเกร็ดมาเป็นลูกมือแม่ครัวชาววัง ฝีมือทำอาหารคาวหวานตำรับชาววังจึงถ่ายทอดจากแม่ครัวชาววังไปสู่ลูกมือชาวเกาะเกร็ด และถ่ายทอดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
       
       ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ใช้ส่วนของพระที่นั่งต่างๆจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี เก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ อาทิ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น.ทุกวัน และทุกปีจะมีงานเฉลิมฉลองพระนครคีรี มีการแสดงต่างๆ ที่แสดถึงศิลปวัฒนธรรม และการจุดพลุดอกไม้ไฟในเวลากลางคืน โดยจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นระยะเวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน
       
       ปัจจุบัน มีป้ายประกาศติดไว้ที่สถานีรถรางขึ้นเขาวัง มีข้อความไว้ว่า
       
       “กรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรม งดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ ทุกแห่งทั่วประเทศ และโบราณสถานตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙-วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" 

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
ภาพถ่ายทางอากาศพระนครคีรีในอดีต
        

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
หอชัชวาลเวียงชัย
        

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
        

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
ร.๕ เสด็จประพาสเพชรบุรีในปี ๒๔๕๒
        

พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมืองได้นั่งเรือแจวไปเที่ยว!!!
รถรางไฟฟ้าขึ้นเขาวัง

อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : พระนครคีรี พระราชวังตากอากาศแห่งแรก กรุงรัตนโกสินทร์ แขกต่างเมือง นั่งเรือแจวไปเที่ยว

view