สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

สถานีต้นทางของรถไฟสายปากน้ำ


       สถานีต้นทางของรถไฟที่ออกจากกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่ที่สถานีหัวลำโพงขณะนี้ หรือสถานีบางกอกน้อยเท่านั้น ที่วงเวียนใหญ่ก็ยังมีสถานีต้นทางของรถไฟสายโดดเดี่ยว วิ่งไปแม่กลองไม่เชื่อมต่อกับสายไหน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ทุกวันนี้ก็ยังวิ่งอยู่ แต่ก่อนสถานีต้นทางอยู่ริมแม่น้ำที่ปากคลองสาน ถูกตัดสั้นเหลือแค่วงเวียนใหญ่ และยังมีอีก ๒ สายที่เหลือเป็นตำนาน ทิ้งร่องรอยที่เป็นถนนให้รถยนต์วิ่งแทนอยู่ในขณะนี้
       
       สายหนึ่งเป็นสายแรกสุดของเมืองไทย แต่ทางการถือกันว่ารถไฟสายแรกของไทย คือสายกรุงเทพฯ-อยุธยา ซึ่งเป็นส่วนแรกของรถไฟหลวงสายเหนือ เริ่มเปิดเดินรถเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ และถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทยด้วยนั้น แต่ในวันนั้นประเทศไทยมีรถไฟสายหนึ่งเปิดให้บริการมาแล้ว ๓ ปี ออกจากสถานีต้นทางที่หัวลำโพงเหมือนกัน สถานีอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน ริมถนนพระราม ๔ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า “ถนนตรง” และยังมีคลองขนานไปตลอด เรียกว่า “คลองถนนตรง” เหมือนกัน เป็นรถไฟของบริษัทเอกชน
       
       ในปี ๒๔๒๙ รัฐบาลสยามได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค คือนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว ซึ่งรับราชการเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเวสาตรี กับพวก สร้างทางรถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธี เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ พระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า
       
       “...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”
       
       รถไฟสายปากน้ำมี ๑๒ สถานี คือ บางกอก ศาลาแดง คลองเตย บ้านกล้วย พระโขนง บางจาก บางนา สำโรง จรเข้ บางนางเกรง มหาวง และสถานีปากน้ำที่อยู่ตรงท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงปลายทางของรถไฟสายนี้อยู่ตรง นั้น
       
       กิจการรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำประสบกับการขาดทุน ทางราชการจึงได้ให้กู้ยืมเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างชาติกู้เงิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รถไฟสายแรกของไทยต้องล้มเหลวแล้ว ทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็นสายยุทธศาสตร์ป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาด้วย ในคราวที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าการป้องกันของป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒” ซึ่งรถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้น ถูกลูกหลงไม่ทราบว่าของฝ่ายไหน มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และแม่เฒ่าตกใจตายไปอีกหนึ่งราย นาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียว ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พล.ร.ต.พระยาชลยุทธโยธิน ผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำ ซึ่งใช้ปืนป้อมพระจุลฯยิงเรือนำล่องของฝรั่งเศสจมแล้ว ยังได้ขึ้นรถไฟสายนี้ตามเรือรบฝรั่งเศสที่ฝ่าด่านเข้ามาได้ หวังจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งชน แต่ทางการไทยไม่ต้องการจะก่อปัญหากับฝรั่งเศสอีก จึงใช้วิธีเจรจาแทน
       
       ต่อมารถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ได้เลิกใช้หัวรถจักรไอน้ำ เปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับรถรางในกรุงเทพฯ ซึ่งนาย เอ.ดูเปล ริเดธิเชอเลียวกับพวกได้รับสัมปทานเช่นกัน
       
       หลังสิ้นสุดสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ กรมรถไฟได้ดำเนินกิจการต่อ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรื้อทางรถไฟ ถมคลอง ขยายเป็นถนนพระราม ๔ ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่ยังเหลืออยู่ ก็คือเส้นทางรถยนต์ที่เรียกว่า “ถนนทางรถไฟสายเก่า” นั่นเอง
       
       อีกสายที่จะเปิดตำนานมาเล่ากันในวันนี้ คนทุกวันนี้รู้จักกันน้อยเต็มที เพราะเลิกกิจการไปหลายปีจนลืมกันไปหมดแล้ว ทิ้งไว้แต่ร่องรอยที่เคยเป็นเส้นทางให้รถยนต์ได้ใช้แทนเหมือนกัน
       
       รถไฟสายนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “รถไฟสายบางบัวทอง” สถานีต้นทางอยู่ที่ท่าน้ำวัดลิงขบ หรือวัดบวรมงคล ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามท่าเรือเทเวศร์ ไปสุดทางที่บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี หรือเรียกกันว่า “รถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์ฯ” เพราะเจ้าของคือ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) คนที่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกและงานช่าง ตอนที่เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ เงินเดือน ๑๒ บาท พอขึ้นไปเป็น ๓๐ บาท ท่านเก็บหอมรอมริบไปซื้อรถเมล์เก่าๆมาได้ ๒ คัน ซ่อมออกรับผู้โดยสาร จนเกิดติดใจธุรกิจประเภทนี้ที่ขนเงินเข้าบ้านทุกวัน สิบสลึงบ้าง สามบาทบ้าง บ้านเมืองก็เจริญขึ้นมากจนคนเดินกันไม่ทันใจแล้ว
       
       เรื่องนี้อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดรถไฟสายบางบัวทองขึ้น
       
       เหตุที่ท่านไปเลือกทำรถไฟไปบางบัวทอง ก็เพราะในสมัยนั้นมีงานก่อสร้างมาก ทั้งวังและคฤหาสน์ขุนนาง ท่านจึงไปเช่าเตาเผาอิฐที่บางบัวทองผลิตอิฐชั้นดีมาใช้ในการก่อสร้าง และเห็นว่าบางบัวทองกำลังเจริญ มีธุรกิจคึกคัก
       
       การวางรางรถไฟสายนี้มีปัญหายุ่งยากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟ ต้องให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปอ้อนวอนขอแบ่งที่ชาวบ้านให้ บางรายก็ไม่ยอมแบ่ง ให้ซื้อยกแปลง บางรายก็ไม่ยอมขาย เลยต้องย้ายแนวหลบ ทำให้ทางรถไฟสายนี้คดไปคดมา
       
       รถไฟสายบางบัวทอง-วัดลิงขบ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง “บริษัท รถไฟบางบัวทอง จำกัดสินใช้” เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ และเริ่มวางรางในปี ๒๔๕๒ เปิดเดินรถได้ในปี ๒๔๕๘ ด้วยขนาดรางกว้าง ๗๕ เซนติเมตร
       
       ต่อมาในปี ๒๔๗๓ ได้ขยายเส้นทางจากบางบัวทองไปถึงทุ่งระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ตอนนี้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองการสร้างทางรถไฟออกมาแล้ว ทางช่วงนี้จึงสร้างได้ตรง พร้อมกับได้ย้ายรางที่แยกไปลงท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ ไปสร้างลงท่าน้ำแห่งใหม่ ที่เรียกว่า “ท่าน้ำนนทบุรี”ในปัจจุบัน ตามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ที่ย้ายจากตลาดขวัญ ตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติ ไปอยู่ที่บางขวาง ตรงข้ามท่าน้ำนั้น
       
       ในตอนแรกที่เริ่มเดินรถ ใช้หัวรถจักรไอน้ำ แต่ต่อมาฟืนหายากขึ้น เลยหันมาใช้หัวรถจักรดีเซล ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงประสบปัญหาน้ำมันขาดแคลน ทั้งยังมีเรือของบริษัทฝรั่งที่เรียกกันว่า “มอเตอร์โบ๊ท” มาเปิดรับผู้โดยสารระหว่างบางบัวทองกับท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ทำให้รายได้รถไฟลดลง จึงประกาศเลิกกิจการในวันที่ ๑๖ กรกฎาตม ๒๔๘๕ และเริ่มรื้อถอนรางในเดือนกันยายน ขายให้บริษัทน้ำตาลวังกะพี้ที่อุตรดิตถ์ ใช้ขนอ้อยจากไร่เข้าโรงงาน และใช้มาจนถึงปี ๒๕๒๐ จึงเอาหัวรถจักรมาตั้งเป็นที่ระลึกไว้ที่หน้าโรงงาน
       
       ร่องรอยของเส้นทางรถไฟสายเจ้าคุณวรพงษ์ฯที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็ คือ “ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๖” และ “ถนนบางกรวย-ไทรน้อย” ซึ่งบางแห่งยังมีตอม่อคอนกรีตของสะพานข้ามคูหลงเหลืออยู่
       
       ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งรถไฟสายนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต ข้ามเรือจ้างจากท่าเทเวศร์ไปท่าวัดลิงขบ แล้วขึ้นรถไฟสายเจ้าคุณวรพงษ์ฯไปลงที่สถานีวัดรวก บางบำหรุ ยังจำบรรยากาศในการเดินทางได้ เหมือนนั่งเรือฝ่าคลื่น ส่ายและกระเทือนไปตลอดทาง แต่บรรยากาศสองข้างทางติดตรึงใจ ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าไปตลอด
       
       นี่ก็เป็นตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ ที่พ่ายแพ้ต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ถูกรถยนต์ยึดเส้นทางไปใช้ในปัจจุบัน

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

สถานีบางจากของสายปากน้ำ

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

รถไฟสายปากน้ำเมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้า

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

เส้นทางวิบากของทางรถไฟสายวัดลิงขบ

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

สะพานแห่งหนึ่งบนเส้นทางไปบางบัวทอง

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

รถตู้โดยสารของรถไฟสายเจ้าคุณวรพงศ์ฯ

เปิดตำนานรถไฟของกรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอยเป็นทางรถยนต์!!!

รถจักร์ไอน้ำของรถไฟสายบางบัวทองที่หน้าโรงน้ำตาลวังกะพี้เป็นที่ระลึก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิดตำนานรถไฟ กรุงเทพฯ สายวัดลิงขบ - สายปากน้ำ ทิ้งร่องรอย ทางรถยนต์

view