สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สินค้าจีนไม่ใช่ ถูกและห่วย แล้ว เมดอินไชน่า มาดใหม่ คุณภาพล้ำ-ละเอียดประณีต

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       คริสเตียนไซแอนซ์มอนิเตอร์/เอเจนซีส์ - หมดยุคของถูกด้อยคุณภาพ สินค้า “เมด อิน ไชน่า” ที่ทั้งคงทนและประณีตยิ่งขึ้น กำลังสร้างปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วเอเชีย คู่แข่งต่างแดน อาทิ ไต้หวัน ที่เคยดูแคลนผู้ผลิตแดนมังกร ต้องเปลี่ยนความคิดครั้งใหญ่ บางรายถึงขั้นขวนขวายขอเป็นพันธมิตร
       
       สินค้าราคาถูกของจีนที่ขึ้นชื่อมายาวนานเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือโทรศัพท์มือถือ มาบัดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทนทานพอๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในญี่ปุ่น และละเอียดประณีตเทียบเท่าผลิตภัณฑ์จากฮับไฮเทคน้องใหม่อย่างไต้หวัน
       
       เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นผ่องถ่ายตัวเองจากผู้ผลิตของเล่นในทศวรรษ 1960 มาเป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตรถที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและคอน ซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ในทศวรรษ 1980 จีนขณะนี้ก็กำลังเร่งอุดช่องโหว่ด้านคุณภาพของตัวเอง และเขี้ยวเล็บใหม่นี้กำลังส่งผลไปทั่วระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัตของเอเชีย
       
       จอห์น เยน เจ้าของเอ็นเดฟร์ บริษัทผลิตแฟลชไดรฟ์และการ์ดจัดเก็บข้อมูลในไทเป ยอมรับว่า หมดยุคที่บริษัทไต้หวันสามารถเอาชนะผู้เล่นจีนในด้านคุณภาพอย่างง่ายดายแล้ว เนื่องจากบริษัทจากแผ่นดินใหญ่ในขณะนี้มีทรัพยากรและกำลังคนมากกว่า มิหนำซ้ำยังมีตลาดใหญ่กว่า
       
       แอนดริว ไต้ นักเศรษฐศาสตร์ของเคจีไอ ซีเคียวริตี้ส์ในไทเป ขานรับว่า แบรนด์จีนเป็นที่รู้จักและมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้แบรนด์ไต้หวันมีส่วนแบ่งตลาดลดลง
       
       เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้คือความกดดันใหญ่หลวงในหมู่ผู้ผลิตจีน ที่ต้องแข่งขันในตลาดส่งออกควบคู่ไปกับการดึงดูดลูกค้าภายในประเทศ
       
       นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจัยส่งเสริมสำคัญที่สุดในการปรับปรุงคุณภาพคือการเรียนรู้จากภายนอก โดยบริษัทจีนมีพัฒนาการจากการทำวิศวกรรมย้อนกลับและการคัดลอกเครื่องจักรของ ต่างชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นผ่านโครงการร่วมทุนกับบริษัทต่างแดน และนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์
       
       ตัวอย่างเช่นกาแลนซ์ ผู้ผลิตเตาไมโครเวฟรายใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ซื้อพิมพ์เขียวผลิตภัณฑ์มาจากญี่ปุ่นในปี 1990 และเริ่มต้นการผลิต ไม่นานเขาโน้มน้าวให้แบรนด์ต่างชาติมาขึ้นสายการผลิตในโรงงานกาแลนซ์เพื่อ อาศัยข้อได้เปรียบจากแรงงานราคาถูกในจีน ทำให้วิศวกรของบริษัทสามารถเรียนรู้กลวิธีของต่างชาติ แล้วจัดแจงคัดลอก และไม่นานก็สามารถรับจ้างผลิตเตาไมโครเวฟให้แบรนด์ต่างชาติ
       
       นอกจากนั้น การถ่ายโอนเทคโนโลยียังมักเป็นภาระหน้าที่ในโครงการร่วมทุน ตัวอย่างเช่นรัฐบาลจีนยืนกรานว่า ผู้ผลิตโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เช่น เวสติ้งเฮาส์ หรืออิเล็กตริซิเต เดอ ฟรองซ์ ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนกับสัญญาโครงการในจีน และจากนั้นวิศวกรก็นำเทคโนโลยีที่ได้รับมาเป็นพื้นฐานให้แก่เทคโนโลยีของตน เอง กระทั่งวันนี้จีนสามารถขายโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ให้อังกฤษสำเร็จ
       
       ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือการที่คนงานในโรงงานของจีนทุกระดับมีการ เดินหน้าปรับปรุงทักษะต่อเนื่อง โรเจอร์ ลี บอสใหญ่ของของทีเอแอล กรุ๊ป ผู้ผลิตสิ่งทอจากฮ่องกง ระบุว่า พนักงานและผู้จัดการในโรงงาน 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจีน มีความรู้ดีกว่าและเรียนรู้ได้เร็วกว่าพนักงานโรงงานของทีเอแอลในมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
       
       เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก จีนเริ่มส่งออกขณะที่ตลาดในประเทศยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่หลังจากตลาดโลกเรียกร้องต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ โรงงานในแดนมังกรจึงต้องยกระดับตัวเองเพื่อให้เหนือกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินเดียที่แรกเริ่มเดิมทีเน้นผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศเป็นหลัก
       
       ขณะเดียวกัน มูลค่าการลงทุนนอกประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากไม่กี่พันล้านดอลลาร์ในปี 2006 เป็น 102,900 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
       
       เจ้า เซียนเต๋อ ศาสตราจารย์จากไชน่า ยุโรป อินเตอร์เนชันแนล บิสเนส สกูลในเซี่ยงไฮ้บอกว่า ขณะนี้ไม่มีใครสนใจแล้วว่า เป็นแบรนด์จีนหรือแบรนด์ต่างชาติ เนื่องจากมันก็ผลิตในจีนด้วยกันทั้งนั้น และคุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันจนสังเกตได้แล้ว
       
       นักธุรกิจไต้หวันขณะนี้จึงต้องหนีไปหาตลาดเฉพาะทาง หรือหาทางร่วมมือกับผู้เล่นจีน ซึ่งอาจหมายถึงการเน้นหนักระบบคลาวด์หรือชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์หายากในจีนมาก ขึ้น
       
       ที่เกาหลีใต้ แมคคินซีย์ แอนด์ โค. บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ แนะนำในรายงานข้อมูลเชิงลึกปี 2010 ว่า ถึงเวลาแล้วที่เกาหลีใต้จะทบทวนชุดความคิดและคิดถึงการสร้างความสัมพันธ์ เชิงความร่วมมือกับจีนอย่างเท่าเทียม แทนที่จะมองจีนเป็นหุ้นส่วนที่ด้อยกว่า
       
       การรักษาตำแหน่งผู้นำเหนือจีน เป็นการแข่งขันที่ไม่มีวันจบสิ้นสำหรับทีมเคม แมทีเรียลส์ ผู้ผลิตไต้หวันที่ใช้เวลาตลอด 8 ปีที่ผ่านมาพัฒนาฟิล์มบางพิเศษสำหรับโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ผลิตในจีน ซึ่งมีราคาเพียง 1 ใน 5 ของราคาของคู่แข่งที่สูสีที่สุดในญี่ปุ่น
       
       ทีมเคมจับมือกับผู้รับเหมาสัญญาในจีน และรับรู้ได้ทันทีว่า โรงงานจีนช่วยปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท
       
       ท็อด์ เยห์ ประธานบริหารทีมเคมทิ้งท้ายว่า บริษัทไต้หวันทั่วไปมักคิดว่าตัวเองเหนือกว่าบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สำหรับเขาไม่คิดแบบนั้น และยังยอมรับว่า ในบางเรื่องจีนแซงหน้าไต้หวันไปแล้ว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สินค้าจีน ไม่ใช่ ถูกและห่วย เมดอินไชน่า มาดใหม่ คุณภาพล้ำ ละเอียดประณีต

view