สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สบตา เนื้อทราย ไก่ฟ้าพญาลอ ที่..ทุ่งกะมัง (1) ป่าภูเขียว

จากประชาชาติธุรกิจ

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ : เรื่อง

นาฬิกาในตัวฉันบอกว่าได้เวลา ไปเที่ยวป่าแล้วนะตามเหตุผลนี้จริง ๆ ค่ะ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการความสงบ ความร่มครึ้มของสีเขียว ฉันจะรู้สึกราวกับเวลาที่ลงนัดไว้ในมือถือ ที่จะส่งเสียงกรุ๊งกริ๊ง ๆ เตือนว่าได้เวลาละ

หลังจากทั้งค้น ทั้งถาม ทั้งขอ (ความช่วยเหลือ) ฉันมาลงตัวที่ ชัยภูมิ เมืองป่างาม เพราะมีทั้ง อุทยานป่าหินงาม ที่ขึ้นชื่อ ทุ่งดอกกระเจียว หรือไป ดูดาวที่มอหินขาวแห่งชาติ แต่คราวนี้เลือกไปเยือน ทุ่งกะมัง อยู่ในที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ป่าหนึ่งในหลาย ๆ แห่งของชัยภูมิ

โปรแกรมสบาย ๆ ออกจากกรุงเทพฯ ตุหรัดตุเหร่ ไปเที่ยวเขาใหญ่เสียหนึ่งคืนเป็นการอุ่นเครื่อง แล้วตื่นเช้าหน่อยขับรถไปชัยภูมิ ผ่านเส้นทางด่านขุนทด เลาะไปตามทางหลวงหมายเลข 201 สีคิ้วตรงไปชัยภูมิ ราว ๆ 180 กม. แล้วไปผ่านบ้านด่านขุนทด ใจอยากจะแวะเข้าไปกราบ หลวงพ่อคูณ ศูนย์รวมใจคนโคราช แต่กลัวจะไม่ทันการเข้าป่า เลยได้แต่ยกมือบรรจบกระหม่อมรำลึกถึงท่านแทน

จากชัยภูมิ เราตรงไปชุมแพ ผ่าน-อำเภอคอนสาร ถึงปางม่วง ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่รอคอยแล้วค่ะ เพราะใกล้-ทุ่งกะมัง เต็มทีแล้ว ห่างแค่ 28 กม.เท่านั้น เรียกว่าจากกรุงเทพฯจนมาถึงภูเขียวก็นั่งรถนานพอควรนะคะ ระยะทางกรุงเทพฯ ช-ทุ่งกะมัง 560 กม. ไกลพอดู แต่ถ้าพอใจจะไปเที่ยว อะไร ๆ ก็ยอมทนได้เสมอค่ะ



เขตภูเขียวอยู่ข้างหน้า ทำฉันโล่งอกที่ผ่านพ้นวิวน่าเบื่อจากสองข้างเป็นทุ่งหญ้าหน้าแล้ง ที่เห็นแต่ทุ่งมันสำปะหลัง และไร่อ้อย ไม่มีสีเขียวของป่าใหญ่ริมทางให้ชื่นใจเลย จนตอนนั้นฉันใจแป้วอดหวาดไม่ได้ว่า แล้งอย่างนี้ ป่าภูเขียว จุดหมายของเรา จะเป็นยังไงก็ไม่รู้

แต่เชื่อไหมคะว่าพอเข้าเขตป่าภูเขียวเท่านั้น ภูมิทัศน์รอบตัวก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ป่าเขียวอยู่สุดลูกตา ความชุ่มชื้นยังเผื่อแผ่ไปถึงที่ท้องไร่ปลายนาตามเส้นทาง นี่เองอิทธิพลของป่า

เห็นชัด ๆ ว่าพอไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำให้รัก แล้งร้อนก็เข้ามาแทนที่ไปเลย ฉันมโนไปไกลถึงวันวานของจังหวัดชัยภูมิ ตามที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เล็ก ๆ ที่ใคร ๆ ก็เรียกว่า ป่าชัยภูมิ สมัยนั้นป่าคงแน่นทั้งสองข้างทาง ไม่ร้อนแล้งเหมือนตอนนี้ คิดแล้วหนักใจและเสียดายป่าเมืองไทยจริง ๆ ค่ะ



จุดหมายแรกของฉันที่ภูเขียวก็คือ แวะพักกินอาหารเที่ยงที่ เขื่อนจุฬาภรณ์ ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงมาทางใต้ของภูเขียว เขื่อนนี้บางทีเรียก เขื่อนน้ำพรมธารา เพราะมีลำน้ำพรมอยู่เหนือเขื่อน รถวิ่งไปตามถนนร่มรื่นสวย ต้นไม้ใหญ่ ๆ อ่างเก็บน้ำใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่ข้างหน้า สะอาด มีระเบียบ สมเป็นแหล่งพลังงานทางน้ำที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำชี มีบ้านพักเรียงรายสวยงามอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ จริง ๆ แล้วที่นี่ยังมีเรือให้นั่งชม พระตำหนัก ชมวิว และมีสวนป่าอนุรักษ์กว้างถึง 40 กว่าไร่ แต่เราไม่มีโอกาสได้แวะเลยค่ะ

ลมพัดมาจากริมอ่างเย็นฉ่ำผิว แม้แดดเต้นระยิบอยู่ข้างนอก ทุกอย่างดีเลิศหมด ยกเว้นพอไปนั่งที่ร้านอาหารริมเขื่อนแล้ว น้องคนขายบอกว่า วันนี้เมนูปลาไม่มี 555 เพราะที่เขื่อนจุฬาภรณ์นี้ เขาลือกันว่า เมนูอาหารปลาจากเขื่อนนั้นเด็ดนัก เพราะปลาสด ๆ จากอ่าง ไม่ว่าจะเป็นปลาบึกหรือปลานิลก็เถอะค่ะ แต่ไก่ทอดอร่อยนะคะ เรื่องเลยดำเนินมาว่าอุตส่าห์ปีนเขาสูงราว 1,000 เมตร เพื่อขึ้นมากินไก่ทอดอร่อย ส้มตำแซบ ผัดผักกรอบหอม และไข่เจียวหมูสับแทน (ฮา) แต่ยังไง ๆ ก็ยังรสเด็ดจนพุงกางละค่ะ



อิ่มสักพักได้เวลาเดินทางกันต่อ มาเข้าป่า ก็ต้องไปเริ่มหาข้อมูลจากที่ทำการของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ของป่าภูเขียวก่อนละค่ะ ห่างจากเขื่อนราว 3 กม.เท่านั้น ที่ทำการอยู่ข้างหน้ากลางป่าร่มรื่น ข้อมูลของเขตรักษาฯ ที่นี่ ทำเอาฉันตื่นเต้นที่จะได้ไปเจอป่าแปลก ที่พบได้ยากแบบนี้ เพราะเป็นป่าที่ผสมผสานกันทั้งป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสน ทั้งสนสองใบ สนสามใบ ขึ้นผสมกันอยู่กับต้นไม้ที่พบทั่วไปในแถบอีสาน ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ต้นเหียง ต้นก่อ ฯลฯ เนื่องจากที่ทำการมีความสูงถึงเกือบ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงทำให้เราพบป่าสนได้ และเนื่องจากระดับความสูงระดับนี้เอง ทำให้มีอากาศกำลังเย็นสบายอุณหภูมิราว 25 องศาเซลเซียส และในหน้าฝนความชื้นจะสูงมาก ทำให้มีหมอก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดป่าที่เรียกว่า ป่าดงดิบเขา คือจะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นสูงทึบ และมีมอส ตะไคร่ ไลเคนส์เกาะที่ไม้ใหญ่ จึงที่ภูเขียวนี้ นอกจากจะเป็นป่าเต็งรังผสมป่าดิบเขา ผสมป่าสนแล้ว ยังเป็นป่าที่ให้บรรยากาศ ของป่าดึกดำบรรพ์อีกด้วย

เขาบอกว่าถือเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่ามากมายในแถบอีสาน และติด 1 ใน 5 ป่าสมบูรณ์ของเมืองไทยเลยทีเดียว จะเป็นข้อมูลในอดีตหรือเปล่านะ ฉันแอบถามตัวเอง

เราโชคดีที่เจ้าหน้าที่กำลังจะเข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลที่โป่งพอดี โป่งนี้เป็นโป่งธรรมชาติที่เป็นที่ชุมนุมสัตว์มากินแร่ธาตุต่าง ๆ และ เกลือ จากดินที่นี่ พวกสัตว์เขาจะรู้กันเองค่ะว่าที่ไหน เหมาะจะเป็นโป่ง ให้เขาได้



โป่งดินข้าง ๆ แอ่งหนองน้ำใหญ่ตื้น ๆ อยู่ข้างหน้า จะเห็น รอยเท้าสัตว์ ประทับไว้ที่ดินโคลนรอบ ๆ เต็มไปหมด ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นที่นิยมของสัตว์มากเพียงใด โดยดูจากจำนวนชนิดรอยเท้าสัตว์นี่เอง บางรอยยังดูใหม่มาก ทั้งรอยเท้าของช้าง เก้ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า กระทิง ฯลฯ ฉันรู้สึกเลยว่าบรรยากาศของป่าจริงล้อมรอบตัวแล้วค่ะตอนนี้

ที่นี่จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตามสำรวจดูด้วยว่ามีสัตว์ชุกชุมไหม ชนิดใดบ้างในป่าผืนนี้ ที่แน่ ๆ คือ เขาบอกกับฉันว่าไม่เห็นรอยเท้า กระซู่ มานานมากแล้ว ตอนนี้เจ้าหน้าที่เขาก็ลุ้นกันอยู่ตลอดนะคะ เวลาไปสำรวจที่โป่งสัตว์ ว่าเมื่อป่าฟื้นขึ้นบ้างแล้ว จะมีโอกาสเจอรอยเท้ากระซู่อีกไหม

กระซู่ 3 ตัวสุดท้ายของภูเขียว คงถูกพรานป่าล่าไปตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ตามข่าวหนังสือพิมพ์ คนที่มีใจลงทุนลำบากมาทำเรื่องขนาดนี้ในป่าลึกได้นั้น เขาไม่ได้เพียงแต่ใช้ชีวิตเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกที่แม้จะเป็นเพียงสัตว์ก็เถอะค่ะ แต่เขายังขาดจิตสำนึกที่จะรักษาสมบัติสาธารณะไว้ให้ลูกหลานอีกด้วย คิดอย่างนี้ฉันก็หมดคำพูดที่จะกล่าวแล้ว กรณีกระซู่ไม่เหมือนกับกรณีของไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าพญาลอ และเนื้อทราย ที่เรายับยั้งการสูญพันธุ์ไว้ทัน ตอนนี้เพาะเลี้ยงและปล่อยเนื้อทรายกลับคืนที่ป่าทุ่งกะมังได้ราว 200 ตัวเชียวค่ะ

บทเรียนที่ไม่มีกระซู่ตัวเป็น ๆ ให้เห็นอีกต่อไปแล้วนี้ ราคาแพงนะคะ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สบตา เนื้อทราย ไก่ฟ้าพญาลอ ทุ่งกะมัง ป่าภูเขียว

view