สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้จักสารดับเพลิง ไพโรเจน ต้นเหตุขาดอากาศในเหตุสลดSCB

รู้จักสารดับเพลิง "ไพโรเจน" ต้นเหตุขาดอากาศในเหตุสลดSCB

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เหตุการสลด ที่ชั้นใต้ดินอาคารเอสซีบี ปาร์ค สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็น กลายเป็นประเด็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุระบบป้องกันอัคคีภัยทำงานอัตโนมัติระหว่างที่คนงานเข้ามาปรับปรุงระบบส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

ธนาคารชี้แจงล่าสุดว่า ตามที่เกิดเหตุที่ธนาคารไทยพาณิชย์ บริเวณชั้นใต้ดิน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เวลาประมาณ 21.30 น.นั้น ไม่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ และไม่ได้เกิดเหตุระเบิดแต่อย่างใด จากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าพนักงานตำรวจคาดว่า อาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมาที่เข้ามาปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารเพิ่มเติม โดยการทำงานได้ไปกระตุ้นให้สารดับเพลิง (ไพโรเจน) ทำงาน ซึ่งหลักการของไพโรเจนจะทำให้ออกซิเจนหมดไป จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต

วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า สารดับเพลิงไพโรเจน PYROGEN (ย่อมาจาก Pyrotechnically Generated) เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด เมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็ง ต่อเมื่อใช้งานหรือทำปฏิกิริยา ก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ มีลักษณะการกระจายทั่วทิศทางจนเต็มพื้นที่ป้องกัน 

PYROGEN มีลักษณะเป็นถังสามารถทำงานคือฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง จัดว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสารหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทน HALON ที่ถูกห้ามใช้งานไป

PYROGEN ใช้หลักการดับเพลิงทางเคมี โดยใช้กระแสไฟฟ้าหรือความร้อนเพื่อทำให้สาร Pyrogen ที่อยู่ในรูปของแข็งเกิดปฏิกิริยาเคมี กลายสภาพเป็นส่วนผสมของควันและก๊าซฉีดออกมาด้วยแรงดันจากตัวถังฟุ้งกระจายไปทั่วปริมาตรของห้องที่ต้องการดับเพลิง โดยในส่วนของควันที่เกิดขึ้นมีส่วนผสมหลักเป็นอนุภาคของ โปแตสเซียมคอร์บอเนต ที่มีขนาดอนุภาคใกล้เคียงกับอากาศ ส่วนที่เป็นก๊าซเป็นส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนและไอน้ำรวมอยู่ด้วยกัน หรือเราอาจเรียกส่วนผสมของก๊าซและควันดังกล่าวว่า aerosol

"ห้องเอกสารหรือห้องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ จะไม่ใช้ระบบดับเพลิงที่ใช้น้ำ แต่จะใช้ก๊าซแทน ซึ่งระบบนี้เรียกว่า Pyrogen  เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ที่เซนเซอร์จับได้ในระดับที่ตั้งค่าไว้ ถังดับเพลิงระบบไพโรเจน Pyrogen Aerosol firefighting agent จะทำงาน โดยผลิตก๊าซอื่นที่มาแทนที่ออกซิเจน ทำให้บริเวณไฟไหม้ไม่มีออกซิเจน และไฟก็ดับลง ก๊าซที่มาแทนที่ออกซิเจน หรือมาช่วยดับไฟนั้นคือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ผสม ไนโตรเจน และละอองน้ำ  สามตัวนี้ไม่ติดไฟ ช่วยดับไฟ แต่คนที่หลงติดอยู่บริเวณนั้น ก็จะขาดอากาศหายใจด้วยครับ ยิ่งอยู่ในอาคารปิด อากาศภายนอกเข้ามาแทนที่ยาก ก็ยิ่งยากที่จะรอดชีวิต"

ทั้งนี้ ไฟจะติดได้ ต้องมี 3 องค์ประกอบคือ 1. แหล่งกำเนิดไฟ 2. เชื้อเพลิง 3. ออกซิเจน หรือ อากาศ สารเคมีที่จะดับไฟได้ ต้องทำให้ 3 องค์ประกอบนั้นสูญเสีย และวิธีที่ง่ายสุดคือ ทำให้ไม่มีอากาศ หรือเอาก๊าซอื่นที่ไม่ติดไฟไปแทนอากาศ หากไม่มีอากาศ ไฟก็ดับ และคนที่อยู่แถวนั้นก็จะเริ่มขาดอากาศหายใจ หมดสติ และเสียชีวิตลง คนไม่ได้ตายเพราะสารแต่ตายเพราะไม่มีอากาศ

"ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ต้องกันคนไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่และพยายามเปิดพื้นที่ ช่องทาง เพื่อให้อากาศเข้าไปในห้อง และให้สารเคมีข้างในไหลออกมาข้างนอก เมื่อไหลออกมาสารพวกนี้จะระเหยขึ้นด้านบนอากาศ ทิ้งไว้สักระยะจนมั่นใจว่า มีอากาศเข้าไปเพียงพอในห้องแล้ว ถึงสามารถเข้าไปได้ ส่วนทีมกู้ภัยหากจะเข้าช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เซฟตี้อย่างถังออกซิเจน มิฉะนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน"ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

ภาพไพโรเจนจาก https://youtu.be/ws3wrlilSP4


 เจาะลึก "ห้องนิรภัย" เบื้องหลังสารเคมีรั่วไหลที่เอสซีบีปาร์ค

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

เจาะลึก "ห้องนิรภัย" เบื้องหลังสารเคมีรั่วไหลที่เอสซีบีปาร์ค


โศกนาฎกรรมภายในห้องนิรภัย ชั้นบี 2 อาคารเอสซีบีปาร์ค สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 13 มี.ค. สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่ผู้ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่ง

เหตุการณ์เกิดเมื่อเวลา 21.30 น. หลังจากคณะผู้รับเหมาจำนวนกว่า 20 คน เดินทางเข้าไปปรับปรุงระบบอัคคีภัยของห้องมั่นคงนิติกรรมหลักประกันและบริหารหลักประกัน ชั้นใต้ดิน บี 2 อาคารเอสซีบีปาร์ค ซึ่งเป็นห้องเก็บเอกสารสำคัญของธนาคาร

จู่ๆเกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อมีกลุ่มควันจากฝุ่นละอองลอยขึ้นไปทำปฏิกิริยากับระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบแก๊ส (Gas System) เนื่องจากห้องดังกล่าวไม่ใช้ระบบดับเพลิงแบบฉีดน้ำฝอย (Springler System) เพราะเกรงจะสร้างความเสียหายแก่เอกสารสำคัญ ระบบดับเพลิงแบบแก๊สจึงปล่อยสารเคมีไพโรเจน (PYROGEN) ออกมาดับไฟ โดยทำหน้าที่ดูดอ๊อกซิเจนภายในห้องจนหมด ส่งผลให้คนงานขาดอากาศหายใจ หมดสติ และเสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 8 ราย

จากการเปิดเผยของ พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รองผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) พบว่า อาคารเอสซีบีปาร์คมีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่เรียกว่า "เวสด้า" (Vesda System) มีลักษณะพิเศษในการตรวจจับควันไฟแบบสุ่มตัวอย่างอากาศ ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่าระบบตรวจควันแบบธรรมดา ภายใต้หลักการว่าเมื่อเริ่มเกิดเพลิงไหม้ จะเกิดการสลายตัวของวัสดุเนื่องจากความร้อน ส่งผลให้เกิดอนุภาคเล็กๆจำนวนมากขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ซึ่งระบบเวสด้าจะตรวจจับจากอนุภาคเล็กเหล่านี้ แล้วปล่อยสารเคมีออกมาดูดอ๊อกซิเจนออกจนหมด เพื่อป้องกันการเกิดเปลวเพลิง

สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่แบ่งระดับการเกิดอัคคีภัยออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มองไม่เห็นควันด้วยตาเปล่า กินเวลา 5 ชั่วโมง ระยะที่ 2 เริ่มสังเกตเห็นควันด้วยตาเปล่า ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ระยะที่ 3 เริ่มเกิดเปลวไฟ ใช้เวลา 10 นาที และ ระยะที่ 4 เพลิงไหม้เริ่มลุกลามยากจะควบคุม ซึ่งระบบเวสด้าจะสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่ระยะที่ 1

ทั้งหมดทำให้เวสด้าเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและความเที่ยงตรงสูงสุดในปัจจุบัน

สำหรับเรื่องระบบความปลอดภัยของ "ห้องนิรภัย"

ศ.ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายถึงหลักการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในสถานที่ต่างๆว่า ส่วนใหญ่บ้านพักอาศัย ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน ซึ่งอยู่ในอัตราเสี่ยงอันตรายแบบธรรมดา มักติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบฉีดน้ำฝอย (Sprinkler System)

ส่วนพื้นที่พิเศษที่ไม่ต้องการให้วัสดุเสียหาย เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเก็บเอกสาร ห้องเก็บทรัพย์สินมีค่า นิยมติดตั้งระบบดับเพลิงแบบแก๊ส (Gas System) โดยแก๊สที่ใช้เป็นน้ำยาดับเพลิงชนิดสะอาด หลังใช้จะไม่ทิ้งความสกปรกไว้

"โดยเฉพาะห้องนิรภัยเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงมาก มักจะสร้างไว้เพื่อเก็บรักษาเอกสารสำคัญ เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่าต่างๆ จึงออกแบบไว้อย่างแข็งแรงคงทน ห้องนิรภัยบางแห่งต่อให้เขวี้ยงระเบิดหรือเจาะอุโมงค์ก็ไม่สามารถเข้าได้ นอกจากนี้ยังมีการวางระบบป้องกันความปลอดภัยต่างๆ ทั้งสัญญาณกันขโมย รหัสลับในการเปิด-ปิดประตู สแกนนิ้ว มีกล้องวงจรปิด มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า รวมทั้งมอบหมายให้ผู้มีอำนาจทำหน้าที่ถือกุญแจฉุกเฉินเพียงไม่กี่คน

ส่วนระบบป้องกันอัคคีภัย จะติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบใช้สารเคมีแทนน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหาย หากเกิดควัน หรือเพลิงไหม้ ประตูจะถูกปิดอัตโนมัติ ผนังที่ปิดทึบก็จะไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ สกัดกั้นไม่ให้ควัน หรือไฟลามไปยังห้องอื่นๆ"

นักวิชาการรายนี้ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดว่า กรณีศึกษาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ควรตรวจสอบระบบป้องกันความปลอดภัยของห้องนิรภัยอยู่เป็นประจำว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ อย่างไร วางมาตรการควบคุมดูแลหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างไร รวมทั้งตัวเจ้าหน้าที่เองควรรู้จักและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วย.


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รู้จักสารดับเพลิง ไพโรเจน ต้นเหตุ ขาดอากาศ เหตุสลด SCB

view