สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เคล็ดลับใช้ สารกันแดด ถูกวิธี ป้องกันผิวเสีย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

รศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน หน่วยโรคผิวหนังภาควิชาอายุรศาสตร์และ สาราณียกร สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
        
        ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนอบอ้าว และมีแสงแดดอยู่ตลอดทุกฤดูกาล จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าแสงแดดนั้นเป็นตัวการสำคัญในการทำร้ายผิวของเราให้ เกิดความหมองคล้ำ เกิดจุดด่างดำบนใบหน้า และทำให้ผิวเราเสีย ...  แต่ในความเป็นจริงแล้วแสงแดดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าหากเรารู้จักป้องกันอย่างถูกวิธี
        
       แสงแดดที่ส่องมายังพื้นโลกประกอบด้วยแสงสำคัญ 3 ส่วน คือ
       
       1) แสงยูวี (UV) ซึ่งเป็นแสงที่มองไม่เห็น แต่มีพลังงานสูง และเป็นสาเหตุสำคัญของผิวไหม้แดง, ผิวคล้ำ, มะเร็งผิวหนัง และผิวชราจากแดด แม้จะมีปริมาณเพียง 5% ของแสงแดดทั้งหมด
       แสงยูวียังแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วนตามความยาวคลื่น คือ ยูวีเอ, บี, และซี
       
       ยูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดสามารถฆ่าเชื้อโรคได้แต่ถูกกรองโดยโอโซนทำให้ไม่มา ถึงพื้นโลก หรือมีเพียงเล็กน้อย บริเวณที่มีโอโซนบาง
       
       ยูวีบี (UVB) และยูวีเอ (UVA) คือ แสงยูวีที่มีในแสงแดดที่ส่องมายังพื้นโลก ยากันแดดในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นมาให้สามารถป้องกันยูวีบี และ เอ เกือบ 100% ยกเว้นยูวีเอที่มีคลื่นยาวมาก หรือ ยูวีเอ วัน ที่ยากันแดดรุ่นเก่ามักจะป้องกันได้ไม่ดี จึงเป็นสาเหตุของผิวคล้ำเสีย และผิวเสื่อมจากแดด
       
       2) แสงที่ให้ความสว่าง (visible light) มีปริมาณ 45% ของแสงแดดทั้งหมด แสงนี้มีพลังงานต่ำกว่าแสงยูวีหลายพันเท่า แต่ถ้าได้รับเป็นเวลานาน เช่น ตลอดทั้งวันก็สามารถทำให้ผิวคล้ำเสีย หรือ เสื่อมจากแดดได้ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ และ ยากันแดดในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้น ยากันแดดที่มีส่วนประกอบของ Red iron oxide ซึ่งจะมีสีชมพูแดง หรือ การใช้ผ้าปกปิด
       
       3) แสงอินฟราเรด หรือ แสงที่ให้ความร้อนมีปริมาณ 50% ของแสงแดดทั้งหมด และมีพลังงานต่ำกว่าแสงที่ให้ความสว่าง ดังนั้น จึงมีพลังงานต่ำที่สุด สามารถทำให้เกิดผิวคล้ำ และผิวเสื่อมจากแดดเนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมากเช่นกัน ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันแสงอินฟราเรด ที่มีประสิทธิภาพนอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัส

       วิธีป้องกันแสงแดด
        
       1. กฎของเงา ป้องกันตัวเองจากแสงแดดโดยใช้วิธีกฎของเงา ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจนกว่าเงาจะยาวกว่าตัวของเรา คือ ช่วงเช้าก่อน 11.00 น. และช่วงเย็นหลัง 14.00 น. ซึ่งจะเป็นช่วงที่ปลอดภัย เพราะจะมีแสงยูวีบี (UVB) น้อย
       
       2. เสื้อผ้า เสื้อผ้าเนื้อแน่น สีเข้ม หนา จะป้องกันแสงทุกประเภทได้ประมาณ 90%
       
       3. ร่ม เนื้อผ้าของร่มส่วนใหญ่จะกันแสงแดดได้ดีประมาณ 80 - 90% ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันแดดของร่มขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และ ระยะห่างของร่มจากผู้ใช้ ถ้าร่มและตำแหน่งของดวงอาทิตย์ อยู่ เหนือศีรษะพอดีก็จะป้องกันได้ดีที่สุด แต่โลกมีการเคลื่อนที่ ดวงอาทิตย์จึงจะไม่อยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นร่มจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันประมาณ 70 - 80%
       
       4. หมวก หมวกปีกกว้าง เนื้อหนา สีเข้ม ก็จะป้องกันแสงได้มากที่สุด

      5. แว่นกันแดด การป้องกันแสงแดดด้วยแว่นตา ไม่จำเป็นต้องเป็นแว่นตาราคาแพง เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีแตกต่างกันไม่มาก จะแตกต่างเพียงสไตล์การออกแบบเท่านั้น ซึ่งแว่นตากันแดดที่ดีจะเป็นแว่นที่คาดมาถึงด้านข้าง (Wrap around) และมีการ์ดด้านบน เพื่อป้องกันแสงแดด การใช้แว่นกันแดดมีประโยชน์มาก หากแสงแดดมาจากด้านหน้า แว่นกันแดดจะปกป้องได้ดี แต่ถ้าหากแสงแดดมาจากด้านบน เช่น เวลาเที่ยงก็จะป้องกันได้น้อย เพราะแสงส่องผ่านมาจากขอบแว่นด้านบน ในเป็นชาวตะวันตก กระบอกตาจะลึกกว่าชาวเอเชียทำให้ได้แสงแดดน้อยกว่าชาวเอเชีย ที่มีเบ้าตาตื้น
       
       6. การทาครีมกันแดด ควรทาครีมกันแดดให้หนาสม่ำเสมอ เพราะผิวของมนุษย์ไม่เรียบ มีรอยหยักตื้นเป็นคลื่น ถ้าเราทาเพียงชั้นเดียวก็จะเหลือบริเวณที่ครีมกันแดดครอบคลุมไม่ถึง เพราะฉะนั้นจึงควรต้องทาครีมกันแดดบาง ๆ ทับกัน 2 รอบ และทาครีมกันแดดเฉพาะผิวหนังที่ไม่สามารถปกปิดได้ด้วยเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ หรือ หลังมือ เป็นต้น เพื่อลดความสิ้นเปลือง
       
       แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแสงแดดอยู่ทุกฤดูกาล แต่หากทุกคนรู้จักการป้องกันแสงแดดอย่างถูกวิธี และรู้วิธีการใช้สารกันแดดที่ถูกต้อง การเกิดผิวไหม้เสียก็จะน้อยลง และสิ่งสำคัญอีกประการ คือ แสงยูวีกระตุ้นให้ผิวหนังผลิตวิตามินดี ดังนั้น ผู้ที่ป้องกันผิวหนังจากแสงแดดเป็นประจำควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี หรือรับประทานวิตามินดีเสริมให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 600 IU ต่อวันเพื่อป้องกันปัญหากระดูกบาง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เคล็ดลับ สารกันแดด ถูกวิธี ป้องกันผิวเสีย

view