สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ลึก ... สงกรานต์อุษาคเนย์

จากประชาชาติธุรกิจ

เชื่อว่าคนไทยไม่น้อยที่ยังเข้าใจว่า "ประเพณีสงกรานต์" เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสงกรานต์ถือว่าเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ร่วมกันในกลุ่ม "ชาติพันธุ์อุษาคเนย์" ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาทิ ชาวลาว แขมร์ และพม่า เป็นต้น

บ้างก็ระบุว่า ประเพณีสงกรานต์ของอินเดีย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ไทย และสงกรานต์ในแถบอุษาคเนย์ โดยประเพณีนี้คนอินเดียจะเรียกว่า "โฮลิ" (Holi) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (อาทิตย์สุดท้ายของเดือน มี.ค.) ซึ่งเป็นการละเล่นด้วยการสาดสีใส่กัน

คำว่า "สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤตที่แปลว่า "ก้าวย่าง" ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียหมายถึงการเปลี่ยนผ่านเวลาในรอบปีจากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ดังนั้นใน 1 ปีจะมีสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน (มีนาคม) เข้าสู่ราศีเมษ (เมษายน) จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า "วันวสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) หรือ "มหาสงกรานต์"

"เมียนมา" ประเพณีฝังลึก


จัดขึ้นช่วงอาทิตย์ที่สองของเดือนเมษายน แต่เป็นเดือน 1 ตามปฏิทินของเมียนมา ที่เรียกว่า "เดือนดะกู" (ช่วง มี.ค.-เม.ย.) เดือนแห่งการเริ่มต้นภาคฤดูร้อน สำหรับคนพม่าจะเรียกวันสงกรานต์ว่า "เหย่บะแวด่อ" (คำว่า เหย่ แปลว่า "พิธีน้ำ" ส่วนบะแวด่อ แปลว่า "เทศกาล")

งานสงกรานต์เป็นประเพณีใหญ่ในรอบปี เรียกว่า ธิงจัน (Thingyan) แปลว่า "การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง" โดยตลอด 5 วัน ประชาชนจะสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน เพื่อชำระสิ่งอัปมงคลออกจากชีวิตก่อนเริ่มต้นศักราชใหม่ ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี

ช่วงเวลานี้เป็นวันมงคล คนพม่าจึงนิยมเข้าวัดรักษาศีล ช่วยกวาดลานวัด สรงน้ำพระพุทธและเจดีย์ที่สำคัญในแต่ละเมือง รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุด้วยน้ำส้มป่อย งดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือปล่อยวัว กระบือ และปลา

วันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ คนท้องถิ่นจะนิยมจัดงานบวชเณรให้บุตรและจัดงานเจาะหูให้ธิดา

"กัมพูชา" ดินแดนเก่าชาวฮินดู


วันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา โดยจะตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย เรียกกันว่าเทศกาล "โจลชนัมทเมย" (Chaul Chnam Thmey) แปลว่า "ก้าวสู่ปีใหม่" ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว รัฐบาลกัมพูชากำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 (ในบางปีจะจัดช่วง 14-16 เมษายน) ขึ้นอยู่กับการนับช่วงเวลาของคนแขมร์ดั้งเดิม

วันปีใหม่ของคนแขมร์ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย เพราะในอดีตชาวแขมร์นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน กระทั่งภายหลังศาสนาพุทธเข้ามา โดยปัจจุบันมีผู้นับถือมากถึง 96%

เทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะมีกิจกรรมคล้าย ๆ กับไทย คือ ทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน โดยจะแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน และในช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สามจะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่

"ลาว" วัฒนธรรมคล้ายคลึงไทย


งานประเพณีปีใหม่คนลาว หรือ "กุดสงกรานต์" จะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (เมษายน) ตามปฏิทินของคนลาว โดยส่วนใหญ่จะจัดระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี การจัดงานหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 3 วัน ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับทางตอนเหนือของไทย วันแรกเรียกว่า "วันสังขารล่วง" ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน และเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ วันที่สองเรียกว่า "วันเนา" ถือเป็นวันแห่งครอบครัว เพราะญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า "วันสังขารขึ้น" ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการบายศรีสู่ขวัญ การสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นชื่อเรียกนางสงกรานต์ของคนลาว

สำหรับประเพณีสงกรานต์ สปป.ลาว ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างหลวงพะ นอกจากนี้ยังมีการประกวด "นางสาวปีใหม่" เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

"พุทธมาเลย์" แฮปปี้สงกรานต์


แม้คนมาเลเซียส่วนใหญ่ (59%) จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ผู้นับถือศาสนาพุทธ 19.3% ยังให้ความสำคัญกับเทศกาลดั้งเดิมอย่างวันสงกรานต์ โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ มักจะพบเห็นชาวพุทธนับพันคนเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ในช่วง 12-14 เมษายนของทุกปี

รัฐปีนังเป็นหนึ่งในหลายรัฐที่กระตือรือร้นในการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ หรือแม้แต่รัฐเประ ที่อยู่ห่างจากชายแดน อ.เบตง จ.ยะลา เพียง 10 กิโลเมตร โดยคนมาเลเซียเชื้อสายไทยกว่า 2 พันคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมักเตรียมกิจกรรมเฉลิมฉลองตามความเชื่อ ซึ่งคล้ายคลึงกับเทศกาลในไทย ที่ต้องการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปก่อนรับสิ่งดี ๆ เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ตน

"สิงคโปร์" ฝันสลายสงกรานต์


เมื่อปี 2557 สิงคโปร์เตรียมจัดงานสงกรานต์ขึ้นที่ปาดัง ใจกลางสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 12-13 เมษายน ซึ่งสร้างความฮือฮาต่อนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิงคโปร์กำลังขโมยวัฒนธรรมของไทย อย่างไรก็ตาม งานเทศกาลดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด เนื่องด้วยผิดนโยบายประหยัดน้ำของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยสื่อท้องถิ่น "สเตรตไทมส์" เคยรายงานไว้ว่า จะไม่มีการเล่นปืนฉีดน้ำ, ซุ้มดาราตกน้ำ หรือการกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

นอกจากแถบอุษาคเนย์จะมีการฉลองสงกรานต์ที่คล้ายคลึงกันแล้ว ปีนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนกันด้วย ซึ่งอาจทำให้งานกร่อยกว่าปีก่อน ๆ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รู้ลึก สงกรานต์อุษาคเนย์

view