จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ณัฏฐพิชญ์ วงษ์สง่า montien_dear@yahoo.com โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า montien_dear@yahoo.com
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พยายามโปรโมตการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศผ่าน 3 โครงการหลัก ๆ
ประกอบด้วยโครงการ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด, โครงการ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด Plus และโครงการเขาเล่าว่า...
แต่ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต อารมณ์การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยก็ชะงักทันที
ทางรัฐบาลนำโดย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี จึงปิ๊งไอเดียเตรียมโปรโมต 70 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระบาท ส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการในพระราชดำริ เพื่อให้คนไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนรวมถึงยังเป็นแนวทางหนึ่งที่คนไทยทั่วประเทศจะได้ร่วมเทิดพระเกียรติและเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อพระราชปณิธานที่พ่อหลวงของเราได้ดำริไว้
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ"กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถึงแนวทางการโปรโมต 70 เส้นทางตามรอยพระบาท ท่านรัฐมนตรีบอกว่า โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีมากกว่า 4,000 โครงการ แต่ ททท.ได้คัดเลือกมาแค่ 70 เส้นทางก่อนนั้น เพราะสถานที่เหล่านี้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้
โดยก่อนหน้านี้ทาง ททท.ได้จัดพิมพ์หนังสือ "70 เส้นทางตามรอยพระบาท" ออกมาเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ออกมาเผยแพร่อยู่แล้ว
สำหรับ 70 เส้นทางตามรอยพระบาทนั้นได้ครอบคลุมโครงการพระราชดำริในทุกภาคของประเทศ
หลายโครงการคือ "โครงการหลวง" ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
หลายโครงการเป็นเสมือน "พิพิธภัณฑ์ชีวิต" ที่นำเสนอให้เห็นถึงแนวคิดและหลักการในการประกอบอาชีพตามหลักเแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
อาทิ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาการระบายน้ำและแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สมุทรปราการ, ศูนย์เรียนรู้ชาวนาไทย-นาเฮียใช้ จ.สุพรรณบุรีศูนย์ศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดสุพรรณบุรี
โครงการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยพันธุ์พืชและผลไม้เมืองหนาว และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่
โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย, พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จ.เชียงใหม่, ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.น่าน, ศูนย์ส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ ตามโครงการพระราชดำริ จ.นครราชสีมา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา, โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ฯลฯ
"กอบกาญจน์" ยังบอกด้วยว่า เพื่อช่วยกันกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นทางรัฐบาลจะขอความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีแผนจัดประชุม สัมมนา ในต่างจังหวัดให้ไปจัดและท่องเที่ยวในโครงการพระราชดำริแทน
จากนั้น ททท.จะทำหน้าที่โปรโมตให้เข้าถึงกลุ่มคนไทยในทุก ๆ กลุ่มต่อไป เพื่อให้คนไทยไปเที่ยว พร้อมหาความรู้และเรียนรู้ เพื่อให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้
สำหรับผู้เขียนเองได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงเชื่อว่าทุกโครงการที่ได้จัดสรรมานั้น เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมาก และเชื่อว่าหากคนไทยได้อ่าน ได้เที่ยว และได้สัมผัสสถานที่จริง จะยิ่งได้อะไรที่มากกว่า "การท่องเที่ยว" แน่นอน
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส