สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ พระราชินี ทรงฝากไว้เป็น สมบัติแผ่นดิน

จากประชาชาติธุรกิจ

"การที่ข้าพเจ้าเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจน เลี้ยงตนเองได้เป็นเบื้องต้น" พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535



สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลและลึกซึ้งยิ่งนักที่ทรงเห็นศักยภาพของคนไทย จึงก่อกำเนิดเป็น "ศิลปาชีพ" เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทรงก่อตั้ง "โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา" ซึ่งต่อมายกฐานะเป็น "สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา" เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ หล่อหลอมลูกชาวไร่ชาวนาให้เป็น "ช่างหลวง" แห่งราชสำนัก ที่บัดนี้ เป็นผู้สืบสานศิลปกรรมไทยอันล้ำค่า และสร้างผลงานประณีตศิลป์ชั้นสูงให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยไว้มากมาย

หนึ่งในผลงาน "มาสเตอร์พีซ" ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง ซึ่งสถาบันสิริกิติ์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ให้จัดสร้างเรือนยอดขึ้น ณ บริเวณสนามด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามศิลปะชิ้นเอกนี้ว่า "เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์" อันหมายถึง เรือนยอดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่

นับเป็นผลงานศิลปกรรมอันประณีตงดงามแห่งแผ่นดิน"รัชกาลที่9"ที่ยิ่งใหญ่งดงามทรงคุณค่าแด่การเฉลิมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2559 สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพได้จัดสร้างเรือนยอด 9 ยอด ที่ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์" โดยนำมาเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกอันทรงคุณค่า สำหรับการจัดงานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559 และในโอกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 5 เมษายน พุทธศักราช 2554



"เป็น ระยะเวลา 24 ปี ตั้งแต่การจัดงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 1 ในปี 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำลูกหลานชาวนาชาวไร่มาฝึกงานให้วิชาความรู้ เพื่อให้เขาใช้ความสามารถเลี้ยงชีพได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็ได้พัฒนาฝีมือขึ้นมาก ด้วยได้กำลังใจจากประชาชนที่ได้เข้ามาชื่นชมผลงาน ศิลป์แผ่นดิน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตลอดจนผู้มีจิตเมตตาทูลเกล้าฯ ถวายเงินแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เพื่อสนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรให้แผ่นดินและประเทศชาติ"


ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญเล่าว่า เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์เป็น "เรือนยอดทรงปราสาท 9 ยอด" หลังแรกของประเทศไทยที่เป็น "อาคารโลหะ" ทั้งหลัง และมีจำนวนยอดมากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์



"ที่ มาของเรือนยอด 9 ยอด เพราะสร้างในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อแผ่นดินไทยมาอย่างมากมายอเนกอนันต์ ซึ่งในอดีตเรือนยอดมีถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ซึ่งมี 5 ยอด ในพระบรมมหาราชวัง และหลังจากนั้นก็ไม่มีการสร้างอีกเลย"

นอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมภูมิภาคนี้ ได้เคยมีการสร้างอาคารเป็นโลหะมาแล้วในสมัยพุทธกาล นางวิสาขาได้สร้างโลหะปราสาทน้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี ต่อมาพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยราชา กษัตริย์แห่งเมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเมื่อปีพุทธศักราช 382 และต่อมาในปีพุทธศักราช 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร อุทิศถวายเป็นพุทธบูชา

โลหะปราสาททั้งสามหลังข้างต้น เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ประกอบโลหะหิน และก่ออิฐถือปูนประกอบโลหะ ตามลำดั

แต่ เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์นี้ เป็นอาคารที่มีโครงสร้างภายในและเครื่องประดับตกแต่งทั้งหมดเป็นโลหะ โดยหล่อขึ้นจากต้นแบบที่เป็น "ผลงานไม้แกะสลัก" ของช่างศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์

"เรือนยอดสร้างด้วยไม้ เราสามารถทำได้ แต่ทำแล้วจะอยู่นานเท่าไหร่ อยู่กลางแจ้ง เจอแดดเจอฝน 15 ปีต้องซ่อม และซ่อมแต่ละครั้งต้องใช้เงินมหาศาล อีกทั้งช่างฝีมือก็หายาก เราจึงคิดต่อไปถึงอนาคต สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ให้สร้างสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ของประเทศชาติ ของลูกหลาน เราจึงสร้างเป็นโลหะ เพื่อให้คงอยู่คู่เมืองไทยไปอีกนานเท่านาน"



เรือน ยอดทั้งหลังจะเล่าเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9และพระ บรมวงศ์ ออกแบบโดย อ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร, อ.อัครพล คล่องบัญชี และ อ.เจริญ ฮั่นเจริญ สำนักช่างสิบหมู่ ครูพิเศษสถาบันสิริกิติ์ โดยยึดคติในพระพุทธศาสนาว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2559 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 847 วัน

รูปแบบจตุรมุขของเรือนยอดบรมมังคลานุ สรณีย์มีมุขตามแกนทิศเหนือ-ใต้เป็นมุขสั้น ๆ มีหลังคาลดชั้นซ้อน 3 ชั้น มีหน้าบัน มีทั้งสิ้น 8 หน้าบัน

กลางหน้าบันมุขด้านทิศใต้ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มุข ด้านทิศเหนือประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธย อ.ป.ร. ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรมุขตามแกนทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นมุขยาว มีหลังคาลดชั้นซ้อน 3 ชั้น และมีมุขประเจิดใหญ่ยื่นต่อออกมา

กลางหน้าบันมุขทิศตะวันตก ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

มุขทิศตะวันออกประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ก. ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

หน้าบันมุขประเจิดเล็กมุขทิศฝั่งตะวันออก เป็นอักษรพระนามาภิไธย ส.ว. ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มุข ทิศใต้ฝั่งตะวันตก เป็นอักษรพระนามาภิไธย ม.อ. ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกหน้าบันมุขประเจิดเล็กมุขทิศเหนือฝั่งตะวันออก เป็นอักษรพระนาม ก.ว. ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

มุขทิศเหนือฝั่งตะวันตก เป็นอักษรพระนามาภิไธย ส.ธ. ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับ อักษรพระนาม จ.ภ. ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และอักษรพระนาม อ.ร. ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประดิษฐานอยู่ ณ เพดานกลางของเรือนยอด

นอก จากสร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุอันประกอบด้วยโลหะผสม และหินอ่อน ยังมีการปิดทองประดับกระจกและตกแต่งด้วยจิตรกรรมในส่วนต่าง ๆ ทั้งเรือนยอด

โดย ส่วนของฐานรากเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและตอกเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 48 ต้น ลึก 21-24 เมตร เพื่อความมั่นคงแข็งแรง และรับน้ำหนักของตัวเรือนยอดที่เป็นโลหะทั้งหลัง

มีพนักบันไดหลายรูปแบบ ทั้งบันไดนาคพลสิงห์รูปนาคทรงเครื่อง, บันไดนาคพลสิงห์แบบโค้งรูปนาคจำแลง ขั้นบันไดเป็นหินอ่อนคาราร่าสีขาว

พื้นเรือนยอดชั้นบนปูหินอ่อนเป็นลายเหลี่ยมเพชร มีเสาย่อมุมทั้งสิ้น 48 ต้น มีเสาร่วมนอกขนาดย่อม 24 ต้น และเสาร่วมในขนาดใหญ่ 24 ต้น

ฐาน สิงห์ชั้นบนตกแต่งด้วยโลหะหล่อปิดทองสำริดลายครุฑยุดนาค หัวเสาทั้งหมดเป็นลายกลีบบัวแวงซ้อนกันสองชั้นหล่อสำริดลงรักปิดทอง ขณะที่ซุ้มคูหาระหว่างเสาทำเป็นลายราชวัตร มีช่ออุบะแทรกในกรอบซุ้ม

โดย รอบทุกชั้นของผืนหลังคาประดับด้วยกระจังเชิงชาย เครื่องลำยองเป็นแบบนาคสะดุ้ง หางหงส์รูปนาคเบือนสามเศียรทรงเครื่อง ใบระกาแต่ละใบประดับประติมากรรมรูปเทพนมและเทพรำ

เรือนยอดหลัก 3 ยอด ประดับด้วยพรหมพักตร์ที่ย่อมุมไม้สิบสองของยอดประธานทำเป็นประติมากรรมรูป ช้างเอราวัณ 3 เศียร รองรับไขราเครื่องยอดประธาน

เครื่องยอดทุกยอดประดับด้วยบันแถลง นาคปัก และบราลี และมีปลายยอดทุกยอดประดับด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์

ลาน โดยรอบเรือนยอดปูพื้นด้วยหินแกรนิตสีเทา บนลานนี้ตั้งแท่นหินอ่อนประดับประติมากรรมสำริดรูปช้างสำคัญทั้ง 10 ช้างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ที่มุมนอกพื้น ลานรอบฐานเรือนยอดทั้ง 4 ทิศ เป็นสระน้ำ 4 สระ มีความหมายถึงสระอโนดาต ตรงกลางของสระน้ำทั้งสี่หล่อประติมากรรมสำริดรูปสัตว์ รูปช้าง ม้า โค และสิงห์

ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559

นับตั้งแต่นั้นมา เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ได้เผยโฉมความงดงามอันวิจิตรต่อปวงชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ผล งานชิ้นเอกนี้ เป็นผลงานจากช่างฝีมือที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการมอบความรู้วิชา เพื่อสร้างคนมาสร้างผลงาน ซึ่งวันนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สิ่งที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาตลอดได้สัมฤทธิผลจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า งานฝีมือจากช่างสถาบันสิริกิติ์ล้วนเป็นยอดฝีมือที่จะสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น สมดั่งที่สมเด็จพระราชินีได้ตั้งพระราชหฤทัยไว้

"เมื่อสมเด็จพระ นางเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรเรือนยอดผ่านภาพถ่าย พระองค์ทรงปลื้ม ปลื้มที่ได้เห็นเด็กที่พระองค์ทรงสร้างมากว่า 500 คน ได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่นี้" ข้อความที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เล่าให้ฟังหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทอดพระเนตรเรือนยอด

และ นี่คือ สมบัติชาติที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งว่า "ฝากไว้ให้แผ่นดิน ฝากให้ลูกหลานคนไทยทุกคนเพื่อจะยืนบนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างสง่าผ่าเผย" ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญกล่าวทิ้งท้าย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ พระราชินี ทรงฝากไว้เป็น สมบัติแผ่นดิน

view