สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหรียญประพาสมาลา จากเหรียญราชอิสริยาภรณ์สู่เครื่องรางของสามัญชน

จากประชาชาติธุรกิจ

"เหรียญประพาสมาลา" หรือ "เหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรป" เป็นเหรียญอิสริยาภรณ์ประเภทเหรียญที่ระลึกสร้างขึ้นเพียง ๕๐๐ เหรียญ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรปครั้งแรกในพ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) จวบจนปัจจุบันเส้นทางชีวิตของเหรียญได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าจากเหรียญอิสริยาภรณ์สู่เครื่องรางของสามัญชน



เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงความเป็นมาของเหรียญ และตระหนักถึงพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาประเทศชาติให้ทัดเทียมอารยประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดบรรยายเรื่อง “จากเหรียญราชอิสริยาภรณ์สู่เครื่องรางของสามัญชน : การเดินทางของเหรียญประพาสมาลาจากฝรั่งเศสสู่สยามในปี พ.ศ. ๒๔๔๐” โดยได้รับเกียรติจาก ลุพธ์ อุตมะ คนไทยคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ The Victoria and Albert Museum ณ กรุงลอนดอน สาขา Fashion History ผู้ทำวิจัยในหัวข้อนี้โดยตรงมาเป็นผู้บรรยาย



ลุพธ์ อุตมะ นักศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี จากวิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า เหรียญที่ระลึกนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอื่น ๆ เนื่องจากสามารถสืบค้น และวิเคราะห์เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจในแต่ละยุคได้จากเหรียญที่จัดทำขึ้น

สำหรับเหรียญประพาสมาลาสร้างจากโรงกษาปณ์รัฐบาลฝรั่งเศสในการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศยุโรปได้ขยายอาณานิคมไปยังดินแดนอื่น ๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสกําลังขยายอาณานิคมเข้ามายังประเทศสยาม ส่งผลให้ประเทศสยามมีปัญหาขัดแย้งกับฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ดังนั้นรัชกาลที่ ๕ ทรงมีนโยบายเสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศสยามกับประเทศในยุโรป และที่สําคัญเป็นการลดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส



พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ในพ.ศ. ๒๔๔๐ โดยให้ความสําคัญในการเสด็จประพาสฝรั่งเศสในลําดับแรก ซึ่งในการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนี้พระองค์ทรงศึกษาวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อนํามาพัฒนาประเทศ และที่สําคัญทรงสนพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงกษาปณ์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง หลังจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้โรงกษาปณ์ดังกล่าวสร้างเหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ หรือเหรียญประพาสมาลา จำนวน  ๕๐๐ เหรียญ มีขนาด ๕๐ มิลลิเมตร และ ๓๒ มิลลิเมตร ประกอบไปด้วย เหรียญทองแดงกาไหล่ทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และผู้ติดตาม

ใน พ.ศ.๒๔๔๑ สถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน ได้มอบเหรียญประพาสมาลาเนื้อเงินให้แก่พิพิธภัณฑ์ The South Kensington Museum (ปัจจุบันคือ The Victoria and Albert Museum) เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสที่พิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

บนเหรียญประพาสมาลา นอกจากลักษณะทางกายภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งพระองค์ พระพักตร์ พระเกษา พระมัสสุ และฉลองพระองค์แบบทหารตะวันตกภายใต้อุดมการณ์ความเป็นสุภาพบุรุษในสมัยวิคตอเรียแล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจซึ่งปรากฎอยู่บนเหรียญประพาสมาลาที่ประดับบนพระอุระคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูว์ (St. Andrew) ชั้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของรัสเซียที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ ๓ แห่งรัสเซีย พระราชบิดาของมกุฎราชกุมารรัสเซีย ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานแด่รัชกาลที่ ๕ ในขณะที่ซาเรวิช มกุฎราชกุมารรัสเซีย เสด็จฯ ประทับอยู่ที่สยามประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ (ค.ศ.๑๘๙๑) โดยรัชกาลที่ ๕ ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดของไทยแก่มกุฎราชกุมารรัสเซีย ซึ่งส่วนมากจะพระราชทานให้เฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น ซึ่งเป็นนัยยะว่าราชวงศ์รัสเซียกับสยามเหมือนเป็นพี่น้องกัน

นอกจากนี้ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประพาสฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๔๐  พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กราชอาณาจักรรัสเซียในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ ๒ แห่งราชอาณาจักรรัสเซีย ทรงต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่น พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์โรมานอฟ และจากประชาชนรัสเซีย รวมทั้งพระจักรพรรดินิโคลัสได้ฉายพระรูปกับพระองค์เพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่า พระองค์ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูว์ ทุกครั้งที่ฉายพระรูป ในขณะที่พระจักรพรรดินิโคลัสไม่ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใด ๆ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระรูปดังกล่าวก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ L’ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๑๘๙๗ (พ.ศ.๒๔๔๐) เพื่อแสดงให้ฝรั่งเศสเห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชอาณาจักรรัสเซียและสยามประเทศ และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองของสยามและฝรั่งเศสในห้วงเวลานั้น

ด้วยความสวยงามของพระบรมรูปที่เป็นองค์ต้นแบบในเหรียญประพาสมาลา จึงทำให้มีการอัญเชิญพระบรมรูปไปจัดสร้างเหรียญในรูปแบบอื่น ๆ ตามวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ

ลุพธ์ กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าจากเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ที่นำไปสู่การเป็นเครื่องรางของสามัญชน ว่าหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ซึ่งสร้างความเศร้าโศกให้ประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง และด้วยหลายคนมีความเชื่อว่าได้เห็นพระองค์ท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ผู้ ที่นับถือประจักษ์ต่อสายตา จึงทำให้พระองค์มีลักษณะเป็นบุคลาธิษฐาน บุคคลในจินตนาการ หรือบุคคลในมโนคติแห่งการอธิษฐานเพื่อขอพรให้พระบารมีแห่งพระองค์ได้ปกป้อง คุ้มครองและอำนวยชัยจนพระองค์มีฐานะเป็นเทพในหัวใจของชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เหรียญประพาสมาลา เหรียญราชอิสริยาภรณ์ เครื่องรางของสามัญชน

view