สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดบทเรียนต่างชาติถึงไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ร่วมวางแผน เตือนภัยแม่น

จาก โพสต์ทูเดย์

ประสบการณ์จากประเทศที่เคยผ่านวิกฤตน้ำ ไม่ว่าน้ำท่วม หรือขาดน้ำ เป็นบทเรียนให้ประเทศไทยได้ศึกษาเรียนรู้

ปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่คุกคามประเทศไทยในช่วงหลังมานี้ สะท้อนว่า รัฐไทยประสบปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่สมดุล ในปีที่ฝนตกหนักก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำนำมาบริหารในระยะยาวได้ ส่งผลต่อปัญหาต่างๆ เกิดสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างเมืองกับชนบท ถ้าไม่เร่งแก้จะขัดแย้งบานปลายภายในสังคม 

ในงานเสวนา “บทเรียนต่างประเทศ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และอิสราเอล บนความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” จัดโดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

อิสราเอล-ผลิตน้ำจากทะเลแก้แล้ง

ข้อมูลพื้นฐาน - พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง มีน้ำฝนไม่มาก รัฐบาลต้องเชื่อมโครงข่ายน้ำจืดด้วยระบบท่อใต้ดิน เพื่อนำน้ำจืดจากภาคเหนือลงมาตอนใต้ของประเทศ รวมระยะทาง 6,500 กม. สำหรับการอุปโภคบริโภคและผลิตกระแสไฟฟ้า เน้นเติมน้ำลงสู่ใต้ดินในพื้นที่ทะเลทรายช่วงฤดูหนาว พร้อมกับทำฝนเทียม และกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล จุดเด่นของอิสราเอล คือ ชลประทานแบบน้ำหยด สามารถจ่ายน้ำให้พืชไร่ได้มากกว่า 90%

ไวน์เบอร์เกอร์ กาฟเรียล ผู้อำนวยการสถาบันอุทกวิทยา อิสราเอล กล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะ ดังนั้นรัฐต้องบริหารจัดการทั้งระบบ นโยบายของอิสราเอล ยึดความอยู่รอด ที่ต้องทำให้ใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ เช่น น้ำฝน น้ำบาดาล เพราะประเทศอากาศค่อนข้างร้อน แห้งแล้ง ฝนตกน้อย ดังนั้น การใช้น้ำจึงแบ่งเป็น การใช้เพื่อชลประทาน เพื่อบริโภค รวมถึงนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

เขาบอกว่า อิสราเอลจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำขึ้นมาเป็นหัวใจหลัก ทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งกฎระเบียบ ทำงานอย่างเป็นองค์รวม ทั้งใช้น้ำกร่อย น้ำทะเล ขณะนี้อิสราเอลผลิตน้ำเองได้ โดยนำน้ำทะเลมาเปลี่ยนให้เป็นน้ำจืด ผ่านกระบวนการโรงงานผลิต และยังมีการบำบัดน้ำเสีย น้ำทิ้ง เข้าสู่โรงบำบัดก่อนส่งไปพื้นที่แห้ง เพื่อให้ซึมลงดินเข้าสู่กระบวนการกรองธรรมชาติ แล้วจึงสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้ในการเพาะปลูกคิดเป็น 86%

“ในอนาคตอิสราเอลตั้งเป้าบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ให้ได้ 90% ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ แต่สิ่งที่กังวล คือ ต้องจัดการน้ำให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยมีการก่อตั้งศูนย์วิจัยที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ทำหน้าที่พยากรณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ได้อย่างแม่นยำ คำนวณว่าปริมาณน้ำท่วมจะเกิดขึ้นมากเพียงใด ใช้เวลาเท่าใด ข้อมูลจะถูกส่งผ่านสมาร์ทโฟนไปให้ประชาชนได้เตรียมตัวล่วงหน้า” ไวน์เบอร์เกอร์ กาฟเรียล กล่าว

สิงคโปร์-เก็บฝนทุกหยดให้คุ้มค่า

ข้อมูลพื้นฐาน - เป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำ ต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ ได้ตั้งนโยบายน้ำคือความมั่นคงของชาติ จนกระทั่งผลิตน้ำใช้เองโดยพัฒนาพื้นที่อ่างเก็บน้ำจากเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 4 แห่ง จนปัจจุบันมีถึง 17 แห่ง และใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลน้ำเสีย ภายใต้ชื่อ NEWater นำน้ำเสียจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมากรองและฆ่าเชื้อ จนได้น้ำดิบคุณภาพดี สามารถนำกลับไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและนำมาผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดด้วยกระบวนการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล

ริดซวน บิน อิสมาอิล ผู้อำนวยการคณะกรรมการบริการลุ่มน้ำ สิงคโปร์ กล่าวว่า น้ำมีความสำคัญกับสิงคโปร์อย่างมาก และสำคัญยิ่งกว่านโยบายอื่นๆ ในอดีตเคยเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและมีทางระบายน้ำไม่มาก จึงต้องสั่งซื้อน้ำจากต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้สิงคโปร์มีระบบการจัดการกักเก็บ นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 1 ครั้ง จัดการน้ำตั้งแต่น้ำฝน น้ำทิ้ง ไปจนถึงการบำบัดและการจ่ายน้ำไปยังครัวเรือน รวมถึงส่งไปยังโรงงาน ส่งน้ำทิ้งไปฉีดลงดินด้วย

ทั้งนี้ จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ หัวใจสำคัญคือการเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาให้ได้ทุกหยด จึงต้องกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างที่อยู่อาศัยต้องมีโครงสร้างระบายน้ำเข้าสู่ระบบท่อสาธารณะ ถัดมาคือการกำหนดข้อบังคับป้องกันน้ำท่วม เช่น สิ่งก่อสร้างจะต้องมีมาตรฐานเรื่องขนาดฐานรากให้กระจายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ต่อมาคือการปรับปรุงระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ขยายทางระบายให้กว้าง สร้างแก้มลิง

นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้กรณีจะมีพายุหรือน้ำท่วมในจุดไหน และยังรับบริการส่งข้อความเตือนฟรี เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและดูแลตัวเองได้

เขาบอกว่า สิงคโปร์กำหนดราคาน้ำสูง ทั้งยังเก็บภาษีน้ำเพิ่มเพื่อให้ประชาชนรู้ถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมถึงการกำหนดอุปกรณ์ประหยัดน้ำ ซึ่งถือเป็นข้อบังคับในการพัฒนาเครื่องอุปโภคในครัวเรือน หากใครใช้น้ำมากจะถูกสั่งให้เขียนแผนลดการใช้น้ำส่งกลับมาให้รัฐพิจารณา สิงคโปร์ยังกำหนดแผนการจัดการน้ำระยะเวลา 50 ปี โดยจะให้ใช้ในครัวเรือนเพียง 30% เท่านั้น ส่วนอีก 70% จะนำไปใช้ด้านอื่น และจะนำน้ำทิ้งมาบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในปริมาณ 55% ส่วนที่เหลืออีก 25% จะเป็นการผลิตน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด

เนเธอร์แลนด์

ข้อมูลพื้นฐาน - พื้นที่ 1 ใน 4 ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงต้องสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก ป้องกันไม่ให้พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศน้ำท่วม มีการเก็บภาษีน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง และยังนำกังหันลมมาช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าและลดปัญหาลมที่ทำให้น้ำระเหยเร็ว

ทีจิตต์ โนตา ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ของสถาบันวิจัยเดลทาสร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการบริหารจัดการน้ำ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศทั้งจากทะเลและจากแม่น้ำ มีการใช้โปรแกรมจำลองเหตุการณ์ นำปัจจัยต่างๆ มาเป็นตัวร่วม กำหนดสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบ ความรุนแรง ความเสียหาย เพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ มีส่วนร่วมตัดสินใจทำแผนบริหารจัดการเข้ามาร่วมพูดคุย ให้ข้อมูล นอกจากนี้มีการวางแผนผังเมืองเพื่อใช้อย่างเป็นระบบ คุ้มค่า เช่น ทำลานจอดรถใต้ดินในเวลาปกติ แต่เมื่อมีน้ำหลากหรือฝนตกก็ใช้เป็นที่กักเก็บน้ำแทนเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้านบน ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอมาถึงประเทศไทย ว่า ควรจะต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก โดยต้องวางแผนระยะยาวเป็น 100 ปี ไม่ใช่เพียง 5-50 ปี อีกทั้งต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมบูรณาการอนาคต วางแผนอย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ถอดบทเรียนต่างชาติ   ไร่รักษ์ไม้ มูลไส้เดือน #ปุ๋ยมูลไส้เดือน #เกษตรแปรรูป #อุปกรณ์แค้มปิง #อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย ร้านกาแฟดี อาหารอร่อยถึงไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ร่วมวางแผน เตือนภัยแม่น

view