สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้เชี่ยวชาญเตือน ระวังภัย ลานิญา

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศระบุว่า จากการตรวจสอบระดับอุณหภูมิเหนือผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกพบว่ากำลังลดระดับลง แสดงสัญญาณให้เห็นว่าสภาวะอากาศ "เอลนิโญ" ครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีการบันทึกมากำลัง

สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังหลุดพ้นจากภาวะอากาศร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ (โนอา) ระบุว่า โอกาสที่จะเกิดการก่อตัวของ "ลานิญา" ตามมาในปลายปีนี้มีสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์

"เอลนิโญ" ส่งผลให้อุณหภูมิในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา สูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ทะเลสาบหลายแห่งในมาเลเซียแห้งขอด ทำให้แล้งจัดจนทำลายพืชผลและก่อให้เกิดภาวะ "คลื่นความร้อน" ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในอินเดีย ในขณะเดียวกับที่ทำให้เกิดพายุรุนแรงถล่มพื้นที่ริมฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญการระบาดของโรค เชื่อว่าเอลนิโญมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไวรัสซิกาแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในหลายประเทศในละตินอเมริกา เพราะอากาศร้อนทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้ง่ายและเร็วกว่าปกติ

"ลานิญา" เป็นภาวะแปรปรวนของภูมิอากาศที่ตรงกันข้ามกับ "เอลนิโญ" ในสภาวะเอลนิโญ มวลน้ำในบริเวณตอนกลางและทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น อากาศในบริเวณดังกล่าวจึงลอยตัวสูงขึ้นและทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกของแปซิฟิกพร้อมๆ กับการเกิดหย่อมความกดอากาศสูงเหนือชายฝั่งด้านตะวันตก ก่อให้เกิดภาวะร้อนและแห้งแล้งขึ้นตามมา

ในกรณีของ "ลานิญา" อุณหภูมิตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกลดต่ำลงกว่าระดับเฉลี่ย 3-5 องศาเซลเซียส เพราะกระแสลมตะวันออกกำลังแรงพัดมวลน้ำอุ่นออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว



นักวิทยาศาสตร์ของโนอาเริ่มสังเกตพบภาวะอุณหภูมิลดต่ำลงดังกล่าวแล้วในเวลานี้และเชื่อว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเกิดภาวะลานิญาขึ้นในช่วงสิ้นปี ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักหรือเกิดพายุแรงจัดจำนวนมากขึ้นในแถบตะวันตกของแปซิฟิก ปริมาณมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะลานิญา

ครั้งล่าสุดที่เกิดปรากฏการณ์ลานิญาทำนองเดียวกันนี้ขึ้นคือเมื่อราวกลางปี 2010 และเกิดต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงปี 2012 หลายคนคงจำได้ดีว่า ในปี 2011 (พ.ศ.2554) ฝนตกหนักในไทยมากกว่าปริมาณเฉลี่ยถึง 3 เท่าตัว ส่งผลให้พื้นที่ 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเกิดภาวะน้ำท่วมหนัก มีผู้เสียชีวิตมากถึง 815 ราย มูลค่าความเสียหายสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์

ดร.อากัส ซานโตโซ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ระบุว่า ลานิญาทำให้ความเสี่ยงเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและไต้ฝุ่นขึ้นในปริมาณมาก เช่นเดียวกับการที่ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่อิทธิพลของมันซึ่งแม้ว่าจะช่วยคลายภาวะแล้งจัดก่อนหน้านี้ แต่ ดร.ซานโตโซก็เตือนว่า มาตรการรับมือกับภาวะน้ำท่วมหนักก็ควรอยู่ในสภาพพร้อมรับมือตั้งแต่บัดนี้

นอกเหนือจากภาวะน้ำท่วมแล้ว ดร.ซานโตโซชี้ว่า นอกเหนือจากพายุจะเกิดถี่ขึ้นแล้ว การที่ระดับน้ำทะเลในเวลานี้อยู่ในระดับสูงกว่าเดิม ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด "สตอร์มเซิร์จ" มีมากขึ้น พื้นที่ชายฝั่งถูกกระแสน้ำรุนแรงกัดเซาะและเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ทั้งหมดนี้สามารถก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนมากได้

นักวิทยาศาสตร์รายนี้ยังเชื่อว่า เพราะเอลนิโญที่กำลังจะหมดไป เกิดรุนแรงมากผิดปกติ โอกาสที่จะเกิดลานิญาที่รุนแรงผิดปกติก็มีสูงมากตามไปด้วยเช่นกัน


นสพ.มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ผู้เชี่ยวชาญเตือน ระวังภัย ลานิญา

view