จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย
ในรายงานประจำปีของธนาคารโลกเมื่อปี 2551 (World Development Report 2008 : Agriculture for Development) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการผลิตอาหาร (Food Production) จากทั่วโลกว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถสร้างผลิตผลให้สอดคล้องเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพราะเมื่อมีการกล่าวถึงภาคการผลิต เราจำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ การใช้ที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตร การใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนกระบวนการสร้างผลผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค
ปัจจุบันเราทราบกันดีว่าการทำเกษตรกรรมอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากจนเกินไปและขาดการควบคุมอันนำมาซึ่งมลภาวะด้านต่างๆ ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความตระหนักและการพัฒนารูปแบบการเกษตรสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภายใต้แนวคิด เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Intensification of Agriculture) ซึ่งหมายความถึงการเพิ่มมูลค่าและผลิตผลต่อพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรักษาไว้ ซึ่งทุนทางธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
ในฐานะที่ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสทำงานในระดับพื้นที่จังหวัดและอำเภอมาหลายพื้นที่เมื่อครั้งรับราชการ จึงมองเห็นพัฒนาการของการประยุกต์เอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ เริ่มตั้งแต่เมื่อเป็นหน่ออ่อนที่มีเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ความเข้มแข็งที่วางเป้าที่จะพัฒนาความยั่งยืนในระดับฐานรากสู่ระดับสากลดังเช่นกรณีของ จ.ยโสธร ที่จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในวันนี้
ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจจะรู้จัก จ.ยโสธร จากประเพณีบุญบั้งไฟที่เลื่องลือ แต่แท้จริงแล้วยโสธรยังมีชื่อเสียงจากผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญคือ แตงโมและข้าวหอมมะลิ สืบเนื่องจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักหากจะได้ทราบว่าพื้นที่ทำการเกษตรครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 70.07 ของพื้นที่ จ.ยโสธร (1,822,476 ไร่ จาก 2,600,902.5 ไร่) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเจ้านาปีทั่วไปถึงประมาณ 1,063,295 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 46,625 ไร่ (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร)
จากการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ที่อยู่บนฐานของภาคการเกษตรเป็นหลัก ทำให้ จ.ยโสธร ภายใต้การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ “กรมยโสธร” ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2548 โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนของจังหวัดร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงศักยภาพการพัฒนาและเริ่มต้นกำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “เกษตรอินทรีย์สู่สากล” ขึ้น ตลอดจนกำหนดแนวทางการทำงานอย่างจริงจังร่วมกันระหว่างชาวยโสธรกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้จนบังเกิดผลเป็นที่น่าพอใจ
โดยหากพิจารณาจากตัวเลขการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งสำนักงานสถิติจังหวัดยโสธรได้รวบรวมไว้จะพบว่าทั้งพื้นที่การปลูก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในปี 2558 มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 46,625 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 396 กิโลกรัม/ไร่ สร้างรายได้จากการจำหน่าย 276,952,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 19,251 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 386 กิโลกรัม/ไร่ และสร้างรายได้เพียง 118,880,000 บาท ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายทางวิสัยทัศน์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วนของจังหวัดได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันข้าวหอมมะลิปลอดภัยและข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยโสธรเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศและสามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ผลิตที่มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ กลุ่มข้าวคุณธรรม วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายเกษตรยั่งยืนน้ำอ้อม สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เลิงนกทาและไทยเจริญ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยในพืชชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยเพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น หอมแดงอินทรีย์ แตงโมอินทรีย์ ถั่วลิสงอินทรีย์ การทำนาหญ้าทดแทนนาปรัง เป็นอาทิ ผลที่ตามมายังเป็นเรื่องของการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของเกษตรกรและผู้บริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์
เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จ.ยโสธร ได้รับเกียรติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ โดยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิม และสนับสนุนการขยายพื้นที่ผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการเรียนรู้โดยอาศัยการขยายผลจากกลุ่มหรือเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ โดยมีการขับเคลื่อนใน 3 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการต้นทางในรูปแบบของการสนับสนุนปัจจัยการผลิตไปจนถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเพาะปลูก
กระบวนการกลางทางคือ การส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกผงชงดื่ม ผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว ตลอดจนการส่งเสริมเรื่องทุนเพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระบวนการปลายทางที่เน้นการส่งเสริมด้านตลาดและการส่งออก การจัดให้มีการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น
ประเด็นที่น่าพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่ระดับที่เข้มข้นมากขึ้น น่าจะมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม อันได้แก่ การเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างความไว้วางใจและสร้างเครือข่ายกับหุ้นส่วนการพัฒนารายใหม่ๆ ระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
การให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงการสนับสนุนระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นต้น ซึ่งการที่จะบรรลุผลสำเร็จเหล่านี้ได้ต้องอาศัยเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน
ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่ จ.ยโสธร จะพัฒนาให้เป็น “เมืองเกษตรอินทรีย์” หรือ “The Land of Organic” ซึ่งถือเป็นทางเลือกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านของคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติในคราวเดียวกัน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต