สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สังฆราช ของแผ่นดิน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

หนังสือพระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ภายใต้ชื่อว่า “บวรธรรมบพิตร” จำนวน 5 หมื่นเล่ม ที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนในงานพระอิสริยยศ พระโกศพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ 16 ธ.ค. 2558 ภายใต้การจัดทำของคณะกองบรรณาธิการ ประกอบด้วย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม

เนื้อหา หนังสือบอกเล่าถึงพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่พระองค์เสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ ในปี 2499 เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง)

ตอน หนึ่งของหนังสือระบุไว้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีโอกาสได้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2499 เวลานั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชประสงค์จะทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนามาช้า นานแล้ว ต้นปีนั้น สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนิยมนับถือด้วยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการส่วนพระองค์มากได้ประชวรลง พระอาการเป็นที่วิตกทั่วไปจนแทบไม่มีหวัง

แต่ ด้วยเดชะพระบารมี ก็ได้หายประชวรอย่างอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมฟังพระอาการหลายครั้ง ทรงพระดำริว่า ถ้าได้ทรงพระผนวชด้วยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะและศรัทธาในองค์ สมเด็จพระสังฆราช จึงทรงตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 22 ต.ค. 2499

จาก นั้น เมื่อทรงพระผนวชแล้วเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราช สู่วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างทรงพระผนวชประทับที่ปั้นหยาตามแบบธรรมเนียมในพระราชวงศ์ จนกระทั่งลาพระผนวชเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2499 ทรงอยู่ในภิกขุภาวะ 15 วันตามกำหนด

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เคยประทานสัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเรื่องสองธรรมราชา ว่า “ได้ มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงพระผนวชตามพระราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า ‘หัวใหม่’ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ...

ตัวอย่าง เช่น เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในและนอกวัด ไม่ทรงสวมฉลองพระบาท เสด็จฯ ไปด้วยพระบาทเปล่าทุกหนแห่ง ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ทรงรักษาเวลา เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ทุกเช้าเย็น เวลา 08.00 น. และเวลา 17.00 น. ก็จะเสด็จลงโบสถ์ทันที”

ด้วย ฐานะที่ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งที่ทรงพระผนวช ทำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่ได้ทรงรับหน้าที่ถวายพระธรรมเทศนาแด่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า “พระมงคลวิเสสกถา” ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาพิเศษที่พระมหาเถระจะได้ถวายในพระราชพิธีเฉลิมพระ ชนมพรรษา

ไม่ เพียงแต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในการปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีสำคัญๆ เท่านั้น หากแต่โดยส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงมีความผูกพันใกล้ชิด และเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ดังสังเกตเห็นได้บ่อยครั้งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล หรือเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระกุศลในวาระสำคัญต่างๆ ที่วัดบวรนิเวศวิหารอยู่เนืองๆ

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยิ่งนัก ในเวลาที่ทรงปลีกพระองค์ได้จากพระราชกิจที่มีมากมายมหาศาล มักจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงสนทนาธรรมและบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์อยู่เสมอ

เรื่อง หนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้ใดได้ทราบนัก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังแถบบันทึกเสียงการบรรยายธรรมต่างๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อยู่เสมอ และหากทรงทราบว่าผู้ใดกำลังศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ ก็จะพระราชทานสำเนาแถบบันทึกเสียงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แก่ผู้นั้น

พร้อม ทั้งทรงแนะวิธีการฟังด้วย เช่น มีผู้หนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ รับสั่งเป็นช่วงๆ ฟังไม่สนุก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า อย่าคิดไปก่อนว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร ถ้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย เมื่อผู้นั้นนำไปปฏิบัติตามก็พบว่า สำเนาแถบเสียงนั้นเป็นธรรมบรรยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเจ้าพระคุณ สมเด็จฯ

ธรรม บรรยายของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ บางเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับศึกษาแล้วทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ถอดความออกมาเป็นหนังสือ พร้อมทั้งทรงตรวจทานต้นฉบับด้วยพระองค์เอง แล้วพระราชทานเพื่อให้จัดพิมพ์เผยแพร่ คือเรื่อง สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

พร้อม ทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดพิมพ์ ด้วยทรงเห็นว่าธรรมบรรยายนี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาของประชาชน ทั่วไป จึงสมควรได้เผยแพร่ให้กว้างขวาง

เมื่อบรมบพิตรทรงสนทนาธรรมกับบวรธรรมบพิตร

บาง ส่วนจากบันทึกด้วยลายพระหัตถ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ทรงบันทึกเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน เป็นการส่วนพระองค์มาทรงสนทนาธรรม ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2504

ทั้งนี้ ขอคัดลอกมานำเสนอเพียงบางส่วน ดังนี้

การปฏิบัติพระองค์

ความที่รับสั่ง : การปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะเป็นการยากต้องทำสองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งต้องให้มีภาคภูมิ อีกอย่างหนึ่งต้องให้สุภาพ มิให้เป็นหยิ่ง หรือที่เรียกกันว่าเบ่ง และในสมัยประชาธิปไตย ก็ต้องให้เหมาะสมเข้ากันได้กับประชาชน

ทูล : ตามที่ได้ฟัง ได้ยินแต่เสียงชื่นชมในพระบารมี

รับสั่ง : ต้องคอยสังเกตเป็นบทเรียนและแก้ไขเรื่อยมา เมื่อคราวเสด็จภาคอีสาน วันหนึ่งเหนื่อยมาก หน้าบึ้ง กลับที่พักแล้วนึกขึ้นได้ว่าราษฎรได้มีโอกาสเห็นเราเพียงครั้งเดียว ให้เขาเห็นหน้าบึ้งไม่ดี ต่อจากนั้น ถึงจะเหนื่อยมาก ก็ต้องพยายามไม่ทำหน้าบึ้ง ต้องทำชื่นบาน”

การทำสมาธิ

ความที่รับสั่ง : ทำสมาธิอย่างไร

ทูล : คือทำใจให้ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว จะทำอะไรทุกๆ อย่าง ต้องมีใจเป็นสมาธิ ในทางปฏิบัติ จึงต้องใช้สมาธิทั้งนั้น แต่มักมีคนเข้าใจว่า ทำสมาธิต้องนั่งหลับตา

รับสั่ง : นั่นทำพิธี ทรงรู้สึกว่า เวลาทรงปฏิบัติราชกิจ ต้องทรงสำรวมพระราชหฤทัย เช่น คราวพระราชทานกระบี่นายร้อย เพียงหยิบให้ ถ้าไม่สำรวมใจมีผิด สำรวมใจอยู่ ก็ทำไม่ผิด”

พระเครื่อง

ความที่รับสั่ง : พระเครื่องคุ้มกันได้จริงไหม คุ้มกันได้เพราะใจเชื่อมั่นว่ามีพระเครื่องอยู่กับตัวหรืออย่างไร

ทูล : เป็นเครื่องทำให้ใจเชื่อมั่น

รับสั่ง : ถ้าใจเชื่อมั่นแล้ว ก็ไม่จำเป็นหรือ

ทูล : ไม่จำเป็น แต่ก็มีเชื่อกันว่า พระเครื่องให้อยู่คงจริงก็มี คือผู้ที่มีอยู่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม หรือมิได้คำนึงถึงแต่พระเครื่องก็คงคุ้มกัน คนที่ไม่เชื่อก็มี

รับสั่ง : ก็เชื่อ มีคนให้ รับมาไว้ที่พระองค์ เขาก็ยินดี แต่วันนี้ไม่ได้ติดมา”

เวลาจะเสด็จฯ กลับ

รับสั่ง : จะกลับ

ทูล : จะถวายอดิเรกก่อน”


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : สังฆราช ของแผ่นดิน

view